พนักงานควาญช้างของปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันเก็บขยะตามลำน้ำแม่สา และริมตลิ่งในบริเวณปางช้าง เป็นระยะทางยาวลงมาได้ปริมาณขยะที่ไหลมาตามลำน้ำค่อนข้างมาก มีทั้งขวดพลาสติก รวมถึงขยะที่เป็นอันตรายต่อคนและช้าง
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2566 เวลา 18.00 น. นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สาได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อวันที่ 19-20 มกราคม 2566 พนักงานควาญช้างของปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ประมาณสิบกว่าคนได้ร่วมกันเก็บขยะตามลำน้ำแม่สา และริมตลิ่งในบริเวณปางช้าง เป็นระยะทางยาวลงมาได้ปริมาณขยะที่ไหลมาตามลำน้ำค่อนข้างมาก มีทั้งขวดพลาสติก รวมถึงขยะที่เป็นอันตรายต่อคนและช้าง เช่นสังกะสีเก่าๆ ที่เป็นสนิม เศษแก้ว ซึ่งอาจทำให้ช้างเกิดบาดแผลได้ เมื่อต้องลงไปในลำน้ำแม่สา
สำหรับกิจกรรมการเก็บขยะในลำน้ำแม่สา พนักงานได้ทำเป็นประจำ เนื่องจากมีชุมชนอยู่เหนือน้ำ ทำให้มีขยะหลุดลอยมา บางครั้งสิ่งที่เก็บขึ้นมาได้มี พวกถังน้ำ ขวดแก้ว และกระป๋องเครื่องดื่มต่างๆ หากช้างไปเหยียบเข้าก็จะเป็นแผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผลที่ฝ่าเท้าช้างจะใช้เวลานานกว่าจะหาย เพราะช้างมีน้ำหนักตัวมาก เวลาเคลื่อนไหวต้องลงน้ำหนักไปที่เท้าทั้งสี่ข้าง ผู้บริหารปางช้างแม่สาจึงวอนขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่ทิ้งขยะลงในลำน้ำรวมถึงแม่น้ำลำคลองทุกแห่งด้วย
ส่วนการท่องเที่ยวปางช้างในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมามากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นคนไทย มีชาวยุโรป ชาวเอเชีย เป็นเกาหลี และจีนบ้าง ทั้งนี้ปางช้างแม่สาได้เริ่มเก็บค่าบำรุงปางช้าง ชาวต่างชาติ คนละ 300 บาท ได้รับตะกร้าอาหารช้าง 1 ตะกร้า นำไปป้อนให้ช้าง และในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 จะเริ่มเก็บค่าบำรุงจากนักท่องเที่ยวชาวไทย คนละ 100 บาท โดยจะได้รับตะกร้าอาหารช้างคนละ 1 ตะกร้าเช่นกัน สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบ และผู้สูงอายุเกิน 60 ปี เข้าชมช้างฟรี นางอัญชลีกล่าวอีกว่าการเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวมาใช้เลี้ยงช้างก็เพื่อเป็นการอนุรักษ์ช้างไทย และรักษาแหล่งท่องเที่ยวเก่าแก่อย่างปางช้างแม่สาเอาไว้