ข่าวทั่วไทย » (คลิป)เชียงใหม่ โครงการหลวงเตรียมรับมือภัยแล้ง ช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย

(คลิป)เชียงใหม่ โครงการหลวงเตรียมรับมือภัยแล้ง ช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย

18 พฤษภาคม 2020
594   0

Spread the love

โครงการหลวงเตรียมรับมือภัยแล้ง ช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย

จากความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่ของโครงการหลวง ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ชุมชนขาดน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และทำการเกษตร รวมทั้งทำให้เกิดไฟไหม้ในพื้นที่มากขึ้น เนื่องจากความชื้นลดลง จากการสำรวจในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 พบว่ามีเกษตรกร จำนวน 176 ชุมชน ในเขต 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา และตาก ได้ลงทะเบียนเพื่อขอความช่วยเหลือแล้วจำนวน 2,390 ราย ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน หนึ่งในพื้นที่โครงการหลวง ที่ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี ทำให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอและคนเมือง จำนวนกว่า 160 ราย เกิดความเดือดร้อน

นายมนูญ รักษาชล หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม กล่าวว่า ภาพรวมของภัยแล้งในปีนี้ค่อนข้างรุนแรง เริ่มมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แผนการผลิตพืชผัก เช่น คะน้า มะระหยก ที่เป็นผลผลิตหลักของศูนย์ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เกษตรกรเคยปลูกได้ตามแผน แต่ปีนี้ต้องหยุดชะงักชั่วคราว พื้นที่เก็บน้ำที่เป็นบ่อดิน และบ่อซีเมนต์ของเกษตรกร ไม่มีน้ำพอให้นำออกมาใช้ในแปลง
-นอกจากพืชผักไม่ได้ปริมาณตามแผนแล้ว คุณภาพก็มีส่วนสำคัญ เพราะการขาดน้ำ อากาศที่แล้งจัด ทำพืชผักไม่ได้คุณภาพ ส่วนการเพาะกล้าผักที่ทางศูนย์ทำไว้ในโรงเรือนก็ไม่ได้ส่งมอบให้เกษตรกร เพราะนำไปปลูกไม่ได้ เสียหายไปเป็นจำนวนมาก แหล่งน้ำธรรมชาติของที่นี่ถือเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญมาก เกษตรกรต้องอาศัยสูบน้ำจากอ่างน้ำ โดยใช้เครื่องสูบน้ำขึ้นมาใช้ในแปลงผัก อ่างเก็บน้ำหลักที่นี่มีอยู่สามแห่ง ได้แก่ อ่างแม่ลอง อ่างแม่ปุ๊ และอ่างห้วยต้ม ซึ่งเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เริ่มมีฝนตกจากพายุฤดูร้อน เกษตรกรจึงเริ่มออกไถที่เพื่อเตรียมดินปลูกพืช คาดว่าหลังเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป สถานการณ์น้ำในพื้นที่จะดีขึ้นเกษตรกรจะกลับมาทำกิจกรรมในแปลงปลูกต่อไป

นางจีรภา กิติกุล เกษตรกรบ้านมะล้อ หมู่ 2 ต.แม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน หนึ่งในเกษตรกรดีเด่นของศูนย์ เล่าว่า ตนปลูกมะเขือม่วงส่งให้กับโครงการหลวงพระบาทห้วยต้มมาห้าปีแล้ว แต่พอมาปีนี้น้ำในบ่อแห้ง ปริมาณผลผลิตน้อย ตั้งแต่ต้นปีมาจึงไม่ได้ส่งให้โครงการหลวง เหลือไว้เพื่อขายในหมู่บ้าน มีรายได้เพียงเล็กน้อย น้ำในบ่อที่เคยสูบไว้ยังพอมีอยู่บ้าง จึงได้แค่ประคองต้นไม่ให้เน่าตาย ช่วงนี้ยังคงดูแลแปลงและสวนของตัวเองเพื่อรอให้ฝนตกจะได้มีน้ำใช้ และจะได้เริ่มปลูกผักส่งให้โครงการหลวง

ในการเตรียมแผนการช่วยเหลือแก่เกษตรกร ขณะนี้โครงการหลวงจึงร่วมกับ สวพส. จัดสรรงบประมาณเร่งด่วน ทยอยช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ การขุดลอกและสร้างฝายอ่างกักเก็บน้ำในชุมชน 45 ชุมชน 23 ศูนย์ แล้วเสร็จคิดเป็นร้อยละ 64.28 จัดหาวัสดุจากแหล่งธรรมชาติมาใช้ในชุมชนเพื่อการฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำลำธาร สนับสนุนท่อส่งน้ำเข้าสู่แปลงเพาะปลูกผัก ไม้ผล ดอกไม้ และเห็ด รวมทั้งสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ระบบน้ำแบบประหยัดเพื่อผลิตผักในฤดูแล้ง ซึ่งโครงการความช่วยเหลือนี้จะดำเนินให้แล้วเสร็จภายในกรกฎาคมนี้