รมว.ทส. ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ประชุมรับฟังสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางไปยังศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า) ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมมอบนโยบายและแนวทางในการดำเนินงานในระยะต่อไป มีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงฯ และเจ้าหน้าที่เข้ารับมอบนโยบายโดยมี มีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) นายสมหวัง เรืองนิวัติศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายเกรียงศักดิ์ถนอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) นายศักดิ์ชัย จงกิจวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า และเจ้าหน้าที่ในสังกัดร่วมรับมอบนโยบายอย่างพร้อมเพรียงกัน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าการเดินทางมาครั้งนี้เพื่อเป็นการมอบนโนบายและสร้างความกำลังใจให้เจ้าหน้าที่และรับฟังประเมินสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันไฟป่าโดยถึงแม้ว่าขณะนี้จะลดจุดความร้อนไปร้อยละ 50 แล้ว แต่ความพยายามและการทำงานของภาคราชการทุกๆฝ่ายยังตรึงกำลังกันอย่างเข้มงวดเพราะว่าขณะนี้ถือว่ายังไม่พ้นช่วงวิกฤตถือว่าเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงจนกว่าจะเข้าหน้าฝนเต็มตัวเราถึงจะวางใจได้ดังนั้นการทำงานตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมาของทุกๆหน่วยๆ
วันนี้เราจะยืนยันที่จะตรึงกำลังเข้มงวดกวดขันในทุกๆพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดใดในพื้นที่ภาคเหนือเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มั่นใจว่าจุดความร้อนที่ได้ลดลงไปนั้นจะลดลงไปยิ่งกว่าเดิมอีก พร้อมกันนี้ทางภาคราชการเราก็ได้ให้ความสำคัญในการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขอความร่วมมือในการลดจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งกระทบต่อปัญหาหมอกควันในภาคเหนือของเรา
สำหรับสถานการณ์ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พบว่ามีการลดลงของจุดความร้อน (hotspot) ในพื้นที่ป่า ให้ได้ 20%จากปีที่ผ่านมา โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และกรมป่าไม้ดำเนินการในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ นโยบายโครงการชิงเก็บเชื้อเพลิงในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า 17 จังหวัดภาคเหนือ โครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า โครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งการดำเนินงานของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ร่วมกับฝ่ายปกครอง และหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ พบว่าในปีนี้ พบจำนวนจุดความร้อน (hotspot) สะสมในพื้นที่ป่า 58,318 จุด ซึ่งลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 51 โดยมีค่า PM2.5 สูงสุด 402 มคก./ลบ.ม. จำนวนวันที่ค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 91 วัน
ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการเตรียมความพร้อมกำลังพล เจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ เครื่องมือ/อุปกรณ์ ในการปฏิบัติงานดับไฟป่า แรงผลักดันของ ทส. ในการบูรณาการความร่วมมือกับ ทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงาน ในการขับเคลื่อนให้เกิดการประชุม มอบนโยบาย เร่งรัด แนวทางการดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละระดับพื้นที่ รวมทั้งการได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบด้วย โครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟสร้างรายได้ชุมชน และโครงการพัฒนาป่าไม้สร้างงานสร้างรายได้ เพื่อกระตุ้นเศษฐกิจชุมชน
สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไปนั้น จะเน้นการดำเนินงานแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งกำลังของ ทส. ร่วมกับฝ่ายปกครอง กองทัพ ให้เกิดการดับไฟป่าอย่างรวดเร็ว และเพิ่มความเข้มข้นของการลาดตระเวน ให้มีการจัดระเบียบการเผาในพื้นที่ทำกินในเขตพื้นที่ป่า หรือรอบพื้นที่ป่า การทำแนวกันไฟและแนวเฝ้าระวัง การใช้เทคโนโลยี รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่ต้องฟื้นฟูป่า หรือพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ จะต้องกำหนดแนวทางและทำแผนให้แล้วเสร็จ ภายใน 15 พฤษภาคม 2564
นอกจากนี้ จะต้องมีการถอดบทเรียน (After Action Review: AAR) โดยจะต้องกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปปรับแผนและปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในปีถัดไปการมุ่งเน้นการดำเนินการ ตามนโยบาย ทส2+4 ของ รมว.ทส. ถือเป็นแรงผลักดัน และแรงขับเคลื่อนที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้การดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในปี 2564 ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าฤดูกาลไฟป่าและหมอกควันจะยังไม่หมดไป แต่สถานการณ์และผลการดำเนินงานที่สามารถลดจำนวนจุดความร้อนในพื้นที่ ได้มากกว่า 50% ได้บ่งชี้ถึงความสำเร็จของการร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ และเครือข่ายจิตอาสาทุกภาคส่วนที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบาย ทส2+4 ไปสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม