ข่าวทั่วไทย » พิษณุโลก แพทย์ทหารแนะนำ “6 ขั้นตอนการช่วยคนหมดสติให้ฟื้นคืนชีพ

พิษณุโลก แพทย์ทหารแนะนำ “6 ขั้นตอนการช่วยคนหมดสติให้ฟื้นคืนชีพ

6 มกราคม 2022
1345   0

Spread the love

แพทย์ทหารแนะนำ “6 ขั้นตอนการช่วยคนหมดสติให้ฟื้นคืนชีพ (CPR : Cardiopulmonary Resuscitation)”

จะทำอย่างไรเมื่อเจอคนหมดสติ จะโทรศัพท์เรียกเบอร์ไหนเพื่อขอความช่วยเหลือ? หากจำเป็นต้องช่วยทำ CPR จะทำได้ไหม? คำถามเหล่านี้คงผุดขึ้นมากมาย หากเจออุบัติเหตุหรือคนหมดสติอยู่ข้างหน้าคุณ จะดีกว่าไหมถ้าเรามีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง ถูกวิธี ทำให้ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยรอดชีวิต ลดการบาดเจ็บได้ ดังนั้นตั้งสติให้พร้อมแล้วมาเรียนรู้วิธีช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED ไปพร้อมๆ กันได้เลย

1. ปลุก : เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ อย่าเพิ่งตกใจ ให้ประเมินความปลอดภัยของสถานที่เกิดเหตุก่อนเป็นอันดับแรก โดยตรวจดูบริเวณรอบๆ ก่อนเข้าไปช่วยเหลือ เช่น สายไฟฟ้าที่ช็อตอยู่จุดใด บริเวณนั้นใกล้แหล่งน้ำหรือไม่ มีรถสัญจรหรือเปล่า จะได้ไม่เกิดอันตรายซ้ำ หลังจากนั้นให้ปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยการตบไหล่ทั้งสองข้างและเรียกเสียงดังๆ ว่า “คุณค่ะๆ” หรือ “คุณครับๆ” หากไม่รู้สึกตัวและไม่หายใจ ให้รีบทำตามขั้นตอนต่อไปโดยทันที ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวและหายใจเองได้ ให้จับตัวผู้ป่วยให้อยู่ในท่านอนตะแคง และทำการปฐมพยาบาลตามอาการที่เจอซึ่งจะกล่าวในภายหลัง
2. โทร : รีบโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 โดยแจ้งอาการผู้ป่วย สถานที่เกิดเหตุ ชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของผู้แจ้ง เพื่อให้เจ้าเหน้าที่ติดต่อกลับหากที่หาที่เกิดเหตุไม่เจอ รวมถึงแจ้งรายละเอียดของผู้ป่วย เช่น อาการ สถานที่ที่พบ เส้นทางที่เดินทางมาได้สะดวก หากอยู่เพียงลำพัง อย่าทิ้งผู้ป่วยไปไหน ให้เปิดลำโพงโทรศัพท์ เพื่อสื่อสารและรับฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กู้ชีพ หากอยู่หลายคนให้ผู้อื่นเป็นคนโทร.แจ้ง หากแถวนั้นไม่มีเครื่อง AED ให้แจ้งเจ้าหน้าที่นำเครื่อง AED มาด้วย
ตัวอย่างการแจ้งเหตุทางโทรศัพท์ : พบผู้ป่วยหมดสติไม่หายใจ เป็นผู้ชายอายุประมาณ 50 ปี ที่ป้ายรถเมล์หน้าโรงเรียนเอบีซี ผมผู้พบเหตุ ชื่อนายสมชาย เบอร์ติดต่อ 081-XXX-XXXX และให้ นำเครื่อง AED มาด้วย

3. ปั๊ม : การกดหน้าอกสามารถช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้น ขณะที่รอหน่วยปฏิบัติการกู้ชีพ โดยให้คุกเข่าบริเวณข้างลำตัวผู้ป่วยในระดับไหล่ จัดท่าผู้ป่วยนอนหงาย เพื่อเปิดทางเดินหายใจโดยการ ดันหน้าผาก – ดึงคางขึ้น และตรวจสอบการหายใจโดยการเอียงหูฟังแนบที่จมูกผู้ป่วย จากนั้นให้เริ่มช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ด้วยการกดหน้าอก โดยวางสันมือข้างที่ถนัดตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100 – 120 ครั้งต่อนาที ข้อแนะนำ : หากมีโอกาสได้เรียนให้พยายามซ้อมทำบ่อยๆ เวลาทำจริงเราจะทำได้ด้วยความแรงและน้ำหนักที่ถูกต้อง
4. แปะ : ขณะที่ทำ CPR (กดหน้าอก) เมื่อเครื่อง AED มาถึง ให้ผู้ช่วยเหลืออีกคนหนึ่งเตรียมเครื่อง AED โดยการถอดเสื้อผู้ป่วยออก และติดแผ่นนำไฟฟ้าทั้ง 2 แผ่นบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวาและชายโครงด้านซ้าย โดยให้ทำความสะอาดจุดที่แปะแผ่น เช่น หากผู้ป่วยตัวเปียกจะต้องเช็ดให้แห้งก่อนหรือหากมีขนเยอะก็ให้โกนขนออกก่อน

5. ช็อก : เปิดเครื่อง AED และปฏิบัติตามคำแนะนำจากเครื่อง จนเมื่อเครื่องสั่งให้ทำการช็อก ให้พูดเสียงดังๆ ว่า “ฉันถอย คุณถอย ทุกคนถอย” เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครสัมผัสกับผู้ป่วยก่อนกดปุ่มช็อกไฟฟ้า แต่หากเครื่องไม่สั่งช็อก ให้ทำการกดหน้าอกต่อไปจนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง คำเตือน : ก่อนกดปุ่มช็อกต้องมั่นใจว่าไม่มีใครสัมผัสตัวผู้ป่วยรวมถึงมีสื่อไฟฟ้าต่างๆ
6. ส่ง : ระหว่างที่รอรถพยาบาลมารับ หากผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัวให้ทำการปั๊มหัวใจและปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่อง AED ไปจนกว่าผู้ป่วยจะหายใจหรือรถพยาบาลจะมา หลังจากรถพยาบาลมาก็ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพเพื่อนำส่งโรงพยาบาล เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอดและปลอดภัย

ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และแพทย์ทหาร จึงมีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงมีข้อแนะนำดังกล่าว ซึ่งหากเกิดเหตุฉุกเฉินแล้วทำได้ตามขั้นตอนทั้ง 6 ข้อนี้ โดยไม่ตื่นเต้นตกใจ เพื่อที่จะสามารถช่วยผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น