ข่าวทั่วไทย » เชียงใหม่ “พด”.ชูเมืองพร้าวโมเดลแก้ปัญหาชะล้างพังทลายของดิน วางเป้าลดการชะล้างพังทลายของดินทั่วประเทศปีละ 1 ล้านไร่(คลิป)

เชียงใหม่ “พด”.ชูเมืองพร้าวโมเดลแก้ปัญหาชะล้างพังทลายของดิน วางเป้าลดการชะล้างพังทลายของดินทั่วประเทศปีละ 1 ล้านไร่(คลิป)

17 มีนาคม 2025
227   0

Spread the love

“พด.” ชูเมืองพร้าวพื้นที่ต้นแบบแก้ปัญหา “ชะล้างพังทลายของดิน” ด้วย “ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ” พร้อมหนุนเป็นโมเดลต้นแบบการในแก้ปัญหาขยายผลไปยังพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ วางเป้าลดการชะล้างพังทลายของดิน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในภาคการเกษตรทั่วประเทศ 1 ล้านไร่ต่อปี


(16 มี.ค.68) ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 ร่วมกับสำนักวิศวกรรมเพื่อการพัฒนาที่ดินและสถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ ลงพื้นที่ ต.เขื่อนผาก อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ติดตามความคืบหน้าโครงการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟูพื้นที่เกษตรกรรมด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ
โดยพื้นที่ตำบลเขื่อนผาก อำเภอพร้าว เป็นพื้นที่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในแก้ปัญหาชะล้างพังทลายของดินด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำและพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมด้วยการบริหารจัดการน้ำ เกิดประโยชน์แก่พื้นที่ชลประทานรวมทั้งสิ้น 435,700 ไร่ และ ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรและอุปโภคบริโภคในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น จึงได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการจัดทำแผนแม่บทในลุ่มน้ำแม่งัดฝั่งตะวันตก อันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่รับน้ำฝนของอ่างเก็บน้ำแม่งัดในเขตอำเภอพร้าว มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน มีนโยบายเร่งขับเคลื่อนโครงการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรม

ด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาชะล้างพังทลายของดินและอนุรักษ์ดินและน้ำและปรับโครงสร้างพื้นฐานของดินในแต่พื้นที่ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืช ตลอดจนช่วยรักษาระบบนิเวศดินให้เกิดการใช้ที่ดินได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งยังช่วยพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีการสูญเสียดินเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้ (มากกว่า 2 ตันต่อไร่ต่อปี) ร้อยละ 24.38 ของพื้นที่ประเทศ และมีระดับการชะล้างรุนแรงถึงรุนแรงมากที่สุด ร้อยละ 10.02 ของเนื้อที่ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่ลาดชันสูงจาก สถานการณ์ดังกล่าวหากไม่เร่งแก้ไขจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมของประเทศในอนาคตได้


กรมพัฒนาที่ดินมีภารกิจสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทรัพยากรดินด้วยการพัฒนาที่ดินและอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยเร่งรัดแผนงานให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่ได้กำหนดเป้าหมายลดการชะล้างพังทลายของดินทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 20 ล้านไร่ภายใน 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) หรือประมาณ 1 ล้านไร่ต่อปี ซึ่งปัจจุบันหลายพื้นที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้คุ้มค่ามากขึ้น ลดการสูญเสียหน้าดินที่เป็นประโยชน์ต่อการผลิตภาคการเกษตร และเก็บรักษาความชุ่มชื้นให้กับดินได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในภาคการเกษตร ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเหมาะสมตรงตามศักยภาพของพื้นที่ และยังช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และเพิ่มรายได้ในครัวเรือนให้กับเกษตรกรอีกด้วย จากผลสำเร็จของโครงการนี้ จะนำไปเป็นโมเดลต้นแบบการแก้ปัญหาการ ชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศในอนาคต


ด้านนายนายนิลภัทร คงพ่วง ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ กล่าวว่า การดำเนินการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ พื้นที่ต้นน้ำ ปรับพื้นที่ทำขั้นบันไดดินแบบต่อเนื่อง เพื่อปลูกพืช // พื้นที่กลางน้ำ จัดทำทำบ่อดักตะกอนดิน ทางลำเลียงและขุดลอกลำห้วย และ พื้นที่ปลายน้ำ ปรับรูปแปลงนา ให้เป็นผืนใหญ่และราบเรียบ รวมถึงระบบส่งน้ำด้วยโซล่าเซลล์ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปลูกพืชจากพืชไร่เป็นไม้ผล พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


ปัจจุบันอำเภอพร้าว ประมาณร้อยละ 98 ประกอบอาชีพทางการเกษตร มีพื้นที่ทั้งหมด 798,308 ไร่ ทำการเกษตร 157,856 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 17.77 พืชเศรษฐกิจหลักสำคัญของอำเภอพร้าว ได้แก่ ข้าว มะม่วง และ ลำไย การขับเคลื่อนโครงการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำของกรมพัฒนาที่ดิน สร้างประโยชน์ให้กับกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเป็นพื้นที่ต้นแบบแหล่งเรียนรู้การป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต่อไป