ผลการขุดค้นทางโบราณคดี ประตูช้างเผือกเชียงใหม่ ของกรมศิลปากร เจอแนวกำแพง ประตูเมืองเก่า และพบโบราณวัตถุจำพวกภาชนะดินเผา หลายยุค โดยผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี ชี้ว่างานโบราณคดี จะมีคำตอบได้ว่า พื้นที่ใดเป็นป้อมปราการหรือช่องประตูเมืองที่ใช้ในอดีต
สำนักศิลปากรที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ เร่งขุดผิวหน้าดิน บริเวณประตูช้างเผือก ตำบลศรีภูมิ ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อขุดค้นทางโบราณคดี ตามภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 อายุ 100 ปี ที่มีภาพถ่ายป้อมปราการ ซึ่งเชื่อมจากกำแพงเมืองประตูช้างเผือก ยื่นออกไปนอกคูเมือง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาการขุดค้น 190 วัน หรือจนถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ใช้งบประมาณ 1,410,000 บาท ของกรมศิลปากร
นางสาว นาฎยา ภูศรี ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่เผยว่า ขณะนี้ขุดค้นไปได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ พบแนวกำแพงเดิม เป็นก้อนอิฐขนาดใหญ่ และโบราณวัตถุที่เป็นเศษภาชนะดินเผาในหลายยุคหลายสมัย ซึ่งตามภาพถ่าย และเอกสารที่เป็นตำนาน สร้างในสมัยพญามังราย ยังยืนยันไม่ได้ ซึ่งตามภาพถ่าย ไม่เหมือนในยุคปัจจุบัน ซึ่งยังเป็นคูดินและคูน้ำ และมีการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุค จึงต้องมีการศึกษาทางโบราณคดี และต้องดูหลักฐานว่าจะออกมาเป็นอย่างไร จึงจะชี้ได้ว่าเป็นในยุคสมัยใด รวมทั้งแนวกำแพงที่ยื่นออกไปจากตัวกำแพง และช่องประตูที่เห็นประตูช้างเผือก อาจไม่ใช่ที่เห็นในปัจจุบัน คำตอบของงานโบราณคดี ก็จะตอบเราได้ บริเวณพื้นที่ของประตูช้างเผือก มีการใช้งานมาสมัยไหน แล้วก็แนวลักษณะของกำแพง และประตูเมือง ควรจะเป็นลักษณะแบบไหน หากมีความชัดเจน ก็จะมีการประกาศออกมาเป็นระยะให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อระดมความคิดเห็น กับเทศบาลนครเชียงใหม่ ชุมชน องค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะพัฒนาพื้นที่เป็นรูปแบบไหน