ข่าวสังคม-ธุรกิจ » (คลิป)เชียงใหม่ กก.กฎบัตรแห่งชาติ ระดมสมองพัฒนาเมืองเชียงใหม่ นำร่อง 3 สาขา

(คลิป)เชียงใหม่ กก.กฎบัตรแห่งชาติ ระดมสมองพัฒนาเมืองเชียงใหม่ นำร่อง 3 สาขา

16 มีนาคม 2020
1046   0

Spread the love

กก.กฎบัตรแห่งชาติ ระดมสมองพัฒนาเมืองเชียงใหม่ นำร่อง 3 สาขา ด้านอาหารปลอดภัย / SMART BLOCK /ขนส่งสีเขียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมารุต ศิริโก รองประธานคณะกรรมการกฎบัตรแห่งชาติ ได้ประชุมคณะกรรมการ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่องกฎบัตรเชียงใหม่ กับการพัฒนาเมือง 15 สาขา ที่สำนักงานชั่วคราวย่านนิมมานเหมินท์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วนพัฒนาเมืองเชียงใหม่แบบยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย นายภูวนารถ ยกฉวี คณะกรรมการกฎบัตรรัตนโกสินทร์ นายจิรกร สุวงศ์ กรรมการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะนักวิจัยกฎบัตรเชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่ โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง


ทั้งนี้ที่ประชุม ได้สรุปแนวทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ นำร่อง 3 สาขาประกอบด้วย ด้านเกษตรและอาหารปลอดภัย ด้านโครงการพัฒนาแฟลตฟอร์มประสิทธิภาพ การใช้พลังงานระดับย่าน (SMART BLOCK) และด้านขนส่งสีเขียว หรือระบบขนส่งมวลชนที่ปลอดมลภาวะ เบื้องต้นกำหนด แผนพัฒนาระยะ 3 ปี ในเขตเมืองเก่า หรือรอบคูเมืองเชียงใหม่ รัศมี 2.5ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่แรก

เป้าหมายสาขาเกษตรและอาหารปลอดภัย ปีแรก คือ พัฒนา SMART FARM นำร่อง 20 แห่ง จากผู้สนใจร่วมโครงการ 50 แห่ง เพื่อยกระดับการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ และมีมาตรฐาน อาทิ ข้าว กาแฟ โคนม ไก่พันธุ์และดอกไม้ โดยลดการใช้สารเคมี และลดต้นทุนผลิต 20-30 % ซึ่งราคาสินค้าดังกล่าวต้องต่ำกว่าราคาท้องตลาด ทั้งนี้เป้าหมายภายใน 10 ปี ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ต้องมีพื้นที่อาหารปลอดภัยอย่างน้อย 40 % โดยมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ คณะทำงานกฎบัตรเชียงใหม่ เป็นผู้ออกแบบ SMART FARM พร้อมเป็นที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว ซึ่งผู้ร่วมโครงการไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างใด ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ได้รับงบสนับสนุน 5 ล้านบาท

ส่วนสาขา SMART BLOCK มุ่งพัฒนาเมืองเชิงสร้างสรรค์ ใช้พื้นที่สา ธารณะให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลักโดยบูรณาการทำงานร่วมกับส่วนราชการ ส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชน และเครือข่ายภาคี อาทิ ปรับฟื้นฟูโครงการถนน คนเดินสายพระปกเกล้า ให้รักษาอัตลักษณ์ท้องถิ่นและวิถีชีวิตชุมชน โดยมี งบสนับสนุนอีก 3 ล้านบาท สำหรับสาขาขนส่งสีเขียว หรือระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ เน้นการเชื่อมโยงเครือข่ายขนส่ง โดยระบบแอฟพริเคชั่น พร้อม พัฒนาระบบชนส่งของรถรับจ้างสี่ล้อแดง ของสหกรณ์เดินรถนครลานนาจำกัดด้วย

นายฐาปนา สรุปภาพรวมว่า ได้ตั้งคณะทำงานกฎบัตรระดับจังหวัด นำร่อง 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ อุดรธานี นครสวรรค์ สระบุรี ระยอง ภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพหรือความพร้อมดำเนินโครงการ ซึ่งการพัฒนาขึ้นอยู่กับบริบทแต่ละพื้นที่ การพัฒนาอาจไม่เหมือนกัน มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการสร้างงานและรายได้สู่ท้องถิ่นเป็นหลัก ที่สำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย