ข่าวทั่วไทย » เชียงใหม่ ปางช้างแม่สานำช้างแสนรู้มานวดข้าวปีที่ 2 เลี้ยงช้างเพื่อสู้พิษโควิด-19 เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจท่องเที่ยว

เชียงใหม่ ปางช้างแม่สานำช้างแสนรู้มานวดข้าวปีที่ 2 เลี้ยงช้างเพื่อสู้พิษโควิด-19 เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจท่องเที่ยว

28 พฤศจิกายน 2021
351   0

Spread the love

ปางช้างแม่สานำ ช้าง 11 เชือก นวดข้าว ปีที่ 2 เลี้ยงช้าง สู้พิษโควิด-19 ดึงนักท่องเที่ยวฟื้นฟูเศรษฐกิจท่องเที่ยวภาคเหนือ

นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารและเจ้าของปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นำช้างในปางช้างแม่สา ร่วมกับควาญช้าง นำช้างจำนวน 11 เชือกมานวดข้าว แยกไว้ส่วนหนึ่งสำหรับช้าง และพนักงานในปางช้างก็นวดข้าวพร้อมกันด้วย ก็แยกไว้อีกส่วนหนึ่ง หลังจากที่พนักงานในปางช้างและควาญช้างได้รวมกันเกี่ยวข้าวที่ปลูกในปางช้างไว้ประมาณ 10 ไร่แล้ว ซึ่งข้าวดังกล่าวทั้งหมดจะนำไปเลี้ยงช้างจำนวน 70 เชือกในปางช้างแม่สา และยังนำข้าวดังกล่าวไปเลี้ยงพนักงานในปางช้างแม่สาทั้งหมดด้วย

ผู้บริหารและเจ้าของปางช้างแม่สา เล่าให้ฟังว่า สำหรับ ปางช้างแม่สา ก่อตั้งโดยนายชูชาติ กัลมาพิจิตร ผู้เป็นพ่อของตน ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 รวมเป็นระยะเวลา 45 ปีจนถึงปัจจุบัน โดยมีนางอัญชลี กัลมาพิจิตร ทายาทคนโตเข้ามาบริหารงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัท ปางช้างแม่สา จำกัด ด้วยความที่บริษัทฯเป็นเจ้าของช้างเองทุกเชือก จึงทำให้การบริหารงานปางช้างแม่สาเป็นการบริหารแบบเอกชน 100%

ก่อนหน้าที่จะมีปัญหาโรคไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นนั้น ปางช้างแม่สาเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในอันดับต้นๆของประเทศไทย เคยได้รับมาตรฐานปางช้างประเทศไทยเป็นแห่งแรกจากกรมปศุสัตว์ และเคยได้รับมาตรฐานไอเอสโอ 2001 เวอร์ชั่น 2000 เป็นแห่งแรกของโลก รวมถึงเคยโด่งดังจากการบันทึกสถิติโลกกินเนสเวิลด์เรคคอร์ดในเรื่องรูปวาดโดยฝีมือช้างที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ( 1.5 ล้านบาท ) โดยที่ผ่านมากว่า 40 ปี ปางช้างแม่สาได้มีการแสดงช้างถึงวันละ 3 รอบ รวมถึงมีบริการการนั่งบนแหย่งช้าง และอื่นๆอีก เคยสร้างรายได้มหาศาลจากการหลั่งไหลเข้าชมปางช้างของนักท่องเที่ยวในแต่ละวัน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทำให้ปางช้างมีรายได้เพียงพอต่อการประกอบกิจการปางช้างและการเลี้ยงดูช้างจำนวนทั้งหมด

แต่ในปัจจุบันเราได้ลดขนาดองค์กรลงจนเหลือพนักงานทั้งหมดแค่ 108 คน (จาก 330 คน) แต่เรายังคงมีจำนวนช้างที่ต้องเลี้ยงมากถึง 70 เชือก และเรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่สูงถึงประมาณ 2.5 ล้านบาท แม้ว่าจะลดขนาดลงอย่างเต็มที่แล้วการบริหารงานในช่วงที่มีการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นเวลาประมาณสองปีนั้น เราต้องใช้เงินของบริษัทฯไปจนหมด และยังต้องกู้เงินธนาคารมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมแล้วกว่า 50 ล้านบาท เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูช้างด้วยหญ้าสดวันละ 9-10 ตันทุกวัน รวมถึงอาหารเสริม ประเภทข้าวเหนียวนึ่ง อาหารเม็ดของซีพี ผลไม้ กล้วยอ้อย ยาสมุนไพร ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน, คนเลี้ยงช้าง(ควาญช้าง) และนายสัตวแพทย์ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆของบริษัทฯอีกมากมาย

ผลกระทบของโรคไวรัสโควิด -19 ทำให้ปางช้างแม่สาต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของปางช้างใหม่เป็นแบบนิวนอมอล เพื่อป้องกันการระบาดของโรค โดยได้ประกาศยกเลิกการแสดงช้าง รวมถึงยกเลิกการนั่งช้างบนแหย่งช้าง, การนั่งช้างทุกประเภทและหันมาเริ่มต้นปลดโซ่ช้าง ให้อิสรภาพช้าง เลี้ยงช้างแบบเข้าฝูง เลี้ยงช้างแบบมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ช้างมีเวลาและมีความสุขสบายมากขึ้น ในส่วนของสถานที่เราก็ลดขนาดของปางช้างลง และนโยบายที่สำคัญที่สุดของการบริหารงานแบบนิวนอมอล คือการเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมช้างฟรี ตามสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ และการขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้

ปัญหานี้เองที่ทำให้ปางช้างแม่สาต้องหันไปเน้นประชาสัมพันธ์ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มมากขึ้น การเข้าชมฟรี สร้างรายได้เป็นศูนย์ในเรื่องค่าเข้าชม ปางช้างแม่สามีรายได้เพียงการจำหน่ายตะกร้าผลไม้ กล้วยอ้อยในราคาตะกร้าละ 100 บาท ซึ่งก็ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่างๆในแต่ละเดือน จำนวน 2.5 ล้านบาท เราจึงต้องหาวิธีในการลดค่าให้จ่ายลงให้มากที่สุด และสิ่งที่เราค้นพบสิ่งหนึ่ง คือการแบ่งพื้นที่เลี้ยงช้างมาทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักเลี้ยงคน และปลูกข้าวเหนียวเลี้ยงช้าง

ปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ที่เราได้ “ทำนา ปลูกข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง” จำนวนกว่า 10 ไร่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีความปลอดภัยต่อช้างเลี้ยงของเรา และข้าวนั้นสามารถเก็บเกี่ยว นำไปนวด นำไปสีให้ได้ปริมาณข้าวเหนียว ที่นำไปนึ่งให้ช้างกินได้หลายเดือน ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้หลักแสนบาท โดยกิจกรรมที่โดดเด่นของเราคือการนำช้างมามีส่วนร่วมกับทีมงาน นับตั้งแต่เริ่มลงนาปลูกข้าว จนถึงวันที่จะทำการนวดข้าว เราให้ช้างที่ไม่มีงานทำ หรือช้างตกงานของเรา ได้ช่วยกันขนข้าวมายังลานนวด และในการนวด เรายังให้ช้างได้ย่ำไปบนข้าวเพื่อน้ำหนักตัวช้างจะกดลงไป ทำให้ข้าวหลุดจากรวงและร่วงลงสู่ด้านล่าง จากนั้นเราสามารถเก็บข้าวเปลือก นำไปตำ หรือนำไปสีต่อได้เพราะหนึ่งแรงช้างเท่ากับ 3 – 4 แรงควาย และวัตถุประสงค์ของกิจกรรมในวันนี้วันที่ 25 พ.ย.2564 คือการเล็งเห็นถึงสามัคคีของทั้งคนและช้าง ให้เห็นว่าช้างสามารถช่วยงานเราในส่วนที่เขาพอจะทำได้ และเกิดประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น ที่อำเภออมก๋อย เขาก็นำช้างไปช่วยไถนา ทำให้งานไถนานั้นเสร็จเร็วขึ้น

นางอัญชลีกล่าวอีกว่า “ช้างไทย” ในวันนี้ยังคงเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติ ที่ถูกผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และพิษของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ทำให้ “ช้าง” ทั่วประเทศพากันตกงาน ไม่มีรายได้ อยู่อย่างอดอยาก ป่วยมากขึ้น และล้มตายมากขึ้น เราอยากวอนให้รัฐบาลและคนไทยทุกคน หันมาให้ความสำคัญ เล็งเห็นถึงปัญหาและเข้าใจปัญหาของ “ช้าง” เหล่านั้น เราจะช่วยเหลือ “ช้าง” อย่างไรให้ “ช้างไทย” อยู่รอดไปได้นานที่สุด เราทุกคนควรหันหน้ามาร่วมกันแก้ไขและสานต่องาน “อนุรักษ์ช้างไทย” อย่างเป็นรูปธรรมไปด้วยกันให้เร็วที่สุด ในขณะที่ปัญหาการท่องเที่ยวยังไม่เสถียร และคงต้องใช้เวลาอีกนานมาก นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารและเจ้าของปางช้างแม่สา กล่าวในตอนท้าย