ตำรวจออกหมายเรียกครั้งที่2 คดีเงินปางช้างแม่สาหาย 117 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 นางอัญชลี กัลมาพิจิตร บุตรสาวนายชูชาติ กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สาได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าคดีเงินของบริษัทปางช้างแม่สาหายไปจากหลายบัญชีของบริษัทฯ รวมแล้วประมาณ 117 ล้านบาท ในช่วงปี 2562-2564 ทำให้บริษัทต้องประสบกับปัญหาด้านการเงินอย่างหนักในช่วงวิกฤตการโควิด-19 และหลังจากที่นายชูชาติได้เสียชีวิตลงแล้ว คดีนี้เป็นคดีที่ตนยื่นฟ้องต่อธนาคารเพื่อเรียกเงินคืน และยังแจ้งความดำเนินคดีอาญากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกด้วย
ในส่วนของพินัยกรรม ก็มีหลายรายการที่ทรัพย์สินหาย อย่างเช่น งาช้างและเครื่องประดับที่มีมูลค่าต่างๆ ซึ่งตนก็ได้แจ้งความไว้แล้วด้วยเช่นกัน การที่ไม่สามารถจัดการทรัพย์สินได้ในเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ตนพอจะทราบสาเหตุแล้วว่าเป็นเพราะทรัพย์สินถูกนำไปหรือหายไป หรือถูกลักขโมยไป และตนไม่ทราบมาก่อน จึงเกิดเป็นคดีความต่างๆมากมาย ส่วนหนึ่งคือเพื่อรั้งเรื่องนี้เอาไว้ แต่ตอนนี้ตำรวจบอกว่าได้ทำคดีทุกคดีคืบหน้าไปมากแล้ว อีกไม่นานคงจะสรุปคดีได้ มีการเรียกสอบผู้ต้องสงสัยหลายคน และหลายหน่วยงาน คดีนี้มีความซับซ้อน และผ่านไปแล้วถึง 4 ปี แต่ก็คงไม่พ้นความสามารถของผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ที่ต้องทำหน้าคืนความยุติธรรมให้แก่ตนและช้างของปางช้างแม่สา
สำหรับเรื่องคดีงาช้างหาย การตามหาคงไม่ยาก เนื่องจากมีการลงทะเบียนไว้ทุกชิ้นตามกฏหมาย หากมีการซื้อขายก็คงจะสืบได้ไม่ยากนัก สำหรับจำนวนงาช้างที่ถูกระบุไว้ในพินัยกรรมมี จำนวนมาก 122 กิ่ง (ชิ้น) แต่งาช้างที่เราได้พบในบ้านของบิดา คือ จำนวน 5-6 คู่ หรือไม่เกิน 12 กิ่งเท่านั้น ตนคิดว่าเรื่องของที่หาย ในคดีทุกคดีเชื่อมโยงกันหมด เพราะน่าจะเป็นทีมงานเดียวกันที่ลักขโมยเอาของไป ตอนนี้ตนลุ้นอยู่อย่างเดียวว่าทางตำรวจจะต้องหาผู้กระทำผิดมารับโทษให้ได้ และต้องคืนเงินรวมถึงทรัพย์สินที่มีค่าต่างๆให้กับบริษัทฯ หรือกองมรดกนายชูชาติ กัลมาพิจิตร
ส่วนการจัดการปางช้างในช่วงเดือนมกราคมปี 2566 เรามีรายได้เพิ่มขึ้น จากนักท่องเที่ยวชาวไทย เกาหลีและชาวต่างชาติทั้งยุโรปและอเมริกา ที่เดินทางมาชมช้าง ป้อนอาหารและทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้รายได้ของปางช้างแม่สาพอจะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะคนไทยนิยมมาเที่ยวที่ปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่กันมาก เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีมาอย่างยาวนานเกือบ 50 ปี หลายคนมีความคุ้นเคยกับช้างที่ปางช้างแม่สา เช่นแม่ทองศรี และน้องน้ำเพชร
ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด เราก็ได้คนในประเทศไทยที่คอยช่วยเหลือปางช้างมาตลอดทั้ง 4 ปี ส่วนปัญหาเร่งด่วนในขณะนี้คือเราหาหญ้าสดได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของช้างทั้ง 68 เชือก เนื่องจากเกิดภาวะแล้ง ซึ่งหลายพื้นที่ก็คงจะประสบปัญหาเดียวกัน ทำให้เราต้องเร่งหาปริมาณอาหารชนิดอื่นเข้ามาเสริม ซึ่งก็ยอมรับว่าไม่มีอะไรดีเท่าหญ้าสด การกินอาหารที่ไม่ถูกต้องในสัดส่วนที่ช้างต้องการก็อาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพช้าง ส่วนอาหารเสริมที่ตนคิดไว้แล้วว่าจะต้องสั่งซื้อทันทีคือหญ้าแพงโกล่าแห้ง ซึ่งก็ยังหายาก อยากให้รัฐบาลหันมาส่งเสริมอาหารสัตว์จำพวกหญ้าแห้งให้มากขึ้น เพราะสัตว์ในฟาร์มหลายชนิดก็กินหญ้าแห้ง ในการนำไปให้ช้างเราจะแช่น้ำให้หญ้าเขียวสดขึ้นมาก่อน แต่ถ้าไม่ทันจริงๆก็ต้องให้ไปตามสภาพที่แห้ง เพราะช้างเลี้ยงเราต้องการอาหารถึงวันละ 10 ตัน (10,000 กิโลกรัม) ภาระตรงนี้เราต้องพยายามทำให้ได้ดีที่สุดท่ามกลางภาวะอาหารขาดแคลน
นางอัญชลี กัลมาพิจิตรกล่าวเสริมว่างานเลี้ยงช้าง เป็นการอนุรักษ์ช้างไทยโดยตรง โปรดช่วยกันเพื่อให้ลูกหลานเราได้มีโอกาสพบเห็นและสัมผัสช้างไปให้ยาวนานที่สุด สมกับที่ช้างถูกประกาศให้เป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติไทย