สมาชิกวุฒิสภานำคณะกรรมการมูลนิธิอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ มูลนิธิข่วงพระเจ้าล้านนาเข้าพบกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่เพื่อหารือการนำรูปหล่อองค์ครูบาเจ้าศรีวิชัยพร้อมชุดประกาศเกียรติคุณไปประดิษฐานที่วัดในประเทศญี่ปุ่น เพื่อหนุนเสริมการเผยแพร่และประกาศเกียรติคุณองค์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
วันที่ 14 มีนาคม 2567 ดร.ปรีชา บัววิรัตน์เลิศ สมาชิกวุฒิสภาและดร.กิตติพัฒน์ สุวรรณชิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น จังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ และมูลนิธิข่วงพระเจ้าล้านนา เข้าพบนาย ฮิกุจิ เคอิจิ (Mr.HIGUCHI Keiichi) กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ ที่สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ในโอกาสเข้าพบคารวะเพื่อหารือเรื่องการเตรียมประกาศเกียรติคุณเพื่อการหนุนเสริมครูบาเจ้าศรีวิชัยให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก (ยูเนสโก) โดยมูลนิธิอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ มูลนิธิข่วงพระเจ้าล้านนา และคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนภาคเหนือ (ตอนบน) เตรียมจัดพิธีเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน 2567 ที่ วิหารหลวง หลวงปู่ โครงการฮิมมา เพรสทีจ ลิฟวิ่ง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อมอบรูปหล่อองค์พระครูบาเจ้าศรีวิชัยหน้าตักขนาด 30 นิ้ว 9 นิ้ว 5 นิ้ว พร้อมหนังสือสวดมนต์บทบารมี 30 ทัศ และหนังสือพระไตรปิฎก ให้กับคณะธรรมทูตและตัวแทนประเทศไทยนำไปประดิษฐาน ในบางประเทศในแถบเอเซีย ยุโรป อเมริกาและออสเตรเลีย
ดร.ปรีชา บัววิรัตน์เลิศ สมาชิกวุฒิสภาเปิดเผยว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยมีบทบาทสำคัญในการสืบสานพระพุทธศาสนา โดยในอดีตท่านได้ร่วมกับทางราชการและและประชาชนทำการบูรณะซ่อมแซมวัดในพื้นที่ภาคเหนือกว่า 300 วัด ส่งผลให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าเลื่อมใสในจริยวัตรและปฏิปทาของท่าน จึงมีโครงการเสนอครูบาเจ้าศรีวิชัยให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกขององค์การยูเนสโก ทางด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ โดยจะต้องยกร่างคำขอฉบับสมบูรณ์ต่อยูเนสโก ให้มีการประกาศและเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 150 ปีชาตกาลหรือวันเกิดครบ 150 ปีครูบาเจ้าศรีวิชัยในปี พ.ศ.2571 ในการนี้ มูลนิธิอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ มูลนิธิข่วงพระเจ้าล้านนา รวมทั้งคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนภาคเหนือ (ตอนบน) ได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการร่วมจัดสร้างองค์ครูบาเจ้าศรีวิชัยขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่บริเวณวัดดอยติ ในปีพุทธศักราช 2551 การจัดทำแผนแม่บทการเสนอชื่อครูบาเจ้าวิชัยให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก (ยูเนสโก) จนสามารถผลักดันให้เป็นแผนแม่บทของรัฐบาลในสมัยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี2566
นอกจากนี้เพื่อเป็นการหนุนเสริมการเสนอชื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก (ยูเนสโก) สอดคล้องตามองค์ประกอบคำขอการเสนอชื่อต่อองค์กรดังกล่าวเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ตลอดจนยกย่อง ประกาศเกียรติคุณครูบาเจ้าศรีวิชัยไปยังนานาอารยะประเทศ จึงกำหนดให้มีการจัดสร้างชุดประกาศเกียรติคุณครูบาเจ้าศรีวิชัยอันประกอบด้วย องค์รูปหล่อครูบาเจ้าศรีวิชัย ขนาดหน้าตัก ๓๐ นิ้ว ขนาด ๙ นิ้ว ขนาด ๕ นิ้วและเหรียญบูชาอีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงจัดทำเอกสารคำบูชาพระรัตนตรัย พระคาถาบารมี ๓๐ ทัศ เพื่อเผยแพร่ไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ของโลก ด้วยกระบวนการพระธรรมทูต ที่มีผู้แทนจากมูลนิธิอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ มูลนิธิข่วงพระเจ้าล้านนาและผู้ที่มีจิตศรัทธาประสานนำชุดประกาศเกียรติคุณฯ ไปประดิษฐานยังภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทยและนานาอารยะประเทศ
ที่ประเทศญี่ปุ่นได้รับการติดต่อที่จะนำองค์ครูบาเจ้าศรีวิชัยไปประดิษฐาน 2 วัดได้แก่ วัดพุทธรังษี โตเกียวและวัดป่าพุทธรังษี อิบารากิ โดยมี คุณวรัณญา วีนะกุล ,คุณวรรณวิมล เศวตสมภพ, และคุณเอกรัตน์-คุณวรพจน์ วงษ์แสงอรุณศรีทำหน้าที่เป็นธรรมทูตในการนำชุดประกาศเกียรติคุณฯไปเผยแพร่ คาดว่าจะนำไปประดิษฐานที่ประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567
โอกาสนี้ นาย ฮิกุจิ เคอิจิ (Mr.HIGUCHI Keiichi) กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ได้ให้ความสนใจการดำเนินงานดังกล่าวและกล่าวว่า การมาประจำที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ได้มีโอกาสไปวัดและได้สัมผัสกับวัฒนธรรม ประเพณีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาของไทย และยิ่งตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาของคนไทย เมื่อได้มีโอกาสเข้าสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่มาจากประเทศอินเดีย และคิดว่าในหลายๆประเทศน่าจะมีการสอนเรื่องพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะในโซนเอเชียและยุโรป ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปตามยุคสมัยแต่หลักๆน่าจะเกี่ยวข้องกัน ดังนั้นในการที่จะนำครูบาเจ้าศรีวิชัยไปประดิษฐานที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อประกาศเกียรติคุณครูบาเจ้าศรีวิชัยในครั้งนี้ คาดว่าจะเกิดการแลกเปลี่ยนทั้งในแง่ของศาสนาและวัฒนธรรมตลอดจนความเข้าใจของชาวพุทธที่อยู่ในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น
กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่กล่าวต่อว่า นอกจากสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่เรายังมีสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยอีก 1 แห่งซึ่งท่านเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยท่านใหม่เพิ่งย้ายมาจากประเทศฮังการี่ เป็นโอกาสอันดีที่จะนำเรื่องต่างๆเหล่านี้ส่งต่อให้ท่านเพื่อให้รับทราบถึงความสำคัญของการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ศาสนาในครั้งนี้