สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันฯ ห้วง 27 ธ.ค.64 – 2 ม.ค.65 พบจุดความร้อนสะสม จำนวน 376 จุด พื้นที่เกษตรสูงสุด 180 จุด โดย อ.แม่สอด จังหวัดตาก เริ่มมีค่า PM 10 เฉลี่ยสูง
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์การหีบอ้อยโรงงานหรือปริมาณการเผาอ้อยวันที่ 3 ม.ค.65 พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 533,132.730 ตัน เป็นอ้อยสด 533,882.940 ตัน คิดเป็น 98.88 % อ้อยไฟไหม้ 6,249.790 ตัน คิดเป็น 1.12 % ปัจจุบันสำนักงานเกษตรจังหวัดจัดโครงการรณรงค์ให้เกษตรกรยุคใหม่ร่วมใจหยุดเผา ด้วยการไถกลบทดแทนการเผาเพื่อให้โครงสร้างดินดี เพิ่มอินทรียวัตถุ เพิ่มผลผลิต และผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการเผา ที่สำคัญคือการทำการเกษตรปลอดการเผาเพื่อไร้ปัญหาสิ่งแวดล้อมพร้อมเป็นเมืองสีเขียว ซึ่งผู้ใดเผาเศษวัสดุการเกษตรหรือเผาในพื้นที่เกษตรกรรมมีความผิดตามมาตรา 220 วรรคหนึ่ง..ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
ขณะที่กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า ( บก.คฟป.ทภ.3 สน. ) ตรวจสอบภาพอากาศในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ห้วงวันที่ 27 ธ.ค.64 – 2 ม.ค.65 พบว่า ภาคเหนือ มีค่าPM 2.5 เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3 – 31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร , ค่า PM 10 ระหว่าง 10 – 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ ค่า AQI อยู่ระหว่าง 11 – 43 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยพื้นที่ที่มีค่า PM 10 เฉลี่ยสูงได้แก่ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จังหวัดตาก ทั้งนี้คุณภาพอากาศโดยรวมของภาคเหนืออยู่ในระดับ ดี
สำหรับจุดความร้อนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (ดาวเทียมระบบ VIIRS) ห้วงวันที่ 27 ธ.ค.64 – 2 ม.ค.65 พบเกิดจุดความร้อนสะสมจำนวน 376 จุด โดยพบพื้นที่เกษตร จำนวน 180 จุด โดยเฉพาะจังหวัดนครสวรรค์ , พื้นที่ป่าสงวน 87 จุด โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายและเขต สปก. จำนวน 58 จุด โดยเฉพาะจังหวัดกำแพงเพชร