ผู้จัดการมรดกร่วมปางช้างแม่สา ส่งเอกสารนัดหมายให้ไปร่วมโอนมรดกเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 กันยายน 65 โดยระบุว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ให้แก่บริษัท ปางช้างแม่สา จำกัด ตามพินัยกรรมของนายชูชาติ กัลมาพิจิตร อันประกอบด้วยอาคารพาณิชย์ และกรรมสิทธิ์ห้องชุด อาทิเช่น อาคารสำนักงานถนนท่าแพ, ห้องชุดในคอนโดมิเนียม ตำบลช้างคลาน และที่ดินพร้อมตึกแถว ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวได้พยายามสัมภาษณ์นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ในกรณีที่นางฐิติรัตน์ กัลมาพิจิตรได้ส่งเอกสารนัดหมายให้ไปร่วมโอนมรดกเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 กันยายน 65 โดยระบุว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ให้แก่บริษัท ปางช้างแม่สา จำกัด ตามพินัยกรรมของนายชูชาติ กัลมาพิจิตร อันประกอบด้วยอาคารพาณิชย์ และกรรมสิทธิ์ห้องชุด อาทิเช่น อาคารสำนักงานถนนท่าแพ, ห้องชุดในคอนโดมิเนียม ตำบลช้างคลาน และที่ดินพร้อมตึกแถว ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่
อนึ่งในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในวันที่ 29 กันยายนนี้ นางฐิติรัตน์ กัลมาพิจิตร ผู้จัดการมรดกร่วมได้แจ้งให้ นางอัญชลี กัลมาพิจิตร(ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมและกรรมการผู้จัดการบริษัท ปางช้างแม่สา จำกัด) ว่านางอัญชลีต้องเป็นผู้หาและจัดเตรียมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆไปชำระให้แก่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่เอง โดยอ้างว่านางอัญชลีเป็นประธานบริษัทและเป็นผู้บริหารปางช้างแม่สาที่มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งนางอัญชลีกล่าวว่าไม่เป็นความจริง อีกทั้งยังไม่มีเหตุอันควร เพราะในพินัยกรรมของนายชูชาติได้ระบุใว้ชัดเจนว่า” บรรดาค่าใช้จ่ายต่างๆในการจัดการมรดกตามพินัยกรรมให้ผู้มีหน้าที่เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านั้นจากกองมรดกของข้าพเจ้าเท่าที่ใช้จ่ายตามความเป็นจริงก่อนที่จะทำการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้รับพินัยกรรม” ดังนั้นผู้จัดการมรดกร่วมจึงควรที่จะต้องใช้เงินในกองมรดกเท่านั้นเพื่อการโอนทรัพย์สิน ทายาทจะได้ไม่ลำบาก
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการนัดโอนมรดกครั้งแรกที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาแม่ริม ก็ได้ล้มเหลวมาแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจากนางฐิติรัตน์ กัลมาพิจิตร ได้มีการตกลงที่จะเบิกเงินจากบัญชีของนายชูชาติ กัลมาพิจิตรจำนวนหนึ่งล้านบาทเพื่อให้นางอัญชลีนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตอำเภอแม่ริมให้กับบริษัท ปางช้างแม่สา จำกัด แต่ก็ได้สร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าตัวนางฐิติรัตน์เองก็จะขอเบิกเงินอีกหนึ่งล้านบาทด้วย เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายของตน โดยไม่ระบุรายการค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน ทำให้นางอัญชลีไม่ตกลงที่จะเบิกเงินจำนวนสองล้านบาทจากกองมรดก และเป็นเหตุให้นางอัญชลีไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่สามารถรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับปางช้างแม่สาได้
ส่วนในวันที่ 29 กันยายนนี้ นางอัญชลีพร้อมทนายความยังคงยืนยันว่าจะเดินทางไปตามนัด แม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่ได้รับการติดต่อถึงเรื่องการไปเบิกเงินร่วมกันที่ธนาคาร ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการโอนทรัพย์สิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่านางฐิติรัตน์ยังคงต้องการให้นางอัญชลีหาเงินไปเอง ในเรื่องนี้นางอัญชลีบอกว่าปางช้างแม่สาไม่มีเงิน จึงขอให้ผู้สื่อข่าวติดตามข่าวเรื่องนี้เพื่อนำเสนอกันต่อไป
“สำหรับกรณีมรดกปางช้างแม่สาที่มีปัญหากันมาตั้งแต่ปี 2562 และยังคงไม่สามารถจัดการทรัพย์สินได้จนถึงปัจจุบัน สร้างความเดือดร้อนให้ทั้งช้างจำนวน 68 เชือกและพนักงานทั้งหมดกว่าร้อยคนของปางช้างแม่สาอย่างแสนสาหัส” ในเรื่องนี้ตนเองได้แต่ภาวนาให้พ่อชูชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายได้ช่วยดลบันดาลให้มีทางออกโดยเร็วที่สุด นางอัญชลี กล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนที่จะจบการให้สัมภาษณ์