การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือททท. ชวนย้อนรอยหม้อปูรณฆฏะพื้นเมืองพร้อมเปิดตัวหมู่บ้านเหมืองกุง ชุมชนปั้นดินเก่าแก่กว่า 200 ปี ในงานนิทรรศการ “ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน บ้านเหมืองกุง” จัดขึ้นที่ลานวัดต้นแกว๋น อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ จนถึง 21 เมษายน 2566
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือททท รื้อฟื้นวัฒนธรรมการใช้หม้อดอกของชาวล้านนาหรือหม้อปูรณฆฏะ [ปูระนะคะตะ] โดยชุมชนบ้านเหมืองกุง ที่สืบสานการปั้นเครื่องปั้นดินเผา จากภูมิปัญญาท้องถิ่นมามากกว่า 200 ปีที่ลานวัดต้นเกว๋น ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายบุญส่ง คุ้มบุญ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกิจกรรม ภายใต้โครงการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทางการท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ทรัพย์สิน ททท. โดยร่วมมือกับชุมชนบ้านเหมืองกุง
ผศ. ฐาปกรณ์ เครือระยา ผู้ค้นคว้าเรื่องหม้อดอกหรือหม้อปูรณฆฏะ และวัฒนธรรมล้านนาและบริษัท เดอคัว จำกัด ร่วมกันส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นลวดลายเฉพาะ ถือเป็น DNA ของชุมชนบ้านเหมืองกุงที่สืบต่อกันมา ด้วยการพลิกฟื้นการทำผลิตภัณฑ์ “หม้อดอกหรือหม้อปูรณฆฏะ” ของชาวล้านนจากศิลปินช่างปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง ผู้ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการพลิกฟื้นวัฒนธรรมการใช้ “หม้อดอกหรือหม้อปูรณฆฏะ”ที่สูญหายให้กลับคืนมา ออกแบบให้มีความร่วมสมัย กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง โดยการนำไปถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล และความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่จะนำมาซึ่งความสุข เนื่องในโอกาสประเพณีปี๋ใหม่เมือง
นายบุญส่ง คุ้มบุญ กล่าวว่า การจัดงานนิทรรศการ “ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน บ้านเหมืองกุง” ในครั้งนี้ เป็นการประชาสัมพันธ์การสร้างสรรค์และพัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญา และวัฒนธรรม อันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน รวมถึงการบอกเล่า เรื่องราวความเป็นมาของชุนชนบ้านเหมืองกุงที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ผ่านการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ “หม้อดอก หรือหม้อปูรณฆฏะ” สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า และผลิตภัณฑ์ กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวพื้นที่เชียงใหม่ ก่อให้เกิดการกระจายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป