ข่าวทั่วไทย » เชียงใหม่ “อัญชลี” ผู้บริหารปางช้างแม่สาเปิดใจทุกสิ่ง “ไปต่อหรือพอแค่นี้”(คลิป)

เชียงใหม่ “อัญชลี” ผู้บริหารปางช้างแม่สาเปิดใจทุกสิ่ง “ไปต่อหรือพอแค่นี้”(คลิป)

16 กรกฎาคม 2023
351   0

Spread the love

“อัญชลี” ผู้บริหารปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม แถลงข่าวเปิดใจสถาการณ์ปางช้างแม่สา “ไปต่อหรือพอแค่นี้”

(15 กค.66)ที่ปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา พาคณะสื่อมวลชน เดินดูโดยรอบบริเวณ ปางช้างแม่สา พร้อมแถลงข่าวเปิดใจ สถานการณ์ของปางช้างทุกเรื่อง ซึ่งปางช้างแม่สา ยิ่งวันยิ่งนับถอยหลังเป็นวันและเป็นเดือน เพื่อรอวันปิดปางฯ ขาดเงินหมุนเวียน มรดกที่พ่อชูชาติ ทิ้งไว้หลายร้อยล้าน ให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกร่วมอีกคน แต่ตกลงกันไม่ได้ จนกระทั้งล่าสุด ที่ดินเลี้ยงช้าง ทาง จนท.ราชพัสดุ แจ้งให้จ่ายค่าเช่าที่คงค้างหลายแสนบาท ล่าสุดฟ้องเอาผิดมีผู้แอบเบิกเงินมรดก 117 ล้านบาท วอน ตร.เอาผิดผู้ร่วมกระบวนการทำผิด 6 คน ดำเนินคดีอาญา และแพ่ง รวมทั้งธนาคารด้วย

นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา เปิดเผยว่าที่ผ่านมาตนเองก็ได้พยายามอย่างที่สุดแล้วทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะรักษาปางช้างแม่สา ที่บิดาของตนเองคุณพ่อชูชาติ กัลมาพิจิตร ผู้ก่อตั้งปางช้างแม่สา ได้สร้างเอาไว้ ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เราประสบปัญหาสถานการณ์ โควิด19 จนทำให้ต้องปิดปางช้าง และปิดการแสดงช้างนานร่วม 4 ปี พอ สถานการณ์ปัญหาเรื่องโควิด 19 ลดลง และประเทศไทย ได้เปิดให้มีการผ่อนคลายในมาตรการต่างๆ จึงสามารถเปิดให้บริการปางช้างแม่สาได้ แต่เราก็ไม่สามารถจัดการแสดงช้างได้อย่างเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงที่ปิดปางช้างไปนั้น ทำให้ช้างห่างเหินกัน และควาญช้างที่ฝึกช้างก็ลาออกไปจำนวนหลายคน จึงต้องงดในส่วนการแสดงและให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมฟรี พร้อมกันนี้ ตนเอง มีแนวนโยบายที่จะผลักดันให้ปางช้างแม่สา ซึ่งเป็นปางช้างของเอกชนรายเดียว ที่พร้อมจะผลักดันให้เป็นมูลนิธิอนุรักษ์ ปางช้างแม่สา เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้เดินทางมาเที่ยวชมและสัมผัสช้าง ตามวิถี​ทางธรรมชาติให้ได้มากที่สุด พร้อมกับร่วมกัน สนับสนุนในส่วนเข้าร่วม ของโปรแกรม Elephant care ของทางปางช้างแม่สา ที่ได้จัดขึ้นเพื่อทดแทนในส่วนของการจัดแสดงโชว์ช้าง ในรูปแบบต่างๆที่ได้งดลงไป ซึ่งก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาร่วมโปรแกรม Elephant care พอสมควร แต่ในสภาวะปัจจุบัน รายได้ที่ทางปางช้างแม่สาหาได้ ก็ยังไม่พอกับรายจ่ายในแต่ละเดือน ที่ปางช้างแม่สา ต้องแบกรับภาระ ไม่ว่าจะเรื่องอาหารของช้าง รวมไปถึงบุคลากรที่ดูแลช้าง ด้วยในปัจจุบันมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย และในปัจจุ​บัน​นี้ยังไม่ได้จ่ายเงินเดือนให้กับบุคลากรของปางช้างแม่สา เป็นเวลารวม 2 เดือนแล้ว

โดยในวันนี้ที่ตนเองได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางร่วมตรวจสอบ​ดูบริเวณในส่วนต่างๆของปางช้างแม่สาไม่ว่าจะเป็นในส่วนของโครงการมูลนิธิอนุรักษ์ช้างไทยปางช้างแม่สา รวมไปถึงลานจัดให้อาหารช้าง ที่นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารช้าง ที่ได้รับตะกร้าอาหาร ผ่านทางเข้าประตูหรือจุดจำหน่ายบัตรเข้าเที่ยวชมปางช้างแม่สา เพื่อมาให้อาหารช้างในบริเวณนี้ พร้อมกับได้พาคณะสื่อมวลชนไปดูโรง ผลิตวัตถุดิบที่นำมาคัดแยกเพื่อนำไปใส่ในตะกร้าให้แก่นักท่องเที่ยวมามอบเป็นอาหารให้ช้าง ซึ่งต้องผ่านการคัดกรองและทำความสะอาดอย่างละเอียด เพื่อให้ปราศจากจากสารเคมี ก่อนที่จะนำไปบรรจุในตะกร้า เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้นำไปให้ช้างได้รับประทาน รวมไปถึงได้พาไปดูศูนย์พยาบาลที่คอยตรวจและดูแลช้างทุกเชือก ซึ่งยอมรับตรงๆว่า ในปัจจุ​บัน​สภาพอาคารต่างๆเหล่านั้น ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก ภายหลังจากที่ได้ปิดปางช้างแม่สาลงไปในช่วงระยะหนึ่งประกอบกับไม่มีรายได้พอที่จะเข้ามาพัฒนาดูแลซ่อมแซมได้อย่างเพียงพอ ซึ่งตนเองยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากการจัดการมรดกที่ไม่ลงตัว และยังมีปัญหาในการฟ้องร้องกัน ซึ่งตนเองใน ฐานะทายาทของปางช้างแม่สา ได้ต่อสู้ในด้านกฎหมายมา 5 ปีกว่าแล้วจนถึงปัจจุบัน​ ทำให้ไม่สามารถเบิกเงินในส่วนที่ ทางคุณพ่อชูชาติได้ทำพินัยกรรมมอบให้กับปางช้างแม่สาเอาไว้ เพื่อที่จะนำเงิน มาพัฒนาต่อยอดดูแลปางช้างแม่สาต่อไปได้

และในส่วนของเรื่องที่มีคนถามมาว่าทำไมถึงไม่จัดให้มีการแสดงช้างเพื่อหารายได้เพิ่มนั้น ตนเองได้โพสต์​คลิปชี้​แจงลงผ่านทางเพจของปางช้างแม่สา ถึง​เหตุผลที่ไม่สามารถจัดแสดงช้างในรูปแบบเก่าได้เพราะปัจจัยหลากหลายด้าน ร่วมไปถึง​ตนเองพยายามที่จะผลักดัน ปางช้างแม่สา ให้เป็นศูนย์​อนุรักษ์​ช้างไทย เพื่ออนุรักษ์​ช้างไทย ซึ่งปางช้างแม่สา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้จัดโชว์แสดงในรูปแบบเก่าแล้ว แต่ทางเราได้จัดโปรแกรม Elephant Care ที่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับช้างในรูปแบบใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำให้ช้าง, การทำอาหารให้ช้าง หรือการป้อนอาหารให้ช้างเป็นต้น จึงอยากเชิญชวน นักท่องเที่ยวมาเที่ยวและช่วยสนับสนุนการอนุรักษ์​ช้างของปางช้างแม่สา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบัตรเข้าชมช้าง โดยนักท่องเที่ยว​ชาวไทยในราคา 100 บาท พร้อมรับตะกร้าผลไม้สำหรับป้อนอาหารช้าง และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสามารถเข้าชมได้ในราคา 300 บาท รับตะกร้าผลไม้เพื่อป้อนอาหารช้างจำนวน 1 ตระกร้าเช่นกัน หรือสามารถเข้าร่วมโปรแกรม “Elephant Care” สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านทางเพจเฟสบุ๊ค​ปางช้างแม่สาได้

นางอัญชลีฯ ยังได้พาคณะสื่อมวลชนไปดู อุปกรณ์แหย่งนั่งช้างที่ชำรุดทรุดโทรมแทบทั้งหมดและอาคารที่ให้บริการให้นักท่องเที่ยวขึ้นหลังช้างก็ชำรุดทรุดโทรมเช่นกัน รวมไปถึงลานแสดงช้าง ก็แทบ ไม่สามารถจัดแสดงได้อีกต่อไป ซึ่งโดยรวมทั้งหมด ตนเองขอบอกตรงๆว่าแทบจะต้องทำใหม่ทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เงิน เป็นจำนวนมาก

นางอัญชลี ได้เปิดเผยต่อไปว่า ภายหลังจากที่ตนเองได้เข้ามาบริหาร พบว่ามีเงินที่อยู่ในธนาคารที่ใช้หมุนเวียนเลี้ยงช้าง ของบริษัทปางช้างแม่สาอยู่จำนวนหนึ่ง และเมื่อตรวจสอบพบว่ามีการเบิกเงินจำนวนนั้นออกไปเกือบหมดบัญชีที่มี 6 บัญชี จำนวนร้อยกว่าล้าน ตนในฐานะผู้จัดการมรดกจึงได้แจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่​ตำรวจเพื่อดำเนินคดี ซึ่งพบมีผู้ร่วมกระทำผิดจำนวน 6 คน มีทั้งคนที่เป็นทายาทและพนักงานฝ่ายการเงินของบริษัทปางช้างแม่สา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ธนาคาร ซึ่งทางตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาคนทั้งหมดไว้แล้ว ซึ่งตนก็รอให้ทางตำรวจได้ดำเนินการก่อน ส่วนในคดีอื่นทางศาลที่ฟ้องร้องกันอยู่ก็ยังรอ แต่ก็มีท่าทีจะยืดเยื้อออกไป ซึ่งมีทางทายาทต้องการให้มีการนำทรัพย์สินทั้งหมดมารวมกันและหารแบ่งกันในจำนวนทายาททั้งหมด แต่หากทำเช่นนั้นปางช้างแม่สา ที่มีการโอนทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ถูกระบุไว้ในพินัยกรรมไปให้จะอยู่อย่างไร เพราะว่าถ้าหากทุกคนยอมปฎิบัติตามพินัยกรรมที่ระบุไว้ก็ไม่มีปัญหา ช้างก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน

ทุกวันนี้ตนในฐานะเป็นผู้ดูแลช้างทั้งหมดอยู่ ต้องแบกรับภาระหนี้สินไว้ จำนวนมากในช่วงระยะเวลา 5 ปีแล้ว จนในวันนี้ตนยอมรับว่าแทบจะหมดหนทางที่จะบริหารปางช้างแม่สาให้อยู่รอดต่อไปได้ และไม่กี่วันมานี้ตนเองข่าวร้ายอีก คือปางช้างแม่สาได้รับเอกสารและประสานมาจากทางเจ้าหน้าที่ราชพัสดุ ทวงถามถึงค่าเช่าที่ในปางช้างจำนวน 31 ไร่ และอีก 200 ไร่ รวม 35 แปลงรอบๆปางช้าง ที่ต้องจ่าย ปีละ 6 แสนบาท ก็ยังค้างจ่าย รวมทั้งเงินเดือนพนักงาน ที่รวมค่าใช้จ่ายในปางช้างต่อเดือน เดือนละ 3 ล้านบาท แต่ปางช้างมีรายได้ประมาณเดือนละ 1.5 ล้านบาทเท่านั้น และยังได้รับข่าวร้ายอีกเรื่องหนึ่งคือมีหนังสือให้เร่งรัดในการโอนอาคารพาณิชย์​บริเวณประตูท่าแพ ที่ทางปางช้างแม่สาได้ ประกาศขายอาคารพาณิชย์ เพื่อนำเงินมาใช้หมุนเวียนในปางแม่สา โดยผู้ที่ซื้อได้วางมัดจำมาแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งตนเองก็ได้เอามาหมุนเวียนบริหารจัดการในปางช้างแม่สา แต่ยังติดปัญหาในเรื่องของการโอนอาคารพาณิชย์ ​ซึ่งมีปัญหา​ในเรื่องของผู้จัดการมรดกร่วมไม่ให้ความร่วมมือไปดำเนินการ​โอนอาคารพาณิชย์​ ซึ่งตนเองพึ่งได้รับเอกสารในการเร่งรัดการโอนเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา และที่ตนเองด้วยเดินทางมาในวันนี้เพื่อพาสื่อมวลชนดูสถานที่ต่างๆในปางช้างแม่สา รวมถึงพูดคุยเพื่อให้รับทราบถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับปางช้างแม่สา ซึ่งตนเองได้ทำในสิ่งตนเองต้องทำมาตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปี ทำมาหมดแล้วไม่ว่าจะเป็นการหาแหล่งเงินมาจากที่อื่น รวมไปถึงการแปลงทรัพย์สินเพื่อที่จะนำมาต่อยอดประคับประคองและบริหารปางช้างแม่สา ที่คุณพ่อของตนสร้างขึ้นมา ตนเองในฐานะลูกสาวทายาทรุ่นที่ 2 ของปางช้างแม่สา และที่มาพูดคุยในวันนี้ไม่ใช่ว่าเรา “สิ้นหวัง” หรือไม่มีหวัง “เรามีหวัง” ในการที่จะพึ่งคนอื่นหรือพึ่งสังคม หรือพึ่งเจ้าหน้าที่ที่เขามีอำนาจ ในการสั่งการให้เรา ที่เราสามารถจะจัดการในสิ่งต่างๆเหล่านี้ให้ได้ต่อไป

นางอัญชลีเผยอีกว่า ที่ผ่านมามันเหมือนเราถูกทำให้ลำบาก ทั้งๆที่ไม่ควรจะลำบาก ซึ่งเรายอมทำทุกๆอย่างแล้ว และอดทนมามาก มันไม่ควรที่จะล่มสลาย เพราะคนที่เห็นแก่ตัวไม่กี่คน ที่ต้องการอย่างโน้นอย่างนี้ คุณพ่อชูชาติท่านได้สร้างเอาไว้ให้เรา พร้อมมอบทุกอย่างเอาไว้ให้เราเพื่อสืบทอดดูแลปางช้างแม่สาตามพินัยกรรมที่ท่านได้ทำเอาไว้ วอนให้ทายาททุกคนทำตามเจตนารมณ์​ของท่านด้วยเพื่อเห็นแก่ช้าง ตนเองได้ทำทุกอย่างตามเจตนารมณ์​ของท่านแล้วอย่างเต็มที่เพื่อที่จะรักษาปางช้างแม่สาเอาไว้ วอนขอคนที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันทำตามเจตนารมณ์​ของคุณพ่อชูชาติด้วย เพื่อที่จะให้ปางช้างแม่สาอยู่คู่กับคนไทยไปตราบนานเท่านาน