ข่าวทั่วไทย » เชียงใหม่ จนท.บุกตรวจสอบวังน้ำหยาดรีสอร์ท อ.แม่แตงเชียงใหม่ ผิด พรบ.บุกรุกป่าสงวนฯ

เชียงใหม่ จนท.บุกตรวจสอบวังน้ำหยาดรีสอร์ท อ.แม่แตงเชียงใหม่ ผิด พรบ.บุกรุกป่าสงวนฯ

6 มิถุนายน 2020
1448   0

Spread the love

จนท.นำหมายศาลเข้าตรวจสอบวังน้ำหยาดรีสอร์ทดังแม่แตงเชียงใหม่ ผิดบุกรุกป่าสงวน จับ-ปรับรื้อบ้านพักรุกลำน้ำธรรมชาติ ผิดตามหมายศาลเชียงใหม่

พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน.พร้อม หน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) กรมป่าไม้ นำโดยนายสมชาย ฉิมแย้ม หัวหน้าฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) ภาคเหนือ, กอ.รมน.จังหวัด ช.ม., พร้อมชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้เชียงใหม่, หน่วยป้องกัน และพัฒนาป่าไม้แม่แตง, ส่วนจัดการป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่), ฝ่ายปกครองอำเภอแม่แตง ?และ อบต.กื้ดช้าง ประมาณ 30 นาย ได้นำหมายค้นศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ค.234/2563 ลงวันที่ 5 มิ.ย.2563 เข้าตรวจสอบสถานประกอบการ ชื่อ วังน้ำหยาดรีสอร์ท เลขที่ 4/2 หมู่ที่ 2 ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ตามที่มีหนังสือร้องเรียนถึง ศปป.4 กอ.รมน.และกรมป่าไม้เพื่อตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ, การก่อสร้างอาคารรุกล้ำลำน้ำและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรวจค้นพื้นที่ระหว่างเวลา 13.00-18.00 น.


เจ้าหน้าที่ได้แสดงตัวพร้อมหมายค้น แจ้งกับนางบัวผาย บุญตัน อายุ 59 ปี เลขที่ 4/2 บ.แม่ตะมาน หมู่ 2 ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้นำตรวจ และให้ถ้อยคำว่าเป็นเจ้าของวังน้ำหยาดรีสอร์ท เริ่มประกอบกิจการประมาณปี พ.ศ.2545 ด้วยตนเองให้บริการที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม จนถึงปี พ.ศ.2553 ได้ติดต่อชนพื้นเมืองเผ่ากระเหรี่ยงคอยาว,กระเหรี่ยงหูใหญ่, ชาวอาข่า และลีซู มาแสดงการดำเนินวิถีชีวิตให้นักท่องเที่ยวชม โดยได้ยื่นแจ้งการเข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ปัจจุบันชนเผ่าได้เดินทางกลับถิ่นกำเนิดจนเกือบหมดเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19


วังน้ำหยาดรีสอร์ท นางบัวผายฯ ได้สร้างบ้านพักเพิ่มเติมจนถึงปี พ.ศ.2561 ปัจจุบันปรากฏอาคาร จำนวน 14 หลัง (มีห้องพัก 28 ห้อง) และมีบ้านพักของนางบัวผายฯ จำนวน 3 หลัง, อาคารร้านค้าบริการ จำนวน 2 หลัง สำหรับพื้นที่ที่ให้ชาวพื้นเมืองชนเผ่าอาศัยอยู่ สร้างเป็นกระท่อมเพิงพักชั่วคราว จำนวน 20 หลัง, มีซุ้มนั่งเล่นริมน้ำ จำนวน 2 ซุ้ม และสร้างสะพานคอนกรีตข้ามห้วยน้ำหยาด จำนวน 2 จุด สะพาน กว้างประมาณ 2 เมตร ยาวประมาณ 10 เมตร ซึ่งนางบัวผายฯ ยอมรับว่าเป็นผู้สร้างเองทั้งหมดและปัจจุบันกำลังก่อสร้างบ่อเก็บน้ำคอนกรีต เสริมเหล็ก ขนาด 6 X 8 เมตร ส่วนการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นางบัวผายฯได้ยื่นขออนุญาตจากสรรพสามิตจังหวัดเชียงใหม่แล้ว

สำหรับที่ดินนางบัวผายฯ ได้ซื้อต่อจากญาติ ชื่อนายชัยมงคล อินจม และนายสม จันทรส จำนวน 2 แปลง รวมเนื้อที่ 4 ไร่ ซึ่งมีเอกสารสิทธิ (สค.1) สำหรับที่ดินนอกเหนือจากนั้น ได้ซื้อจากนายจำเริญ หม่อนมา ในราคา 30,000 บาท แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบรังวัดพื้นที่ ว่ามีจำนวนเท่าใด เมื่อประมาณปี พ.ศ.2555 พื้นที่ในเอกสารสิทธิ สค.1 นางบัวผายฯ ได้ปลูกสร้างอาคารบ้านพักที่อยู่อาศัย และบ้านพักบริการนักท่องเที่ยวบางส่วน และสำหรับพื้นที่ที่ซื้อจากนายจำเริญฯ รวมทั้งพื้นที่ของสามีนางบัวผายฯ (นายสุวรรณ บุญตัน) จับจองเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ ไม่มีเอกสารสิทธิ โดยได้สร้างอาคารบ้านพักบางส่วน ปลูกไม้ผล และเลี้ยงสัตว์ โดยนายสุวรรณฯ ได้เสียชีวิตแล้ว และได้เคยแจ้งขึ้นทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2542 ซึ่งได้แสดงสำเนาใบตอบรับ 2687 ลงวันที่ 23 ก.ค.2542 ครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แตง ท้องที่ ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ตรวจสอบแล้วพบว่ามีจำนวน 2 แปลง แปลงที่ 1 เนื้อที่ 20 ไร่ แปลงที่ 2 เนื้อที่ 4 ไร่ นางบัวผายฯ และนายบรรพต บุญตัน บุตรชาย เป็นผู้นำชี้ขอบเขตพื้นที่การครอบครองที่ดินทั้งหมด


จากการนำชี้ของนางบัวผายฯ และนายบรรพตศ (บุตรชาย) ซึ่งได้นำชี้พื้นที่ครอบครองทำประโยชน์โดยพื้นที่บางส่วนมีรั้วลวดหนามเสาคอนกรีตแสดงแนวเขตที่ชัดเจน เจ้าหน้าที่ได้บันทึกค่าพิกัดด้วยเครื่องมือหาค่าพิกัดด้วยสัญญาณดาวเทียม (จีพีเอส) จำนวน 39 จุด ตามระบบฐานข้อมูล UTM WGS 1984 ระวางแผนที่ 4747 II คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการรังวัดและขึ้นรูปแปลงดังกล่าวพบว่าพื้นที่นำชี้ทั้งหมดจำนวนเนื้อที่ 25-0-77 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แตง จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ.2545 บางส่วนมีร่องรอยการใช้ประโยชน์จำนวนเนื้อที่ 18-0-71 ไร่ และพื้นที่บางส่วนมีสภาพเป็นป่า จำนวนเนื้อที่ 7-0-06ไร่ โดยพื้นที่ซึ่งมีร่องรอยการทำประโยชน์ครอบคลุมบริเวณที่นางบัวผายฯ แจ้งว่า มีเอกสารสิทธิ์ สค.1 เนื้อที่ 4 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ปัจจุบันใช้ปลูกสร้างบ้านพัก และอาคารบริการนักท่องเที่ยวรวมทั้งพื้นที่พักอาศัยของชนพื้นเมือง


การตรวจสอบข้อกฎหมาย และนโยบายรัฐบายที่เกี่ยวข้อง พบว่าพื้นที่บางส่วนที่มีสภาพป่าตามภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ.2545 ขัดกับหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2542 ซึ่งระบุว่าในกรณีที่มีการบุกรุกตัดต้นไม้และ หรือแผ้วถางพื้นที่อันไม่ใช่พื้นที่ที่อยู่อาศัย/ ทำกินอยู่แล้ว และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด สำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรมและการก่อสร้างอาคารซึ่งดำเนินการก่อนวันที่ 12 มิ.ย.2562 ยังได้รับการชะลอการบังคับใช้กฎหมายตามคำสั่ง คสช ที่ 6/256 ลงวันที่ 12 มิ.ย.2562


อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว เห็นว่า การบุกรุกครอบครองพื้นที่ในบริเวณที่มีสภาพป่าตามภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.2545 จำนวนเนื้อที่ 7 ไร่ ของนางบัวผาย บุญตัน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 ฐาน “ก่อสร้างแผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” และพ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 14 ฐาน “ยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต


นอกจากนั้นยังมีความผิดในมาตรา 26/4 ฐาน “ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือเป็นเหตุให้เกิดการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากร ธรรมชาติ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากร ธรรมชาติที่ถูกทำลายสูญหายหรือเสียหายไป” เหตุเกิดในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แตง ท้องที่ บ้านแม่ตะมาน หมู่ 2 ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่


สรุปผลการตรวจสอบ ตรวจยึดพื้นที่จำนวน 7-0-06 ไร่ คิดค่าเสียหายของรัฐเบื้องต้น เป็นเงิน 478,733.20 บาท ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่มอบหมายให้นายไพโรจน์ บุญญรัตนศิริ ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ และให้นายเฉลิม เรืองศักดิ์ ตำแหน่ง พนักงานพิทักษ์ป่า ส 3 เป็นพยาน นำเรื่องราวร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่แตง เพื่อดำเนินคดีกับนางบัวผายฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตาม ปจว.ข้อ 6 เวลา 2200 คดีอาญาที่297/2563 ลง 5 มิ.ย.63


ทางเจ้าหน้าที่ร่วมกับกุมยังมอบหมายให้ นายก อบต.กื้ดช้าง ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยสั่งให้รื้อถอนอาคารที่รุกล้ำลงไปในลำน้ำหยาด จำนวน 2 หลัง และดำเนินคดีกรณีก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้ กอ.รมน.จังหวัด ช.ม. ประสานการปฏิบัติพร้อมทั้งรายงานผลการปฏิบัติให้ ศปป.4 กอ.รมน.ทราบต่อไปเพราะยังมีการตรวจสอบต่อเนื่องอยู่


-ส่วนประเด็นปัญหา ชาวบ้านร้องเรียน คือ สงสัยเจ้าของรีสอร์ทและปางช้างบางแห่งเข้าข่ายความผิดหรือไม่ เช่น ผู้ประกอบการต่างๆอ้างมี ส.ค.1 สงสัยออกมาถูกต้องหรือไม่ และออกเอกสารสิทธิดังกล่าวได้อย่างไร และการแสดงสิทธิครอบครองพื้นที่ป่าสงวน มีวัตถุประสงค์เพื่อการทำเกษตร แต่นำไปสร้างรีสอร์ทได้หรือไม่ ส่วนอาคารที่พักบ้านพักต่างๆ ที่ปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ลาดชันเกิน 30% ได้หรือไม่ และ ส.ค.1 ที่แสดงการครอบคลุมพื้นที่รีสอร์ททั้งหมดหรือไม่ และพบว่าน้ำตกที่ดูเหมือนการสร้างขึ้นมาใหม่ และเป็นการดัดแปลง ขุดเจาะ ลำน้ำธรรมชาติเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือไม่ และรวมทั้งร้านอาหาร บ้านพัก และสะพาน ปลูกสร้างที่เห็นว่ารุกล้ำลำน้ำธรรมชาติที่อยู่ในเขตป่าสงวนหรือไม่ ชาวบ้านยังสงสัยว่า ปางช้างดังกล่าว เคยถูกบุกจับเมื่อ 30 เม.ย. 2561 ให้บริการซิปไลน์ที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมายหรือทำเถื่อน ได้รับอนุญาตกับทาง อปท.ในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือยัง และอยู่ในเขตป่าสงวนหรือไม่ ชาวบ้านก็ยังมีข้อสงสัยดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนลงพื้นที่ตรวจจับและปรับเจ้าของรีสอร์ทและปางช้างแห่งหนึ้งใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ดังกล่าว.