ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ ต้อนรับสำนักงานชลประทานที่ 1 ตามโครงการสื่อสัญจรดูงานชลประทาน ยืนยันปีนี้เตรียมพร้อมรับมือทุกด้าน เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและรับมือน้ำป่าไหลหลากทุกพื้นที่
วันที่ 14 กันยายน 2564 นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ นายสิรภพ แท่นมณี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 – 8 โครงการชลประทานเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ตำแหน่ง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 และ นายณัฐวุฒิ นากสุก ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมคณะ ที่ได้จัดโครงการกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ดูงานชลประทาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ครั้งที่ 2) ที่ห้องประชุมริมน้ำ ภายในโครงการชลประทานเชียงใหม่
โดย นายสิรภพ แท่นมณี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน ได้บรรยายสรุปถึงภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำภายในโครงการชลประทานเชียงใหม่ ทั้งเรื่องของคลองแม่ข่า ประตูระบายน้ำ การเตรียมความพร้อมป้องกันในช่วงฤดูฝน การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำอย่างคุ้มค่ามากที่สุดทั้งด้านอุปโภค บริโภค การเกษตร และอื่นๆ
ด้านนายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้กล่าวถึง การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำและการกำจัดผักตบชวา โดยจุดแรกที่ได้ดำเนินการที่บริเวณประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิง ในส่วนของโครงการชลประทานเชียงใหม่มีแผนงานที่จะขอสนับสนุนเครื่องจักรที่ใช้ในการจัดเก็บผักตบชวา ลักษณะคล้ายกับรถแบล็คโฮแต่มีตัวจับที่ใช้ขยุ้มและหยิบขึ้นมา เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก
นอกเหนือจากนี้ในปีงบประมาณ 2565 บริเวณน้ำปิงตอนล่างทางกรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้เสนอขอรับการสนับสนุนในการทำทุ่นที่ใช้ในการดักจับผักตบชวา จำนวน 2 แห่ง แห่งแรกที่หน้าฝายดอยน้อย อำเภอดอยหล่อ ซึ่งทุ่นดังกล่าวคล้ายกับที่บริเวณด้านหน้าประตูระบายน้ำป่าแดด และแห่งสุดท้ายก่อนที่ผักตบชวาจะไหลลงสู่ระบายน้ำแม่ปิง บริเวณที่ด้านหน้าประตูระบายน้ำแม่สอย อำเภอจอมทอง ก็ได้รับงบประมาณในการจัดทำทุ่น ความสำคัญของทุ่นคือ เป็นการวางต้านแรงน้ำ เมื่อผักตบชวาจะไหลมาแล้วไหลมารวมกันตรงกลาง ก็ทำให้จัดเก็บได้ง่ายขึ้น ประกอบกับตัวทุ่นนั้นทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเดินและไปจัดเก็บได้ ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการจ้างกลุ่มผู้ใช้น้ำที่จะเข้ามาช่วย เป็นแรงงานคนที่จะเข้ามาจัดเก็บผักตบชวาทุกวัน แล้วนำเมื่อจัดเก็บก็ได้นำไปกำจัดด้วยการทำปุ๋ยหมักที่เทศบาลป่าแดด และเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการชลประทานเชียงใหม่ได้มีการติดตามปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่าต่างๆ ในแม่น้ำลำคลองอย่างใกล้ชิด รวมถึงการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน ประตูระบายน้ำและอาคารระบายน้ำต่างๆให้มีความพร้อมในการใช้งานได้ดี นอกจากนั้นให้มีการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่มีผลกระทบต่อการระบายน้ำ ตลอดจนการแจ้งเตือนในพื้นที่ โดยมอบหมายเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานและคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ หากเกิดเหตุการณ์วิกฤติก็จะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงพี่น้องประชาชนให้เฝ้าระวังโดยเฉพาะน้ำป่าไหลหลาก
ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่รอบนอกเขตชลประทาน เขตพื้นที่สูงชันตามพื้นที่เขาต่างๆดังนั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่ายร่วมทั้งประชาชนในการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่อาจเกิดขึ้น การวิเคราะห์ และนำข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา มาร่วมตรวจสอบ วางแผน ทั้งเรื่องร่องความกดอากาศต่ำ หรือเรื่องของพายุต่างๆที่จะเข้ามา มีการเฝ้าระวังในพื้นที่ลุ่มต่ำ และอ่างเก็บน้ำที่เสี่ยงต่อการเต็มความจุเช่น อ่างเก็บน้ำแม่ตะไคร้ อำเภอแม่ออน หรืออ่างสันหนอง อำเภอแม่แจ่มเป็นต้นเบื้องต้นได้มีการพร่องน้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้น้ำสามารถไหลผ่านได้สะดวก แล้ว พร้อมกับกำชับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนหากเกิดสภาวะน้ำป่าไหลหลาก