ข่าวทั่วไทย » พิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 รณรงค์ร่วมลดไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองภาคเหนือ

พิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 รณรงค์ร่วมลดไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองภาคเหนือ

6 มกราคม 2022
440   0

Spread the love

กองทัพภาคที่ 3 รณรงค์ร่วมลดไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองภาคเหนือ

ในช่วงหน้าแล้งของประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายนของทุกปี มักพบการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละออง โดยเฉพาะในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ สาเหตุเนื่องจากสภาพอากาศส่วนใหญ่จะเป็นช่วงที่หนาวเย็น และแห้งแล้งต่อเนื่องกัน ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว เกษตรกรจะทำการเผาเศษวัสดุเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับทำการเกษตรในช่วงฤดูฝน ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดภาวะไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ซึ่งส่งผลกระทบความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน สุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และสามารถควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ทรัพยากรธรรมชาติและประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งการจัดตั้งเป็น 3 ระดับ ดังนี้.-

1. ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับชาติ /โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบ
2. ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค/ โดยมี กองทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบ
3. ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับจังหวัด/ โดยมี จังหวัดในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รับผิดชอบ
โดยใช้แนวทางการแก้ไขปัญหา โดยยึดหลัก 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1) การประชาสัมพันธ์ 2) การป้องกันไฟป่า 3) การจัดการเชื้อเพลิง 4) การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไฟป่า และ 5) การดับไฟป่า

จากการดำเนินการในปี 2564 ที่ผ่านมา ได้บูรณาการการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ โดยแยกเป็น 3 ขั้น ประกอบด้วย 1) ขั้นเตรียมการ 2) ขั้นรับมือ (ก่อนวิกฤต กับช่วงวิกฤต) และ 3) ขั้นฟื้นฟูและสร้างความยั่งยืน ดังนี้
1. ขั้นเตรียมการ
1.1 การถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การทบทวนปรับปรุงเป็นแผนเผชิญเหตุ ซึ่งจะต้องมีมาตรการจัดการวัสดุทางการเกษตร การซักซ้อมแผนในพื้นที่เสี่ยง การทำแนวกันไฟ และการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื่นให้กับพื้นที่
1.2 การติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ ซึ่งจะต้องมีการเปิด Warroom เพื่อประเมินวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในห้วงเวลา โดยอาศัยฐานข้อมูลชุดเดียวกันจากกรมควบคุมมลพิษ และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gistda)

นอกจากนี้ยังอาจจะต้องอาศัยเทคโนโลยีติดตามสถานการณ์เพิ่มเติม จากกลุ่มนักวิชาการในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว
1.3 จัดเตรียมสถานภาพ กำลังพล เครื่องมือ ยุทโธปกรณ์ ของแต่ละหน่วยงานที่มีอยู่ ในการเตรียมสนับสนุนการดับไฟป่าให้สอดคล้องกับพื้นที่
1.4 การหารือของความร่วมมือคณะกรรมการชายแดน เพื่อให้เกิดความร่วมมือ และกำชับให้ควบคุมการเผา บริเวณชายแดนอย่างเคร่งครัด
1.5 การอบรมเตรียมความพร้อมกับชุดจิตอาสาของชุมชน หรือหมู่บ้าน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน
1.6 วิเคราะห์ บูรณาการกรอบงบประมาณ งบฟังก์ชั่นของแต่ละจังหวัด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงการพิจารณาเสนอแผนงบประมาณพัฒนาเป็นกลุ่มจังหวัด
1.7 การกำกับดูแล อย่างใกล้ชิด ภายใต้ตัวชี้วัด ใน 3 ปัจจัยได้แก่ 1) จำนวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น, 2) จำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ภายในประเทศลดลง และ 3) จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ (ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ)
1.8 การสื่อสาร สร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจ เชิงวิชาการที่ถูกต้องให้กับประชาชน ทั้งการเชิญชวนภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมการประชาสัมพันธ์ชุดข้อมูล โดยวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ผ่านวิทยุชุมชน หอกระจายข่าวชุมชน และสื่อโซเชียลมีเดีย

2. ขั้นรับมือ (ก่อนวิกฤต กับ ช่วงวิกฤต)
2.1 มีการลาดตระเวน เฝ้าระวัง ดับไฟป่า โดยจัดชุดดับไฟป่าและชุดแพทย์เคลื่อนที่ โดยเมื่อเกิดจุดความร้อน ควรจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ ผู้นำท้องที่ เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ และให้ชุดดับไฟป่าในพื้นที่ ที่บูรณาการหลายภาคส่วนเข้าดำเนินการดับไฟ สำหรับการตรวจที่เกิดเหตุรวบรวมพยานหลักฐานในเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไป ทั้งนี้ หากสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่มีแนวโน้มที่ค่าเกินมาตรฐานควรจัดสถานที่พักชั่วคราวให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ (Safety Zone) โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง (ผู้ป่วย คนชรา เด็ก และหญิงมีครรภ์) พร้อมแจกจ่ายหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ควรเตรียมการทำฝนหลวงหากปัจจัยสภาพแวดล้อมเกื้อหนุน
2.2 มาตรการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเป็นมาตรการทางสังคมในการระงับเหตุ โดยเมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ หากพบผู้กระทำความผิด ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการจับกุม พร้อมรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ตามลักษณะของพื้นที่ (พื้นที่ป่า, พื้นที่เกษตรกรรม, พื้นที่ชุมชนเมือง และพื้นที่ริมทาง) และพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ จากผู้กล่าวหา (โดยเจ้าของพื้นที่ที่รับผิดชอบตามลักษณะพื้นที่) โดยพิจารณาตามพื้นที่ดังนี้

1) เขตป่าอนุรักษ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นผู้กล่าวหา
2) เขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ เป็นผู้กล่าวหา
3) พื้นที่ริมทาง โดยมีเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้กล่าวหา
4) พื้นที่ชุมชนเมือง โดยมีเจ้าหน้าที่ของสาธารณสุขเป็นผู้กล่าวหา
5) ที่ดินที่มีหลักฐานกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง แยกเป็น 2 กรณี ดังนี้.-
– ที่ดินที่มีหลักฐานกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองของตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้กล่าวหา
– ที่ดินที่มีหลักฐานกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองของผู้อื่น ให้เจ้าของที่ดิน หรือผู้ครอบครอง หรือมีเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้กล่าวหา

เมื่อเปรียบเทียบจุดความร้อนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2563 และ 2564 พบว่า ในปี 2563 เกิดจุดความร้อนสะสม จำนวน 135,812 จุด ส่วนปี 2564 เกิดจุดความร้อนสะสม จำนวน 64,377 จุด โดยส่วนมากพบจุดความร้อนใน 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก จังหวัดลำปางและจังหวัดเชียงราย รวมทั้งจากการเก็บข้อมูลยังพบว่าในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีจำนวนวันที่ค่าอากาศ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานเฉลี่ยในปี 2563 จำนวน 82 วันและในปี 2564 จำนวน 55 วัน ลดลง 27 วัน คิดเป็นร้อยละ 32.57 ขณะที่ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2564 มีจำนวนวันที่ค่าอากาศเกินค่ามาตรฐาน ในปี 2563 จำนวน 15 วัน และในปี 2564 จำนวน 13 วัน ลดลง 2 วันคิดเป็นร้อยละ 16.31

3. ขั้นฟื้นฟูและสร้างความยั่งยืน
ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้, ส่งเสริมเครือข่ายเกษตรกร/ชุมชนปลอดการเผา, ส่งเสริมการใช้ประโยชน์เศษวัสดุการเกษตร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชน สำหรับในส่วนของ กองทัพภาคที่ 3 ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ภายใต้โครงสร้างกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 โดยได้มอบหมายให้หน่วยทหารในพื้นที่ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1) หน่วยทหารในพื้นที่ ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ
2) กองกำลังนเรศวร และกองกำลังผาเมือง
3) รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร)

ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 จัดตั้งกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า (บก.คฟป.ทภ.3 สน.) ขึ้น ณ สโมสรยอดทัพบันเทิง กองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมอบหมายให้ พลตรี ถนัดพล โกศัยเสวี รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นผู้รับผิดชอบ การรณรงค์ร่วมลดไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองภาคเหนือ ห้วงตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ถึง 30 เมษายน 2565 ตามแผนงานยุทธศาสตร์การเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ โครงการป้องกันการบุกรุกและทำลายพื้นที่ป่าไม้ ประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่ออำนวยการและบูรณาการ การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองและดับไฟป่า รวมถึงการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ และสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และป้องกันให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงวางแผนการฟื้นฟู และสร้างความยั่งยืนต่อไป และขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วน ร่วมกันดำเนินการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะทำให้จุดความร้อนสะสมในปี 2565 ลดลงอีกร้อยละ 20 จากปีที่ผ่านมา