ข่าวทั่วไทย » เชียงใหม่ หลายจังหวัดในภาคเหนือ ค่าคุณภาพอากาศเริ่มส่งผลกระทบกับประชาชน

เชียงใหม่ หลายจังหวัดในภาคเหนือ ค่าคุณภาพอากาศเริ่มส่งผลกระทบกับประชาชน

3 มีนาคม 2022
406   0

Spread the love

หลายจังหวัดในภาคเหนือ ค่าคุณภาพอากาศเริ่มส่งผลกระทบกับประชาชน โดยเฉพาะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ล่าสุด กองทัพภาคที่ 3 สนับสนุน MI-17 ดับไฟป่า ที่บ้านวังขุมเงิน ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

วันที่ 3 มี.ค.65 พล.ต.ประสิษฐิพงศ์ มูลดี รองผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 เปิดเผยว่า กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 สนับสนุน MI-17 ดับไฟป่า ที่บ้านวังขุมเงิน หมู่ 10 ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ภายหลังเกิดไฟป่าในพื้นที่ตั้งแต่เมื่อคืนนี้ และมีท่าทีที่ดับยาก ประกอบกับมอบหมายให้ชุดดับไฟจาก มณฑลทหารบกที่33 จำนวน 10 นาย เข้าพื้นที่พร้อมทางอำเภอ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ เพื่อทำแนวกันไฟ เบื้องต้น MI-17 ติดตั้งแบมบี้ ที่ ร.ร.ชลประทาน เขื่อนแม่กวง เพื่อบรรทุกน้ำที่ เขื่อนแม่กวง และเข้าดับไฟทันที

จากการตรวจสอบสภาพอากาศทางภาคเหนือเช้าวันนี้ พบว่า ภาคเหนือ มีค่าPM 2.5 เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 42 – 113 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร , ค่า PM 10 ระหว่าง 56 – 137 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ ค่า AQI อยู่ระหว่าง 67 – 223 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปัจจุบัน มี 13 จังหวัด ที่ค่าคุณภาพอากาศเกินเกณฑ์มาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ จังหวัด เชียงใหม่ ลำปาง,ลำพูน,แม่ฮ่องสอน,น่าน,แพร่,พะเยา,ตาก,อุตรดิตถิ์,สุโขทัย,พิษณุโลก,พิจิตรและจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยสาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากการเผา จากประเทศเพื่อนบ้าน และในพื้นที่ ที่มีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะป่าสงวน พื้นที่เกษตรและป่าอนุรักษ์ ขณะที่ลมจากทิศตะวันตก พัดเข้ามายังประเทศไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่งผลให้ปริมาณค่าฝุ่นควันจากการเผาในอากาศเกินค่ามาตรฐาน นอกจากนั้นยังเป็นผลมาจากความกดอากาศต่ำ ประกอบกับภาคเหนือของไทยมีภูมิประเทศเป็นลักษณะหุบเขา แอ่งกระทะ ทำให้ฝุ่นไม่ลอยตัว

อย่างไรก็ตามแม่ทัพภาคที่ 3 ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการ 17 จังหวัดภาคเหนือ ประกาศงดการเผาในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 มี.ค.65 เพื่อลดปริมาณหมอกวันในพื้นที่ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.64 – 2 มี.ค.65 เกิดจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 13,928 จุด เมื่อเทียบปี 64 ( 36,394 ) ลดลง 22,466 จุด คิดเป็น 61.73 % เมื่อเทียบปี 63 ( 61,518 ) ลดลง 47,590 จุด คิดเป็น 77.36 %