ข่าวทั่วไทย » เชียงใหม่ บวชสามเณร สีสันแห่งศรัทธางานบุญปอยส่างลอง ชาวไทใหญ่ในประเทศไทย ที่วัดสันมะเกี๋ยง จ.เชียงใหม่

เชียงใหม่ บวชสามเณร สีสันแห่งศรัทธางานบุญปอยส่างลอง ชาวไทใหญ่ในประเทศไทย ที่วัดสันมะเกี๋ยง จ.เชียงใหม่

6 เมษายน 2022
562   0

Spread the love

บวชสามเณร สีสันแห่งศรัทธางานบุญปอยส่างลอง ชาวไทใหญ่ในประเทศไทย ที่วัดสันมะเกี๋ยง จ.เชียงใหม่

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 6 เม.ย.2565 ที่วัดสันมะเกี๋ยง ต.สำราญราษฏร์ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ พระครูพิทักษ์ อรัญวัตร เจ้าคณะตำบลป่าป้อง-สง่าบ้าน อ.ดอยสะเก็ด พระอุปัชฌาย์ส่างลอง หรือพระอุปัชฌาย์บวชสามเณรให้เยาวชนเข้าวัดศึกษาธรรมะ ตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นประเพณีปอยส่างลองของชาวไทใหญ่ คืองานทำบุญบวชสามเณรให้บุตรหลานในภาคฤดูร้อนในช่วงปิดเทอมปีนี้ จำนวน 9 รูป

ประเพณีปอยส่างลอง เริ่มเมื่อวันที่ 4 เม.ย.เวลา 06.00 น.ทางพ่อ-แม่ส่างลองได้โกนผมให้ลูกชาย เพื่อเป็นลูกแก้ว จากนั้นญาติๆแต่งตัวให้ลูกแก้วเป็นชุดส่างลอง ชุดที่มีหลากสี เช่นชุดสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีส้ม สีแสด สีชมพูเข็ม ดูแล้วสดใสสวยงาม แต่งหน้าทาเล็บเท้าให้สวยงาม ประดับเครื่องแต่งตัว และยังแต่งหน้าทาแป้งด้วยทานาคา จากนั้นจะนำแห่รอบอุโบสถ 3 รอบ ภายในหนึ่งวันจะแห่ 2 รอบ ช่วงเช้า เวลา 07.00 และช่วงบ่าย เวลา 16.00 น.เป็นเวลา 2 วัน คือวันที่ 4 – 5 เม.ย.และให้ส่างลองเก็บตัวนอนที่เต็นท์ในวัด ตกแต่งเต็นท์สวยงามหลากสีเช่นกัน ให้พักอาศัยอยู่กับญาติๆจำนวน 2 วัน 2 คืน ที่มาร่วมทำบุญฉลองปอยส่างลอง

พอถึงวันที่ 3 คือวันที่ 6 เม.ย. เวลา 13.00 น.ส่างลอง หรือลูกแก้วทั้งหมดที่ยังแต่งชุดส่างลอง ทั้ง 9 องค์ มารวมตัวที่หน้าอุโบสถ จากนั้นแห่รอบๆอุโบสถ จำนวน 3 รอบ แล้วเข้าไปในอุโบสถ โดยมีพระครูพิทักษ์ อรัญวัตร เจ้าคณะตำบลป่าป้อง พระอุปัชฌาย์ส่างลอง นำประกอบพิธีบวชสามเณรให้ส่างลอง กล่าวคำภาษาบาลีเพื่อขอรับการบวช จากนั้นให้พ่อและแม่ส่างลองถวายผ้าเหลือง พระสงฆ์พระพี้เลี้ยงนำส่างลองไปแต่ตัวสวมผ้าเหลืองเพื่อเป็นสามเณร กลับเข้ามาประกอบพิธีบวชสามเณร จากนั้นพ่อและแม่รวมถึงสามเณร รับศีลรับพร เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี ซึ่งสามเณรทั้ง 9 รูปก็จะจำวัดศึกษาธรรมะต่อไป

ประเพณีปอยส่างลอง ถือว่าเป็นสีสันแห่งศรัทธางานบุญปอยส่างลอง หรือชาวไทใหญ่เรียกว่า ป๊อยส่างล้อง หรืองานบวชลูกแก้ว เพื่อบรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา เป็นประเพณีของไทใหญ่ ชาวบ้านจะจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ทุกๆ ปี เนื่องจากเป็นประเพณีที่สำคัญทางศาสนา และเป็นเอกลักษณ์มาช้านานของชาวภาคเหนือ.