เชียงใหม่ “ชูชัย”นำทีมฟุตบอลเชียงใหม่ยูไนเต็ดนำไข่ไก่ไปจำหน่ายฟองละบาทช่วยโควิด-19

“ชูชัย”นำทีมฟุตบอลเชียงใหม่ยูไนเต็ดนำไข่ไก่ไปจำหน่ายฟองละบาทเพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชนช่วงโควิดฯ

วันที่ 24 ก.ค.63 ที่ห้างสหพานิชเชียงใหม่สาขาข่วงสิงห์ สโมสรเชียงใหม่ยูไนเต็ดหรือ CMUTD นำโดยนายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีต ส.ว.ในฐานะประธานสโมสรฯพร้อมด้วยนางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ผู้จัดการทีมสโมสรเชียงใหม่ยูไนเต็ด ทีมงานว่าที่ผู้สมัครส.อบจ.เชียงใหม่พรรคเพื่อไทย นักฟุตบอลทีมสโมสรเชียงใหม่ยูไนเต็ดได้นำไข่ไก่ไปจำหน่ายให้กับพนักงาน เจ้าหน้าที่ของบริษัทสหพานิช จำกัดในราคาเพียงฟองละ 1 บาท โดยมีนางอัจฉราวรรณ ลิ้มเล็งเลิศ กรรมการผู้จัดการบริษัทสหพานิชฯพร้อมด้วยนายสมโภช ลิ้มเล็งเลิศ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทโตโยต้า ล้านนาได้รับมอบไข่ไก่เพื่อจำหน่ายให้กับพนักงานต่อไป


ประธานสโมสรเชียงใหม่ยูไนเต็ดและว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สำหรับทีมสโมสรเชียงใหม่ยูไนเต็ดเป็นทีมฟุตบอลของคนเชียงใหม่ เรามีความมุ่งหวังที่จะให้ทีมขึ้นชั้นไทยลีกให้ได้ จึงอยากขอแรงใจจากคนเชียงใหม่ร่วมเชียร์และส่งกำลังใจให้เชียงใหม่ยูไนเต็ด และอยากให้เชียงใหม่เป็นเมืองกีฬา ซึ่งที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนการแข่งขันออกไป อย่างไรก็ตามคาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้จะเริ่มการแข่งขันได้ ซึ่งปัจจุบันทีมเชียงใหม่ยูไนเต็ดจะใช้สนามซ้อมที่โรงเรียนกีฬาสันป่าตอง และใช้สนามแข่งขันที่โรงเรียนดอยสะเก็ดวิทยาคมเนื่องจากสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปียังอยู่ระหว่างปิดปรับปรุง


ขณะที่นายสมโภช ลิ้มเล็งเลิศ ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทโตโยต้าล้านนา กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งต่อประชาชน พนักงานและผู้ประกอบการ ซึ่งทางสหพานิชฯและโตโยต้าล้านนามีพนักงานกว่า 400 คน การที่ทางสโมสรเชียงใหม่ยูไนเต็ดได้นำไข่ไก่มาขายในราคาฟองละ 1 บาทซึ่งหากเทียบกับราคาท้องตลาดทั่วไปอยู่ที่ฟองละ 3 บาทก็ถือว่าช่วยลดค่าครองชีพของพนักงานลงได้ เพราะช่วงนี้ก็เปิดเทอมแล้ว ถือว่าได้ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับพนักงานที่มีครอบครัวและส่งบุตรหลานเรียนด้วย ซึ่งก็ต้องขอบคุณน้ำใจของทีมสโมสรเชียงใหม่ยูไนเต็ดด้วย

เชียงใหม่ กลุ่มกะเหรี่ยงไทย ( KTG ) ยื่นหนังสือกงสุล USA และกงสุลเมียนมาร์

กลุ่มกะเหรี่ยงไทย ( KTG ) ยื่นหนังสือกงสุล USA และกงสุลเมียนมาร์ เพื่อประท้วงรัฐบาลและกองทัพ เมียนมาร์ กรณีทหารเมียนมาร์ใช้อาวุธสงครามยิงประชาชนชาวกะเหรี่ยงเสียชีวิตพร้อมเอาของมีค่าไป

วันนี้(23 กค.) นายณัฐพง๋ษ์ พงษ์น้อยไพรงาม ประธานเครือข่ายกะเหรี่ยงไทยกรู๊ป ( KTG ) นายลอยพอ สุริยะบุปผา สมาชิกสภาจังหวัดเชียงใหม่ ( สจ.) เขตอำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ พร้อมกับสมาชิกเครือข่าย ฯ เดินทางไปยื่นหนังสือ ณ กงสุล สหรัฐอเมริกาประจำนครเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อต้องการเรียกร้องให้ผู้นำสหรัฐฯ ช่วยกดดันรัฐบาลและกองทัพ เมียนมาร์ หยุดข่มชู่ฆ่าชนกลุ่มน้อย กะเหรี่ยงในเมียนมาร์ โดยเจ้าหน้าที่ กงสุลสหรัฐฯออกมารับหนังสือพร้อมกับรับปากกับผู้มายื่นหนังสือว่า จะรายงานให้ กองทัพฯและผู้นำสหรัฐฯตามระดับชั้นให้เร็วที่สุด


ช่วงบ่ายเครือข่ายกะเหรี่ยงไทยกรุ๊ป ( KTG ) ได้เดินทางไปยื่นหนังสือ ณ กงสุลเมียนมาร์ ประจำนครเชียงใหม่ ย่านสันติธรรม ต.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ โดยมีนายซอ เมียว แต๊ด Mr. Zaw Myo tltet ตัวแทนกงสุลเมียนมาร์ ประจำจังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแทนมารับหนังสือ


ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่16 ก.ค.63  ได้มีทหารเมียนมาร์ จำนวน 2 นายได้ขึ้นไปยังบ้านล่ากูนโพ ใช้อาวุธสงครามยิงใส่ นางมึน่อ หญิงกะเหรี่ยง วัย 40 ปี เข้าบริเวณใบหน้าและบริเวณราวนมซ้ายได้เสียชีวิตคาที่ในบ้านของผู้ตาย จากนั้นทหารเมียนมาร์ ทั้งสองนายได้เอาทรัพย์มีค่าของผู้ตายเช่นสร้อยคอทองและอื่น ๆจำนวนหนึ่ง เหตุเกิดเขตรับผิดชอบของ กองพล 5 รัฐกะเหรี่ยง

ด้าน สจ.ลอยพอ สุริยะบุปผา ที่ปรึกษา เครือข่ายกะเหรี่ยงไทยกรุ๊ป เปิดเผยว่า การที่ตัวแทนเครือข่ายมายื่นหนังสือให้ กงสุลสหรัฐฯในครั้งนี้เพื่อให้ผู้นำสหรัฐฯกดดันนางอองซา ซูจี ผู้นำเงาประเทศเมีนมาร์ และกองทัพเมียนมาร์ กระทำการละเมิดข้อตกลงหยุดยิง NCA ที่สหภาพยุโรปเป็นพยานและรับรองข้อตกลงอีกด้วย


พวกเราในฐานะกลุ่มกะเหรี่ยงไทย KTG ภายใต้กฎยัตรแห่งสหประชาชาติ ( Human Right ) ด้านสิทธิมนุษยชน มีความเห็นว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ทารุน ป่าเถื่อน ไร้ซึ่งมนุษยธรรม กระทำเกินกว่าเหตุ เกินกว่าที่มนุษย์ธรรมดาจะยอมรับได้ จึงขอประณามอย่างรุนแรง ขอให้ลงโทษทหารเมียนมาร์ทั้งสองนาย มาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุดด้วย

เชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดโลกโมฬี เชียงใหม่ นำแม่ครัวมาสอนทำไส้อั่วอาหารพื้นเมือง

เจ้าอาวาสวัดโลกโมฬี เชียงใหม่ นำแม่ครัวมาสอนทำไส้อั่วอาหารพื้นเมือง ให้กับชาวบ้านที่ตกงาน และอยากมีอาชีพเสริมกว่า 30 คน เพื่อนำไปประกอบอาชีพหรือทำอาชีพเสริม หารายได้ในยุคโควิค

พระครูไพบูลเจติยานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่ นำแม่ครัวมืออาชีพ มาสอนทำไส้อั่ว อาหารพื้นเมือง ที่บริเวณศาลาภายในวัด โดยมีชาวบ้านที่ตกงาน และสนใจอยากมีอาชีพเสริม สมัครมาเรียนกว่า 30 คน โดยลงมือทำแบบจริงๆ ตั้งแต่ขั้นตอน การเตรียมเครื่องปรุง เนื้อหมู และสมุนไพร ที่ใช้เป็นส่วนผสม นำมาคลุกเค้า และนำไปยัดใส่ในไส้หมู โดยหาวัสดุง่ายๆอย่างขวดน้ำพาสติก นำมาตัดเป็นกรวย ยัดไส่ในไส้หมู และนำหมูที่ปรุงแล้ว นำมายัดใส่ในไปที่ปาก กรวยเข้าไปในไส้ จนได้ขนาดตามที่ต้องการ จากนั้นนำไปนึ่งประมาณ 5 – 10 นาที จะนำไปย่าง หรือจะนำไปทอดในน้ำมันร้อนๆก็ได้ ก็จะได้ไส้อั่ว หอมเครื่องปรุงสมุนไพร พร้อมรับประทาน บางคนก็จะใช้โทรศัพท์มือถือ บันทึก ขั้นตอนการทำไปด้วย เพื่อนำไปหัดทำ ที่บ้านอีกครั้ง ให้มีความชำนาญ เพื่อจะนำไปทำรับประทานเอง ในครอบครัว หรือทำขายเป็นอาชีพเสริม

พระครู ไพบูลย์เจติยานุรักษ์ บอกว่า ที่ผ่านมา ทางวัดสอนมาหลายอย่าง ทั้งอบรมสอนนั่งสมาธิ ปฎิบัติธรรม และเห็นชาวบ้านได้รับผลกระทบ จากโรคโควิค บางคนตกงาน หรือไม่มีรายได้ และวัดเองก็เคย รับบิณฑบาต จากประชาชน ทั้งนี้ทางวัดพอมีกำลัง จึงฝึกอาชีพให้ หากชาวบ้านอยู่ได้ วัดก็จะอยู่ได้ ก็จะมีประชาชน มาทำบุญถวายอาหารพระ เป็นการพึงพาอาศัยกัน การสอนอาชีพ ก็หวังว่าจะเกิดประโยชน์ กับประชาชน

เชียงใหม่ หนุ่มพิการทางการได้ยิน สู้ชีวิต เปิดร้านเบอร์เกอรี่ และกาแฟ ภาษามือ

น้องวิน วัย 21 ปี หนุ่มพิการทางการได้ยิน สู้ชีวิต เปิดร้านเบอร์เกอรี่ และกาแฟ ภาษามือ เป็นแห่งแรก บริเวณหน้าบ้านตนเอง ในหมู่บ้านริมน้ำ ในตัวเมืองเชียงใหม่ รับออเดอร์ ชงกาแฟเอง ทุกอย่าง ลูกค้าแห่อุดหนุน รสชาติกลมกล่อม ราคาไม่แพง เจ้าตัวดีใจและมีความสุขมาก ที่มีร้าน เป็นของตนเอง แต่ต้องทำงานหนักขึ้น

น้องวิน กระแสเวช เด็กหนุ่มวัย 21 ปี บกพร่องทางการได้ยิน หรือหูหนวก มาตั้งแต่กำเนิด เปิดร้านเบอเกอรี่ และร้านกาแฟ เป็นของตนเอง ทั้งบริการรับออเดอร์กาแฟเอง ทำขนมเบอร์เกอรี่เอง โดยมีคุณแม่เป็นทุนให้ แต่ก่อนหน้านี้ น้องวินได้ไปเรียน ทำขนมเบอร์เกอรี่ จนสามารถทำส่งขายได้ ให้กับร้านค้าทั่วไป และส่งให้กับเพื่อนๆ ของคุณแม่ การเปิดร้านขายกาแฟ วางแผนเปิดเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เจอพิษโควิด เลยเลื่อนมาเปิดขายวันนี้ การทำขนม คุณแม่ ไปเรียนและพาน้องวิน ไปเรียนด้วย และจดจำสูตรการทำขนมได้ และมาทำขนมขายเอง ส่วนภาษามือ และบรรยากาศ การตกแต่งร้านกาแฟ เพื่อนๆ ที่เป็นผู้พิการ ทางการได้ยิน ช่วยกันวาดลวดลาย บนฝาผนัง เป็นรูปดอกไม้ รูปผีเสื้อ เพื่อให้ลูกค้า ได้มาถ่ายรูป และในร้านยังมีเมนูเป็นภาษามือ ให้ลูกค้า ใช้สั่งเครื่องดื่มและขนมด้วย

ฝังวิดีโอ

ร้านกาแฟ Baked by win อยู่ภายในโครงการ หมู่บ้านริมน้ำ ถนนสายเชียงใหม่ – แม่โจ้ เลยตลาดรวมโชค อยู่ซ้ายมือ เข้าไปในโครงการประมาณ 100 เมตร ร้านค้าตั้งอยู่ริมน้ำ บรรยากาศร่มรื่น น้องวินบอกว่า วันนี้ดีใจและภูมิใจมาก เพราะเป็นร้านคนหูหนวก ร้านแรกของเชียงใหม่ โดยจะตั้งใจทำงานและต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น -นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้เพื่อนๆ คนหูหนวกที่ จบคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาวาดภาพผนัง เป็นรูปผี้เสื้อ ดอกไม้ ปลา แมว สุนัข โดยเฉพาะผีเสื้อเป็นแมลงบินได้ ลูกค้าจะไปยืนตรงกลางเหมือนมีปีกผีเสื้อ เพื่อถ่ายภาพ และยังมีดอกไม้ที่เป็นธรรมชาติ โดยเพื่อนๆได้วาดตามจินตนาการ เพื่อให้ลูกค้ามาถ่ายรูป กับความสวยงาม พร้อมตกแต่งร้านเป็นภาษามือ โดยทุกอย่าง ต้องสั่งออเดอร์ ภาษามือ โดยน้องวินเป็นผู้ลงมือชงกาแฟ ด้วยตนเอง และยังทำขนมเองด้วย แต่ก็จะมีเพื่อนๆมาช่วยทำด้วย ส่วนราคากาแฟเบาๆ เหมือนร้านกาแฟทั่วไป


นาง ศิรินันทา กระแสเวช มารดาบอกว่า นอกจากน้องวิน จะทำเองแล้ว ยังเปิดโอกาส ให้เพื่อนๆน้องวิน ที่หูหนวก ได้มาช่วยงานที่ร้าน ให้มีรายได้เสริมอีกด้วย

เชียงใหม่ ชาวบ้านร้องสื่อฯ เกิดน้ำท่วมขังกบที่เลี้ยงไว้ขายกว่าพันตัวหนีออกจากบ่อ วอนผู้เกี่ยวข้องช่วยเหลือ

ชาวบ้านร้องสื่อฯ หลังผู้รับเหมาซ่อมแซมคลองชลประทานปิดกั้นลำน้ำ เมื่อเกิดฝนตกหนักน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้าน จนกบที่เลี้ยงไว้ขายกว่า 1 พันตัว หนีจากบ่อเลี้ยงลอยไปตามกระแสน้ำ ฝากไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาช่วยเหลือค่าเสียหาย ด้าน ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงฯ จัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจความเสียหายช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว

ชาวบ้านกิ่วแล หมู่ 11 ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับความเสียหายหลังเกิดเหตุฝนตกหนักในช่วงกลางดึกคืนวันที่ 18 กรกฏาคม 2563 ที่ผ่านมาจนทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่บ้านของตนเอง สัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงไว้เพื่อจำหน่ายถูกน้ำท่วมจนหลุดจากบ่อเลี้ยง ซึ่งสาเหตุเกิดการผู้รับเหมาของกรมชลประทาน ทำการซ่อมแซมคลองส่งน้ำชลประทานบ้านกิ่วแล ทำการปิดกั้นเส้นทางน้ำ เมื่อเกิดฝนตกหนักน้ำไม่สามารถระบายได้ทันจึงเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง 3 หลังและสวนไร่นา ได้รับความเสียหาย เบื้องต้นเทศบาลตำบลเชิงดอยได้จัดเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยเข้าช่วยเหลือชาวบ้านจนสู่สภาวะที่ปกติ


ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้รับการประสานจากนางศรีวิไล ฤทัยกริ่ม ซึ่งเป็นบ้าน 1 ใน 3 หลังที่ได้รับความเสียหาย แจ้งว่าหลังเกิดเหตุน้ำท่วมเมื่อน้ำลดลง ตนเองก็ได้ไปตรวจดูกบที่เลี้ยงไว้ในบ่อเลี้ยงหลังบ้านจำนวน 3 บ่อ ซึ่งมีกบที่เลี้ยงไว้ในบ่อทั้งหมดเกือบ 1 พันตัวพบว่า ในบ่อเลี้ยงเหลือกบไม่ถึง50 ตัว ที่เหลือถูกน้ำท่วมบ่อ กบก็ได้หนีออกไปจากบ่อเกือบทั้งหมด โดยกบที่เลี้ยงไว้นั้นมีขนาด 3-4 ตัวหนัก 1 กิโลกรัม ราคาขายตามท้องตลาดตกกิโลกรัมละประมาณ 100 บาท เมื่อกบหายออกไปจากบ่อเลี้ยงสาเหตุมาจากการก่อสร้างของกรมชลประทานจนทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้น ก็อยากจะเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่กบเลี้ยงที่หายไปตามน้ำ ห้องส้วมก็ถูกน้ำท่วมจนต้องว่าจ้างรถดูดส้วมเข้ามาดำเนินการก็ต้องเสียใช้จ่ายเองด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดีผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงฯ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างซ่อมแซมเส้นทางชลประทานที่บ้านกิ่วลมแล้ว ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชลประทานเข้าไปสำรวจความเสียหายของชาวบ้านแล้ว เพื่อจะได้ทำการช่วยเหลือกันต่อไป

เชียงใหม่ ชวนเที่ยวสักการะพระเจ้าทันใจและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดสันมะเกี๋ยง

เชิญชวนสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดสันมะเกี๋ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดเล็กๆ ติดชายขอบอำเภอดอยสะเก็ดและอำเภอสันกำแพง กราบไหว้ขอพรพระเจ้าทันใจ 2 ปี และขอพรจากองค์ท้าวเทพสุวรรณหน้าเทพ องค์ท้าวเทพสุวรรณเหยีบยราหู และหลวงปู่สรวง เทวดาเดินดิน

พระครูปลัดทวีวัฒน์ อินฺทวณฺโณ ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดสันมะเกี๋ยง และในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวง เจริญพรว่า วัดสันมะเกี๋ยง ตำบลสำราษราษฏร์ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2538 จนถึงปัจจุบันมีอายุครบ 25 ปี แต่เดิมหมู่บ้านสันมะเกี๋ยงไม่มีวัดในหมู่บ้าน เมื่อมีงานบุญชาวบ้านสันมะเกี๋ยงก็จะไปทำบุญในวัดต่างหมู่บ้าน การเดินทางก็ลำบาก ชาวบ้านจึงอยากจะมีวัดในหมู่บ้านจะได้ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศานา วัดสันมะเกี๋ยงก่อตั้งขึ้นจากชาวบ้านร่วมใจกัน ระยะแรกวัดสันมะเกี๋ยงเป็นเพียงสำนักสงฆ์ จากนั้นมาชาวบ้านได้ร่วมกันทอดผ้าป่า ทอดกระทิน เพื่อซื้อที่ดินจำนวน 2 ไร่ สร้างเป็นสำนักสงฆ์ ซื่อว่าสำนักสงฆ์สันมะเกี๋ยง ต่อมาก็มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ จนมาถึงปี พ.ศ.2552 อาตมาภาพได้มาจำพรรษาที่วัดสันมะเกี๋ยงแห่งนี้ ก็จึงได้เริ่มพัฒนาสร้างเสนาสนะ บูรณะปรับปรุง สร้างเจดีย์ วัดสันมะเกี๋ยงใหม่เจริญรุ่งเรือง


วัดสันมะเกี๋ยงสมัยก่อนเป็นวัดร้าง ไม่ใช่ที่ตั้งวัดปัจจุบันนี้ วัดเดิมจะเป็นพื้นที่ถัดไปจากวัดแห่งนี้ 1 แปลง แต่ก็ไม่สามารถจะไปเอาวัดร้างคืนมาได้เพราะออกโฉนดโดยเอกชนทับพื้นที่ไปแล้ว ไม่สามารถจะไปยื่นฟ้องหรือเรียกร้องกลับคืนมาได้ จะเรียกร้องคืนก็ต้องใช้เวลา ชาวบ้านจึงได้ตัดสินใจที่จะซื้อที่ดินข้างเคียงก็คือวัดสันมะเกี๋ยงในปัจจุบันนี้ วัดสันมเกี๋ยงสร้างขึ้นมาแล้ว 25 ปี แต่ก่อนไม่เคยมีใครรู้จักวัดสันมะเกี๋ยง วัดสันมะเกี๋ยงเป็นวัดในชุมชนเล็กๆ เป็นวัดชายขอบติดกับอำเภอดอยสะเก็ดและอำเภอสันกำแพง ชาวบ้านมีอาชีพทำไร่ทำนา ไม่มีฐานะมากนัก แต่เมื่ออาตมาภาพได้เขามาพัฒนา เข้ามาอยู่วัดแห่งนี้ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักของศรัทธาชาวบ้านศรัทธาประชาชนทั่วทุกสารทิศเริ่มมารู้จัก เริ่มมาทำนุบำรุงสร้างวัดสันมะเกี๋ยงแห่งนี้ขึ้นมา


สำหรับเสนาสนะ ที่สำคัญของวัดสันมะเกี๋ยงที่เป็นจุดเด่นก็จะเห็นเป็น “พระเจ้าทันใจ” ที่ใช้เวลาสร้าง 2 ปี พระเจ้าทันใจตามหลักจะใช้เวลาสร้างไม่เกิน 24 ชั่วโมง ที่เรียกว่าสร้าง 2 ปี ไม่ใช่สร้างระยะเวลานาน 2 ปี แต่เป็นการสร้างขึ้นวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และเสร็จวันที่ 1 มกราคม 2561 เวลา 01.00 น. จึงเรียกกันว่า “พระเจ้าทันใจ 2 ปี” เป็นที่สักการะของชาวบ้าน มาขอพร ทำบุญ ที่วัดสันมะเก๋ยงแห่งนี้

นอกจากนั้นยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดสันมะเกี๋ยงที่สำคัญอีกไม่ว่าจะเป็น “องค์ท้าวเทพสุวรรณหน้าเทพ” หรือองค์ท้าวเทพสุวรรณหน้าพรหม ปางประทานพร ซึ่งเกิดนิมิตเกิดอัศจรรย์หลายๆ อย่าง บรรดาญาตโยมได้รู้เห็นด้วยตนเอง จึงมีการสร้างถวายเป็นพุทธบูชา พุทรานุสสติ หรือท้าวเทพสุวรรณปางเหยียบราหู สามารถแก้ดวง แก้สิ่งไม่ดีตามคติความเชื่อ และจะมีหลวงปู่สรวง เทวดาเดินดิน ที่สามารถมาขอพร ก็จะพระทานพรตามความเชื่อของพระพุทธศาสนา มีพญานาคราชที่ญาติโยมมาสร้างถวาย ตามหลักความเชื่อที่ได้ประสบพบเจอมาต่างๆ นาๆ ทั้งหมดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คร่าวๆ ที่มีอยู่ในวัดสันมะเกี๋ยงแห่งนี้ จึงอยากฝากเชิญชวนศรัทธาญาติโยมเดินทางมาเที่ยวและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดสันมะเกี๋ยงได้ทุกๆ วัน

เชียงใหม่ วันหยุดนักท่องเที่ยวคนไทย ขึ้นดอย ไปนั่งจิบกาแฟ ร้านกาแฟบนต้นไม้

วันหยุดนักท่องเที่ยวคนไทย ขึ้นดอย ไปนั่งจิบกาแฟ ร้านกาแฟบนต้นไม้ บ้านแม่ป๊อก ในอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ชมภูเขาเขียวขจี เดินไต่สะพานแขวน สุดประทับใจ บางคนไม่กล้าพอต้องเดินทางบันได ขณะที่หมู่บ้านแม่กำปอง หมู่บ้านโฮมสเตย์ ในหุบเขา เส้นทางเดียวกัน ก็คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว

ช่วงวันหยุดนักท่องเที่ยวคนไทย ที่มาจากต่างจังหวัด พากันขับรถยนต์ส่วนตัว ขึ้นไปท่องเที่ยวพักผ่อน และชมธรรมชาติ ที่บ้านแม่ป๊อก ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ จุดหมายเป็นร้านกาแฟ ชื่อร้านไจแอนท์ ที่แตกต่างจากร้านทั่วไป สร้างบนต้นไม้ใหญ่ เพื่อไปนั่งจิบกาแฟ หรือรับประทานอาหาร ชมธรรมชาติ ของภูเขาเขียวขจี ที่สวยงาม ในช่วงฤดูฝน และที่ไม่พลาด ต้องพากันเซลฟี่ ร้านกาแฟ ที่ตั้งอยู่บนต้นไม้ใหญ่ และหากจะดื่มกาแฟ ต้องเดินข้ามสะพานแขวน ที่สุดตื่นเต้น แต่เดินข้ามได้ ครั้งละไม่เกิน 2 คน แต่บางคนไม่กล้าพอ ขอเดินทางบันไดแทน ทำให้ช่วงวันหยุดคึกคัก เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว จากต่างจังหวัด ที่ทยอยมาจิบกาแฟ แต่เส้นทางขึ้นลง อาจจะคดเคี้ยว และลาดชันมาก หากไม่ชำนาญ นักท่องเที่ยวก็ใช้บริการ รถของพี่น้องชาวบ้าน ในท้องถิ่น คิดค่าบริการ คนละ 50 บาท ทั้งไปและกลับ โดยให้เวลาดื่มกาแฟ 1 ชั่วโมง ซึ่งทางร้านยังมีเจลล้างมือ ให้บริการ

นาย เกษแก้ว ศรีลาลาด นักท่องเที่ยว ที่มาจาก จังหวัดปทุมธานี พร้อมกับเพื่อนๆ บอกว่ามาร้านกาแฟเดอะไจแอนท์ บนต้นไม้ประทับใจมาก ที่มีบรรยากาศสวยงาม และอยากเชิญชวน นักท่องเที่ยวคนไทยมาสัมผัส แต่เส้นทางอาจลาดชันและคดเคี้ยว ใช้บริการรถของชาวบ้าน จะปลอดภัยกว่า

ขณะที่เส้นทางเดียวกัน แต่จะมีทางแยก ไปอีกเส้นทาง ห่างกันประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านแม่กำปอง เมืองในหุบเขา อากาศแสนบริสุทธิ์ ธรรมชาติที่งดงาม เป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ และเมืองแห่งกาแฟ ช่วงวันหยุด ก็มีนักท่องเที่ยว พากันไปพักผ่อน และถ่ายภาพ กับร้านค้า หรือร้านกาแฟ ที่มีมากมาย ทั้งอยู่ในหุบเขา บนยอดเขา นักท่องเที่ยวคึกคักไม่แพ้กัน บางรายนอนพักค้างแรม ทำให้ชาวบ้าน ในท้องถิ่นมีรายได้ และในช่วงหยุดยาวหลายวัน ปลายเดือนนี้ เชิญชวนนักท่องเที่ยว จากต่างจังหวัด ไปสัมผัสธรรมชาติได้ที่หมู่บ้านแม่กำปอง และบ้านแม่ป๊อก อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

เชียงใหม่ ชาวบ้านร่วมทำบุญบุคคลตัวอย่างสละที่ดินและทรัพย์สินเงินทองกว่า 40 ล้านบาทสร้างสถานปฎิบัติธรรมนานาชาติ

ชาวบ้านร่วมทำบุญ ให้กับแม่ครูบัวชุม กันทะปา บุคคลตัวอย่าง ที่สละที่ดินและทรัพย์สินเงินทอง กว่า 40 ล้านบาท สร้างสถานปฎิบัติธรรมนานาชาติ ที่บ้านศรีวังธาร อำเภอสันทราย เชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์รวมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโลก

ครอบครัว กันทะปา ลูกหลาน และประชาชน ร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้กับแม่ครูบัวชุม กันทะปา ที่ล่วงลับไปแล้ว ผู้ก่อตั้งสถานปฎิบัติธรรมนานาชาติ บ้านศรีวังธาร ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ แห่งนี้ โดยแม่ครูบัวชุม ได้สละที่ดินกว่า 10 ไร่ พร้อมทรัพย์สินเงินทอง ในการสร้างอาคาร สถานปฎิบัติธรรมนานาชาติ เพื่อเป็นการสืบทอด และเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งแต่ละปี มีทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ ตลอดถึงเยาวชน มานั่งสมาธิปฎิบัติธรรม เจริญสมาธิ กลายเป็นศูนย์รวม ของชาวพุทธไปทั่วโลก และเพื่อเป็นการรำลึก ถึงคุณงามความดี ของแม่ครูบัวชุม ทางลูกหลานญาติพี่น้อง ตลอดจนชาวบ้าน ในพื้นที่ ได้มาร่วมทำบุญ อุทิศส่วนกุศล ไปให้กับแม่ครูบัวชุม ในโอกาสครบรอบการเสียชีวิต 10 ปี ในเสียสละเพื่อส่วนรวม โดย นิมนต์ พระเถระ 7 รูป สวดมาติกา ถวายบังสุกุล สวดเจริญพุทธมนต์ ระลึกถึงคุณงามความดีของแม่ครู ซึ่งมีการสร้างกู่เก็บอัฐิ เก็บไว้ที่สถานปฎิบัติธรรมแห่งนี้ เพื่อให้คนรุ่นหลัง ได้ทราบประวัติความเป็นมา

เชียงใหม่ ชาวบ้านสันมะเกี๋ยงได้เฮ รัฐจัดงบฯ3.3ล้านสร้างประปาระบบ ป๊อกแทงค์

ชาวบ้านสันมะเกี๋ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ได้เฮ รัฐบาลจัดงบประมาณ 3.3 ล้านบาท ดำเนินโครงการจัดหาระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) หรือแบบ ป๊อกแทงค์ ชาวบ้านกว่า 120 หลังคาเรือนจะได้มีน้ำอุปโภค-บริโภคที่สะอาด


นายจิรชาติ ซื่อตระกูล นายอำเภอดอยสะเก็ด เดินทางมายังวัดสัมมะเกี๋ยง ตำบลสำราษราษฏร์ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบการดำเนินโครงการจัดหาระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) บ้านสันมะเกี๋ยง ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ. ศ. 2563 งบกลาง (งวดที่ 1)รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นในอำนาจของนายกรัฐมนตรี ผ่านรองนายกรัฐมนตรีนายอนุทิน ชาญวีรกูล คืบหน้ากว่าร้อยละ 70 ยืนยันเสร็จทันตามกรอบระยะเวลาอย่างแน่นอน ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการบนพื้นที่ของวัดสันมะเกี๋ยง โดยได้รับความเห็นชอบจากประชาชนและคณะทำงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มหาเถรสมาคมทำหนังสือยืนยันการอนุญาตให้ใช้พื้นที่วัดในการติดตั้งระบบผลิตน้ำประปา ซึ่งมีชาวบ้านสัมมะเกี๋ยงเดินทางมาดูการดำเนินงาน และรับมอบถุงยังชีพกับพระครูปลัดทวีวัฒน์ อินฺทวณฺโณ ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดสันมะเกี๋ยง และในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวง


ด้านนายเกษม ปารมีศิลป์ขจร นายกเทศมนตรีตำบลสำราษราษฏร์ เปิดเผยว่า สิ่งที่เทศบาลตำบลสำราษราษฏร์ และพี่น้องชาวบ้านสันมะเกี๋ยงได้รับการอนุเคราะห์ในครั้งนี้ ถือว่าทางรัฐบาลโดยเฉพาะท่านอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นปรากฏการณ์ในการเข้าถึงประชาชนในการดูและเรื่องสุขภาพอนามัยของพี่น้องชาวบ้าน เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านบริโภคน้ำสนิม ในหมู่บ้านชนบทประปาหมู่บ้านมาไม่ถึง ประปาหมู่บ้านที่ผ่านมาใช้ตามมีตามเกิดตามสภาพ การบำรุงรักษาการทำได้ยากเพราะระบบท่ออยู่ใต้ดิน ถังเก็บน้ำรั่วซึมหรือมีเชื้อโรคเจือปนก็ไม่ทราบ ระบบป๊อกแทงค์รุ่นใหม่ของรัฐบาลก็มั่นใจในคุณภาพ หากเกิดการรั่วซึมมีปัญหาเกิดขึ้นก็สามารถสองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอันดับแรก อันดับที่สองคุณภาพก็ได้รับการยอมรับในสากลก็ถือว่าคงจะมาช่วยพี่น้องชาวบ้านสันมะเกี๋ยงและชาวตำบลสำราษราษฏร์ได้อย่างใหญ่หลวง ตนเองก็ดีใจกับพี่น้องชาวบบ้านที่ได้รับป๊อกแทงค์ของรัฐบาลในครั้งนี้ ที่จะได้อุปโภคและบริโภคน้ำสะอาด เพื่อวถีชีวิตลากหญ้าแบบเราจะได้ดีขึ้น

พระครูปลัดทวีวัฒน์ อินฺทวณฺโณ ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดสันมะเกี๋ยง และในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวง เจริญพรว่า แทงค์น้ำผลิตน้ำประปาแบบ ป๊อกแทงค์ เป็นระบบใหม่ เป็นนวัตกรรมล่าสุดของประเทศไทย ซึ่งบ้านสันมะเกี๋ยง ชาวบ้านมีปัญหาในการใช้น้ำเพราะว่าน้ำเป็นสนิมตกตะกอน ทำให้สกปรกไม่สามารถจะบริโภคได้ ได้แต่อุปโภคคือใช้อาบล้างสิ่งของไม่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ สาเหตุเพราะว่าประปาหมู่บ้านสันมะเกี๋ยงสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 โดยกรมอนามัย มีคณะกรรมการหมู่บ้านดูแล ระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา ก็ทำให้เกิดการชำรุดทรุดโทรมตามสภาพกาลเวลา ทางวัดกับผู้ใหญ่บ้านสันมะเกี๋ยงได้พูดคุยกัน เรื่องงบประมาณในส่วนของนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อน จึงได้เสนอยื่นเรื่องการทำระบบ ป๊อกแทงค์ เป็นระบบประปาที่สามารถอุปโภคและบริโภคได้ และได้รับการอนุมัติงบฯ จำนวน 3,300,000 บาท เพื่อจะมาสร้างประปาหมู่บ้านแทนของเดิม ซึ่งระบบป๊อกแทงค์ จะเป็นการกรองน้ำจากด้านล่างขึ้นแทงค์ด้านบนปล่อยน้ำดีลงไปสู่บ้านเรือนชาวบ้าน ขณะที่ระบบเก่าจะเป็นการดูดน้ำจากด้านล่างขึ้นไปกรองด้านบนแทงค์เมื่อเกิดปัญหาก็จะซ่อมแซมได้ยาก

พระครูปลัดทวีวัฒน์ เจริญพรอีกว่า ระบบป๊อกแทงค์ ที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล วัดสันมะเกี๋ยงถือได้ว่า ได้รับงบประมาณเป็นแห่งแรกของทางภาคเหนือ การก่อสร้างก็ได้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง เหลือเวลาการก่อสร้างอีกประมาณ 30 กว่าวัน ที่ชาวบ้านจะได้ใช้น้ำจากป๊อกแทงค์ น้ำประปาที่สะอาด และหลายคนก็สอบถามว่า ทำไมต้องสร้างป๊อกแทงค์ภายในวัดสันมะเกี๋ยง ซึ่งบ้านสันมะเกี๋ยงไม่มีพื้นที่สาธารณะและมีข้อจำกัดว่า ต้องสร้างใกล้กับที่ประปาหรือแหล่งน้ำดิบเดิมจะสูบน้ำขึ้นมาได้ง่าย จึงอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในวัด บางคนสอบถามมาว่า ไม่กลัวแทงค์น้ำจะมาบังทัศนียภาพภายในวัดหรือ บังก็บังแต่ความเดือดร้อนของพี่น้องชาวบ้านสำคัญกว่าความงดงาม แต่ถ้าพี่น้องชาวบ้านได้อยู่ดีกินดี ก็จะมีกำลังใจกำลังในการพัฒนาวัดกลับคืนมา

ที่ผ่านมา พระของวัดสันมะเกี๋ยง ต้องเป็นผู้ทำความสะอาดเครื่องกรองน้ำแบบเก่าทุกวัน

เชียงใหม่ อำเภอดอยสะเก็ดจัดอบรมชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติระดับตำบล

อำเภอดอยสะเก็ดจัดอบรมโครงการฝึกอบรมชุดปฏิบัติการจิตอาสาอาสาภัยพิบัติ ประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รุ่นที่ 2 นำความรู้ที่ได้รับไปช่วยเหลือสังคม

ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอดอยสะเก็ด อำเภอดอยสะเก็ด จัดโครงการฝึกอบรมชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติ ประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รุ่นที่ 2 เทศบาลตำบลตลาดใหญ่ เทศบาลตำบลแม่ฮ้อยเงิน และเทศบาลตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 13-15 กรกฏาคม 2563 มีจิตอาสาทั้ง 3 ตำบลเข้าร่วมในการฝึกอบรมจำนวนทั้งสิ้น 150 คน โดยใช้สถานที่ที่หอประชุมอำเภอดอยสะเก็ดและสนามกีฬาเทศบาลตำบลดอยสะเก็ด เป็นสถานที่ฝึกอบรมตลอดทั้ง 3 วัน


นายอุดม อินคำ นายกเทศมนตรีตำบลแม่คือ กล่าวว่า เทศบาลตำบลแม่คือได้รับเป็นเจ้าภาพในการจัดโครงการฝึกอบรมชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติ ของอำเภอดอยสะเก็ด ประกอบไปด้วยตำบลตลาดใหญ่ ,ตำบลแม่ฮ้อยเงิน และตำบลแม่คือ ถือว่าเป็นรุ่นที่ 2 ซึ่งหลังจบการอบรมก็จะได้รับมอบประกาศนียบัตรจากท่านนายอำเภอดอยสะเก็ด การอบรมเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 กรกฏาคม เป็นการอบรมทฤษฏี วันที่ 14 กรกฏาคม ก็เป็นการอบรมในภาคปฏิบัติ เกี่ยวกับการลุยดับไฟ โรยตัวลงที่สูง ส่วนในวันที่ 15 กรกฏาคม วันสุดท้ายก็จะเป็นการอบรมกู้ชีพกู้ภัย เพื่อให้อาสาสมัครจิตอาสาได้มีประสบการณ์ นำความรู้ที่ได้รับไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยตำบลแม่คือเป็นแกนหลักในการอบรม มีผู้เข้าร่วมอบรมตำบลละ 50 คน รวม 150 คน ซึ่งอาสาสมัครจิตอาสาภัยพิบัติ


นายกเทศมนตรีตำบลแม่คือกล่าวอีกว่า ผู้ฝึกอบรมฯ เมื่อจบหลักสูตรออกมา ก็จะออกมาช่วยเหลือสังคม ช่วยพัฒนาคูคลองที่เป็นการช่วยเหลือสังคม บางส่วนจิตอาสาเหล่านี้ก็จะไปร่วม สร้างบ้านให้ผู้ยากไร้ โดยเทศบาลตำบลแม่คือ ได้รับงบประมาณจะเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่ โดยการประสานงานของนายอำเภอนายสะเก็ดและรองกิ่งกาชาดอำเภอดอยสะเก็ด ได้รับงบประมาณมา 1 แสนบาท ก็ได้อาศัยความช่วยเหลือจากจิตอาสาบริการ ไปช่วยรื้อบ้านสร้างบ้าน ซึ่งในวันนี้บ้านหลังดังกล่าวสร้างเสร็จแล้ว ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งงบประมาณที่ได้รับมา 1 แสนบาทเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ แต่การสร้างก็มีผู้มาร่วมไม่ว่าจะเป็นชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลแม่คือ ภาคประชาชน เอกชน และที่สำคัญได้รับความช่วยเหลือจากทหาร ป.พัน 7 ทหารกองพันพัฒนา อำเภอแม่ริม กองกำลังผาลาด นำกำลังพลมาช่วยในการก่อสร้างและร่วมบริจาค หิน-ดิน-ทราย กระเบื้องมุงหลังคา รวมมูลค่าการสร้างบ้านทั้งสิ้นเกือบ 2 แสนบาท แต่ใช้งบการสร้างบ้านเพียง 1 แสนบาทเท่านั้น นอกจากนั้นก็ต้องขอขอบคุณกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ ได้อนุมัติเงินให้กับผู้ยากไร้ซ่อมแซมบ้านนายเสรี ช่างการ เป็นเงิน 40,000 บาท และได้รับงบประมาณซ่อมแซมบ้านหลังละ 20,000 บาท อีกจำนวน 5 หลังในตำบลแม่คือ ดังนั้นการที่ดำเนินการซ่อมสร้างทั้งหมดนี้ ก็จะอาศัยจิตอาสาที่จะทำการอบรมครั้งนี้ เข้าไปสู่ตำบลและมาช่วยกันดำเนินงานเพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพี่น้องประชาชนมีความั่นคงในชีวิต ในความเป็นอยู่ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าจิตอาสาที่มาอบรมจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างยิ่ง

ด้านจิรชาติ ซื่อตระกูล อำเภอดอยสะเก็ด เปิดเผยว่า การอบรมจิตอาสาภัยพิบัติระดับตำบลอำเภอดอยสะเก็ดนั้น เป็นการฝึกอบรมจิตอาสาพระราชทานจิตอาสาภัยบัติ ซึ่งเป็นข้อสั่งการตามแนวทางของรัฐบาล และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกันว่า การร่วมกันแก้ไขปัญหาสสาธารณภัยซึ่งมีหลายระดับ หากมีความรุนแรงนายกรัฐมนตรีก็จะเป็นผู้สังการณ์ รองลงมาก็เป็นผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ส่วนในระดับท้องที่บทบาทสำคัญก็จะมาอยู่ที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกเทศบาล เป็นผู้อำนวยการป้องกันสาธารณภัยระดับพื้นที่ นอกจากจะเตรียมอุปรณ์ งบประมาณแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือให้พี่น้องประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขป้องกันสาธารณภัยก็คือ การที่จะมีการฝึกอบรมบุคคลในระดับพื้นที่เช่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน อสม. อฟปร.หรือพนักงานของท้องถิ่น มาฝึกอบรมเทศบาลหรือ อบต.ละ 50 คน ซึ่งจริงแล้วจะมีการฝึกอบรมมาตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ติดสถานการ์โควิส-19 จึงเลื่อนการอบรมมาในวันที่ 13-15 กค.นี้


สำหรับเป้าหมายเดิมของการฝึกอบรมก็เพื่อที่จะนำผู้ผ่านการฝึกอบรมก็จะเป็นกำลังหลักที่จะไปช่วยเหลือแก้ไขเรื่องไฟป่าหมอกควัน ซึ่งในช่วงมีนาคม-เมษายน จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบนประสบปัญหาหมอกควันไฟป่า ทั้งนี้คำว่าสาธารณภัยก็ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องหมอกควันไฟป่าแต่อย่างเดียว ภัยแบ่งออกเป็นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ เช่นภัยที่ 1 ดิน ๆ โคลนถล่มหรือแผ่นดินไหว เป็นสาธารณภัยอย่างหนึ่งที่จิตอาสาภัยพิบัติต้องเข้าไปช่วยเหลือ ภัยที่ 2 คือน้ำ น้ำมากก็เกิดน้ำท่วม น้ำน้อยก็เกิดภัยแล้ง ถ้าน้ำคลำก็เป็นน้ำเสีย ภัยที่ 3 คือ ลม ๆ คือลมพายุ ภัยต่อมาไฟ คือไฟไหม้ และสุดท้ายคือภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น สาธารณภัยทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการระเบิดพลีชีพ รถแก๊สระเบิด รถไฟชนกันผู้โดยสารเสียชีวิตจำนวนมาก เฉพาะฉะนั้นก็เป็นบทบาทหน้าที่ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมโดยเฉพาะอาสาสมัครจิตอาสาภัยพิบัติ ซึ่งเป็นจิตอาสาพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการแก้ไขปัญหาสารธารณภัยทั้งหลาย ซึ่งกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ มีการแบ่งหน้าที่กันทำไม่วาจะเป็นด้านการเตรียมการ ด้านการสนับสนุน ด้านอาหาร ด้านเผชิญเหตุ และด้านการช่วยเหลือ เยียวยา หลังภัยเกิดขึ้นแล้ว เป็นเรื่องที่พวกเรามีการเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วน