เชียงใหม่ ตชด.ภาค 3 พร้อม ปปส.และฝ่ายปกครองบุกทำลายไร่ฝิ่น

เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 พร้อม ปปส. และฝ่ายปกครอง เข้าตัดทำลายไร่ฝิ่นในพื้นที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ พบแอบลักลอบปลูกในพื้นที่ประมาณ 200 ตาราวาง มีดอกฝิ่นกำลังออกดอกสวยงาม ความสูงประมาณ 1 เมตร พบบางดอกมีการกีดเอายางฝิ่นออกไปแล้ว ส่วนผู้กระทำความผิดไม่สามารถจับกุมได้ ซึ่งคาดว่า เป็นชาวเขาที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงแอบลักลอบปลูก

ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 พล.ต.ต.สมกูล กาญจณอุดมการณ์ ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 ได้สั่งการให้ พันตำรวจเอกรังสิมันต์ สงเคราะห์ธรรม รองผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดปราบปรามยาเสพติด และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอแม่วาง นำกำลังบุกเข้าตัดทำลายไร่ฝิ่นที่ปลูกในพื้นที่บ้านม้งห้วยเย็น หมู่ 13 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งลักลอบปลูกฝิ่นในพื้นที่ประมาณ 200 ตารางวา โดยดอกฝิ่นกำลังออกดอกสวยงามมีความสูงประมาณ 1 เมตร และดอกฝิ่นบางดอกก็มีการกีดเอายางฝิ่นไปแล้ว เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าทำการตัดทำลาย ส่วนผู้กระความผิดนั้นไม่สามารถจับกุมได้ ซึ่งคาดว่า เป็นชาวเขาที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงแอบลักลอบปลูก

พันตำรวจเอกรังสิมันต์ สงเคราะห์ธรรม รองผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 เปิดเผยว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ให้ดำเนินการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งจากการสืบทราบจากทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอแม่วางและเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด โดยพื้นที่จุดนี้เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้เข้าสำรวจมานาน แต่ในปีนี้ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอแม่วาง ได้แจ้งเบาะแสว่ามาว่า มีกลุ่มชาวเขาแอบลักลอบเข้ามาปลูกฝิ่นในพื้นที่อีกครั้ง เจ้าหน้าที่ยังได้นำเฮลิคอบเตอร์ของกองบินตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำการขึ้นบินสำรวจในพื้นที่ก็พบว่า มีแปลงปลูกฝิ่นลักลอบปลูกในพื้นที่หลายจุดจึงเข้าตัดทำลาย 

ด้านเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด เปิดเผยว่า การลักลอบปลูกฝิ่นทางภาคเหนือหลักใหญ่ก็จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน.ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็มีประปราย โดยพื้นที่การปลูกฝื่นลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งมีพื้นที่ปลูกฝิ่นมากกว่าพันไร่ แต่ด้วยมาตรการตัดทำลายรวมทั้งการบูรณาการร่วมกับคนในพื้นที่และหน่วยที่เข้าตัดฟันทำลาย โดยเฉพาะทางตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 ทางกองทัพภาคที่ 3 แบ่งพื้นที่รับผิดชอบกันร่วมตัดทำลายฝิ่นอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่การปลูกฝิ่นลดลงตามลำดับ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วมีพื้นที่ปลูกฝิ่นอยู่ที่ 120 ไร่ ปีนี้พื้นที่ปลูกฝื่นก็น่าจะลดน้อยลงไปคงเหลือไม่เกิน 100 ไร่ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกฝิ่นอยู่ที่ 90 ไร่เศษ เท่านั้นเอง

สำหรับบ้านม้งห้วยเย็น หมู่ 13 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่อยู่บนยอดดอยสูง มีอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปีราษฏรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้ง ประกอบอาชีพปลูกพืชผักตลอดทั้งปี

เชียงใหม่ บวงสรวงไอ้ไข่ ไถ่ชีวิตโค วัดสันมะเกี๋ยง

เชิญชวนร่วมงานทำบุญไถ่ชีวิตโคกระบือ และบวงสรวงไอ้ไข่วัดสันมะเกี๋ยง 27 ก.พ.เวลา 13.00 น.

เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานในเดือนแห่งความรักความเมตตา ทางวัดสันมะเกี๋ยง ตำบลสำราญราษฎร์ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ขอเชิญชวนร่วมมอบความรักความเมตตาไถ่ชีวิตโคกระบือ จากโรงฆ่าสัตว์ ในโครงการไถ่ชีวิตโคกระบือวัดสันมะเกี๋ยงเป็นปีที่ 3 เพื่อ นำโคกระบือ ไปเลี้ยงไว้ที่ศูนย์การเรียนรู้ไถ่ชีวิตโคกระบือวัดวันมะเกี๋ยงในรอบนี้จะได้ไถ่ชีวิตควายเผือกที่ตั้งท้องแก่ 2 ตัวจากโรงฆ่าสัตว์ อานิสงค์ของการไถ่ชีวิตสัตว์ ทำให้มีอายุยืน แก้ดวงปีชง สะเดาะเคราะห์ แก้วิบากรรมต่างๆ

ทางวัดสันมะเกี๋ยงได้กำหนดจะทำพิธีไถ่ชีวิต และมอบโคกระบือในวันอาทิตย์ ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 15.00 น. และวันเดียวกัน ช่วงเวลา 13.00 น.ทางวัดสันมะเกี๋ยง จะประกอบพิธีทำบุญประจำเดือนก่อน คือพิธีบวงสรวงไอ้ไข่ประจำเดือนกุมภาพันธ์ มีพิธีเบิกเนตรไอ้ไข่ทันใจ โดยครูบาทันใจ วัดดอยห้างบาตร อธิฐานจิต

สำหรับวัดสันมะเกี๋ยง เป็นวัดเก่าแก่ กำลังพัฒนาบูรณะวัดให้สมบูรณ์ มีพระสงฆ์จำนวน 30 รูป ทางวัดสันมะเกี๋ยงปลูกพืชผักสวนครัวไว้ในวัดเพื่อเป็นอาหารของพระสงฆ์ ศรัทธาประชาชนร่วมบริจาคเมล็ดพืช-ผักสวนครัว หรือกล้าพันธุ์ผัก มอบได้ที่วัด ส่วนการทำบุญประจำเดือนกุมภาพันธ์ วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ ทุกท่านสามารถร่วมบุญได้ที่ กองทุนไถ่ชีวิตโคกระบือวัดสันมะเกี๋ยง 553-0-40721-8 ธนาคารกรุงไทย หรือสอบถามร่วมบุญที่ 089-5584332 ได้.

เชียงใหม่ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพร้อมคณะฯ ตรวจเยี่ยมโครงการแรงงานพันธุ์ดีฯที่ ปางช้างแม่สา

รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพร้อมคณะฯ ตรวจเยี่ยม โครงการแรงงานพันธุ์ดีฯที่ ช้างปางแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

เมื่อวันที่ 24 ก.พ.65 เวลา 14.00 น. นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา ให้การต้อนรับ นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมคณะฯ ที่เดินมาติดตามและเข้าชมแปลงผัก ตามโครงการกิจกรรม “แรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง” ตามที่ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการปางช้างแม่สา เข้าร่วมกิจกรรมแรงงานพันธุ์ดีตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ตามวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ นายจ้างจัดสวัสดิการนอกเหนือกฎหมายให้แก่ลูกจ้าง โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ได้แก่ ที่ดิน หรือที่ว่างเปล่าบริเวณสถานประกอบกิจการ ให้ลูกจ้างดำเนินการเพาะปลูกพืขสวนครัว พืชผลทางการเกษตร หรือเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้ลูกจ้างนำผลผลิตมาบริโภค ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการครองชีพ และสามารถนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคไปจำหน่ายในชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาเป็นอาชีพใหม่ อันเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจพอเพียง

ซึ่งทางควาญช้างและพนักงานของปางช้างแม่สา เชียงใหม่ ได้ร่วมดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ โดยได้ร่วมกันปลูกผักเป็นคลังครัวส่วนกลาง เพื่อนำมาปรุงอาหาร เลี้ยงพนักงานในปางช้างกว่า 100 คน ซึ่งสามารถทำให้ลดค่าใช้จ่าย ในการจัดซื้อพืชผักได้มากเกือบเดือนละ 2 หมื่นบาท  โดยได้ร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัว ในพื้นที่ว่างของปางช้างและบ้านพักคนงาน ทั้งผักบุ้ง ผักสลัด โหระพา มะเขือ ผักกาด ผักคื่นช่าย และใช้ปุ๋ยมูลช้างมาบำรุงให้กับพืชผัก ทำให้เป็นพืชผักปลอดสารพิษ และพืชผักออกผลผลิตมีขนาดใหญ่ และสมบูรณ์ โดยใช้เวลาปลูกแค่ 45 วัน ก็สามารถเก็บมาปรุงอาหารเมนูต่างๆได้ เพื่อเลี้ยงครอบครัวและพี่น้องควาญช้าง พนักงานในปางกว่า 100 คน

นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา เผยว่า ปางช้างแม่สาได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานซึ่งโครงการนี้มีสถานประกอบการ เข้าร่วมมากเกือบ 100 แห่ง ทั่วประเทศ ในส่วนของปางช้างแม่สา ได้เข้าร่วมโครงการนี้ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย หรือค่าปรุงอาหารส่วนกลางวันละ 600 บาท ตกเดือนละ 18,000 บาท ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้

ทางด้านนาย เดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า โครงการนี้เริ่มมาได้ประมาณ 1 ปี โดยมีสถานประกอบการทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการมากถึง 99 แห่ง ซึ่งในปีนี้ได้ตั้งเป้าไว้ 300 แห่ง ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้ปลูกผัก เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายลูกจ้าง ถ้าสถานประกอบการบางแห่งปลูกผักแล้วเหลือ ก็สามารถแบ่งปันชุมชน หรือต่อยอดนำไปขาย ซึ่งทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะได้ขยายโครงการไปเรื่อยๆ โดยได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ จากภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นโครงการดี ในยุคของสถานการณ์โควิด -19 นี้

เชียงใหม่ นิสสัน ส่งนาวารา ลุยภารกิจพิชิตไฟป่า เสริมทัพทีม เหยี่ยวไฟ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

เนื่องในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถือเป็นวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า สำนักงานป้องกันรักษาและควบคุมไฟป่า ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) และ นิสสัน ประเทศไทย จัดโครงการพิเศษ “NISSAN NAVARA PRO-4X FIRE RESCUE TEAM กล้า…เพื่อคนแกร่ง” ส่งมอบนิสสัน นาวารา PRO-4X กระบะกล้าเพื่อคนแกร่ง พร้อมเครื่องเป่าลมแบตเตอรี่ สำหรับดับและไล่ไฟป่า ให้แก่ชุดปฏิบัติงานพิเศษเหยี่ยวไฟ เพื่อภารกิจควบคุมเพลิงตามแนวป่าได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว เสริมกำลังพิชิตภารกิจพิทักษ์ทรัพยากรป่า บรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ

ที่ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่า อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ พล.ต.ประสิษฐิพงศ์ มูลดี รองผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ,นายชลิต ทิพย์คำ นายอำเภอแม่ออน ,นางสาวจันทร์เพ็ญ เกษตรสินธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟเชียงใหม่ ,นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) พร้อมด้วย, มร.มาซาโอะ สึสึมิ รองประธานสายงานการตลาดและการขาย นิสสัน ประเทศไทย ร่วมทำพิธีส่งมอบรถและอุปกรณ์สนับสนุนชุดปฏิบัติการพิเศษ “ทีมเหยี่ยวไฟ” และเปิดภารกิจ “NISSAN NAVARA PRO-4X FIRE RESCUE TEAM กล้า…เพื่อคนแกร่ง” ส่งมอบนิสสัน นาวารา PRO-4X กระบะกล้าเพื่อคนแกร่ง พร้อมเครื่องเป่าลมแบตเตอรี่ สำหรับดับและไล่ไฟป่า ให้แก่ชุดปฏิบัติงานพิเศษเหยี่ยวไฟ เพื่อภารกิจควบคุมเพลิงตามแนวป่าได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว เนื่องในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถือเป็นวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า

จากข้อมูลด้านสถานการณ์ไฟป่าในประเทศไทยพบว่า สถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ป่าเขาเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์ รวมถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเพิ่มความรุนแรงในทุกปี มีพื้นที่ป่าได้รับความเสียหายปีละกว่าแสนไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีการเกิดไฟป่าขึ้นมากที่สุดในภาคเหนือ ประกอบกับสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง รวดเร็ว และเป็นบริเวณกว้างนั้น ไม่สอดคล้องกับจำนวนเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก อีกทั้งยังขาดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าให้สำเร็จได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที จนเกิดการลุกลาม ส่งผลต่อการสูญเสียทรัพยากรป่า และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง ทั้งทางด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ

มร. มาซาโอะ สึสึมิ รองประธานสายงานการตลาดและการขาย นิสสัน ประเทศไทย กล่าวว่า “นิสสัน ประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญของภารกิจควบคุมไฟป่า ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพอากาศและคุณภาพชีวิต ที่ดีของประชาชน จึงได้จัดตั้งภารกิจพิเศษ “NISSAN NAVARA PRO-4X FIRE RESCUE TEAM กล้า…เพื่อคนแกร่ง” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของนิสสันที่จะช่วยสนับสนุนชุดปฏิบัติงานพิเศษทีม “เหยี่ยวไฟ” จังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานป้องกันและควบคุมเพลิงตามแนวป่า ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า โดยการสนับสนุน นิสสัน นาวารา PRO-4X จำนวน 2 คัน สำหรับใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจ อำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าจุด Hot spot ที่ยากลำบาก ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ด้วยการเป็นรถที่มีมรรถนะสูง เครื่องยนต์ทวินเทอร์โบ และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ใช้งานง่าย ทำให้สามารถพาเจ้าหน้าที่เดินทางไปได้ทุกเส้นทางทั้งออนโรด และออฟโรดที่สมบุกสมบัน ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเขาที่สูงชัน หรือเส้นทางที่ต้องขับลุยผ่านทางน้ำต่าง ๆ ซึ่งไม่มีถนนเข้าถึง พร้อมเทคโนโลยีความปลอดภัยอัจฉริยะ อำนวยความสะดวกให้การเดินทางปลอดภัยยิ่งขึ้น อาทิ กล้องมองรอบคันในโหมด off-road ที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่มองเห็นสภาพพื้นผิวเส้นทาง และทัศนวิสัยรอบรถได้ครบ 360 องศา สามารถลุยไปได้ทุกพื้นที่ที่เกิดเหตุไฟป่า อย่างมั่นใจและปลอดภัย พร้อมเป็นผู้ช่วยสำคัญของทีมเหยี่ยวไฟ สำหรับทุกภารกิจ นอกจากนี้ นิสสันยังได้มอบเครื่องเป่าลมแบตเตอรี่ (Battery Powered Blower) เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ดับและไล่ไฟป่า จำนวน 5 ชุด ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษด้วยการใช้ระบบพลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมันเบนซิน ทำให้มีน้ำหนักเบา ปลอดภัย สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติภารกิจควบคุมไฟป่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ปลอดภัยและรวดเร็วขึ้น”


นางสาวจันทร์เพ็ญ เกษตรสินธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นพื้นที่ที่เกิดไฟป่าเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย หากพิจารณาจากสถิติจะพบว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีพื้นที่เกิดเหตุไฟป่าทั้งหมด 100,704 ไร่ โดยเกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ 84,418 ไร่ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่เกิดไฟป่าเฉลี่ย 33,369 ไร่ ต่อปี หรือประมาณ 39% ของพื้นที่เกิดเหตุของภาคเหนือทั้งหมด อีกทั้งไฟป่าได้มีการลุกลามและกินระยะเวลานานขึ้นเป็นเท่าตัว จากเดิม 2 เดือนต่อปี ปัจจุบันนานถึง 4 เดือนต่อปี นับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับประเทศที่เรื้อรัง โดยส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในสังคม สร้างมลพิษทางอากาศ ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน โดยพบว่า ประชาชนชาวเชียงใหม่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเผยให้เห็นว่าคนเชียงใหม่เป็นมะเร็งปอดสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย

ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟเชียงใหม่ ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่จำนวน 20 คน ที่นอกจากจะต้องดูแลพื้นที่กรมป่าไม้ทั้งหมดในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเกิดไฟป่าปีละไม่ต่ำกว่า 1,305 ครั้ง แต่ละครั้งกินพื้นที่ไม่น้อยกว่า 20 ไร่ ทุกปีทีมเหยี่ยวไฟต้องปฏิบัติหน้าที่หลากหลายและทำงานอย่างหนักทั้งการเฝ้าระวัง ป้องกัน และปฏิบัติภารกิจประสานงานเพื่อดับไฟป่า รวมถึงการสนธิกำลังกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ต่าง ๆ ดูแลงานบรรเทาสาธารณภัย พร้อมทั้งอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านเรื่องไฟป่าอีกด้วย

เชียงใหม่ กองกำลังผาเมืองเร่งสร้างเครือข่ายผู้นำหมู่บ้าน ชุมชนเข้มแข็ง แก้ไขปัญหาตามแนวชายแดน

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ส่วนแยก 2 กองกำลังผาเมืองเร่งสร้างเครือข่ายผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็ง แก้ไขปัญหาตามแนวชายแดน
วันที่ 21 ก.พ.65 พล.ต. นฤทธิ์ ถาวรวงษ์ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง เปิดเผยว่า กองกำลังผาเมือง/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ส่วนแยก 2 เร่งสร้างเครือข่ายผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็ง สนับสนุน การปฏิบัติงานของชุดพัฒนาสัมพันธ์มวลชนและชุดวิทยากรกระบวนการ ซึ่งปัจจุบันรับผิดชอบพื้นที่ 19 อำเภอชายแดน ของ 6 จังหวัด (จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก) และอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีหมู่บ้านเป้าหมายในการดำเนินการ 315 หมู่บ้าน

นอกจากนี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ส่วนแยก 2 ได้มีการฝึกอบรมราษฎรอาสาป้องกันภัยยาเสพติดประจำหมู่บ้าน เพื่อเฝ้าระวัง, แจ้งเตือน, และติดตามผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดตามแนวชายแดน ควบคู่กับการจัดตั้งกองกำลังภาคประชาชนและการอบรมเยาวชน SMART HERO มุ่งเน้นฝึกให้เยาวชนมีจิตอาสาในการร่วมพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาสามารถจัดตั้งชมรมเยาวชนอาสาพัฒนาหมู่บ้านจำนวน 125 หมู่บ้าน จากปี 64 จำนวน 105 หมู่บ้าน ปี 65 จำนวน 20 หมู่บ้าน

อย่างไรก็ตามกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ส่วนแยก 2 กองกำลังผาเมืองได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อให้คณะกรรมการหมู่บ้านนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามต่างๆ ภายในหมู่บ้าน ตลอดจนการนำกองกำลังภาคประชาชนบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับหมู่บ้าน โดยการลาดตระเวน, การตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด และการให้ข้อมูลข่าวสารกับหน่วยป้องกันชายแดน เพื่อนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย ในพื้นที่ได้

เชียงใหม่ จังหวัดสุโขทัย จัดงาน ทอ ทัก จัก สาน งานศิลป์ดินปั้น ที่ลานโปรโมชั่น ศูนย์การค้า เซลทรัล เชียงใหม่แอร์พอร์ต

จังหวัดสุโขทัย จัดงาน ทอ ทัก จัก สาน งานศิลป์ดินปั้น ที่ลานโปรโมชั่น ศูนย์การค้า เซลทรัล เชียงใหม่แอร์พอร์ต นำผู้ประกอบการ เครื่องเงิน และเครื่องทอง กลุ่มผ้าทอ เครื่องสังคโลก เครื่องปั้นดินเผา หัตถกรรมจากไม้ และพุทธศิลป์ มากกว่า 50 ร้านค้า มาจำหน่าย เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด งานจะมีไปจนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565

ที่ลานโปรโมชั่น ศูนย์การค้าเซลทรัล เชียงใหม่แอร์พอร์ต นาง พัชรอร วงศ์กำแหง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เปิดงาน ทอ ทัก จัก สาน งานศิลป์ ดินปั้น เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด ผู้ประกอบการจากจังหวัดสุโขทัย 50 สถานประกอบการ โดยมีการจัดแสดงผลงาน เผยแพร่และจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมอุตสาหกรรม พร้อมจับคู่ธุรกิจระหว่างเมืองสร้างสรรค์ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมรายได้ให้กับผู้ประกอบการ 5 ประเภท

มีทั้งเครื่องทองเครื่องเงินโบราณสุโขทัย ผ้าทอ เครื่องสังคโลก เครื่องปั้นดินเผา หัตถกรรมจากไม้ และพุทธศิลป์ โดยมีผู้ประกอบการเครื่องทอง- เครื่องเงินจำนวน 15 สถานประกอบการ กลุ่มผ้าทอ 26 สถานประกอบการ และกลุ่มสังคโลกและเครื่องปั้นอีก 9 สถานประกอบการ มาเปิดร้านจำหน่าย ให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เลือกซื้อถึงที่ ซึ่งแต่ละชิ้นงานมีความสวยงามมาก พร้อมทั้งมีนางแบบและนายแบบมาเดินโชว์สินค้า ประเภทผ้าทอ และเครื่องเงินเครื่องทองลายโบราณ ที่สวยงาม โดยงานจะมีไปจนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 นี้

เชียงใหม่ สาวงามเผ่าปกาเกอะญอ คว้าตำแหน่งธิดาดอยเชียงใหม่ ประจำปี 2565

มุก วรางคณา ระวังงาน สาวงามจากชนเผ่าปกาเกอะญอ คว้าตำแหน่งเจ้าดวงดอกไม้ เชิดชูคุณค่า ความสง่างามแห่งชาติพันธุ์ ในการประกวดธิดาดอยประจำปี 2565 พร้อมเป็นตัวแทนสานต่อด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์

ค่ำวันนี้ (18 ก.พ. 65) นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการปิดงาน “มนต์เสน่ห์สีสัน วัฒนธรรมชาติพันธุ์เชียงใหม่” ณ ลานกิจกรรม ตรงข้ามสวนเฉลิมพระเกียรติ 82 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา

โดยไฮไลท์ในวันนี้ คือ การประกวดธิดาดอยเชียงใหม่ ประจำปี 2565 ในรอบชิงชนะเลิศ โดยตั้งแต่ช่วงค่ำที่ผ่านมามีประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เดินทางมาร่วมให้กำลังใจผู้เข้าประกวดธิดาดอยเชียงใหม่ในครั้งนี้ จำนวนมาก ซึ่งเป็นการประชันกันของสาวงาม ที่ผ่านการคัดเลือกการประกวดและมีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่ง จนผ่านเข้ามาสู่ในรอย 15 คนสุดท้าย โดยสาวงามทั้ง 15 คนสุดท้าย ได้เดินเปิดตัวด้วยชุดประจำชนเผ่าของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ก่อนที่จะมีการคัดเลือกสาวงามจากคณะกรรมการให้เหลือเข้าสู่รอบ 10 คน และ 5 คนสุดท้าย ตามลำดับ

สำหรับในรอบ 5 คนสุดท้าย ซึ่งถือเป็นรอบตัดสินของการประกวด ได้มีการเดินโชว์ตัวของสาวงาม พร้อมทั้งจับสลากตอบคำถามตามที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้ เพื่อเป็นการแสดงทัศนคติและเป็นการทดสอบปฏิภาณไหวพริบของสาวงามแต่ละคน ทั้งนี้ ผลปรากฏว่า สาวงามที่ชนะการประกวด และได้รับตำแหน่งเจ้าดวงดอกไม้ เชิดชูคุณค่า ความสง่างามแห่งชาติพันธุ์ ในเวทีการประกวดธิดาดอยเชียงใหม่ ประจำปี 2565 นี้ ได้แก่ ผู้เข้าประกวดหมายเลข 30 นางสาววรางคณา ระวังงาน หรือ “น้องมุก” สาวงามจากชนเผ่าปกาเกอะญอ คว้ามงกุฎประจำตำแหน่งพร้อมสายสะพายไปครอง พร้อมโล่รางวัล และเงินรางวัลอีก 30,000 บาท โดยหลังจากนี้ จะเป็นตัวแทนในการสานต่อด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ต่อไป

ขณะที่ รางวัลรองอันดับ 1 ได้แก่ หมายเลข 22 นางสาวปุณณิกานต์ พนาวัลย์คีรี จากชนเผ่าปกาเกอะญอ ได้รับมงกุฎประจำตำแหน่งพร้อมสายสะพาย โล่รางวัล และเงินรางวัล 20,000 บาท และ รางวัลรองอันดับ 2 ได้แก่ หมายเลข 23 นางสาวน้ำพลอย มัศยาวงค์ จากชนเผ่าลีซู ได้รับมงกุฏประจำตำแหน่ง พร้อมสายสะพาย โล่รางวัล และเงินรางวัล 10,000 บาท ส่วนรองอันดับ 3 ได้แก่ หมายเลข 13 นางสาวขวัญใหม่ เริงไม จากชนเผ่าม้ง และรองอันดับ 4 ได้แก่ หมายเลข 16 นางสาวประภัสสรา แซ่เฉิ่น จากชนเผ่าลีซู

เชียงใหม่ เลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 3 ขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันไฟป่า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสู่ความยั่งยืน

เลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 3 ขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันไฟป่า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสู่ความยั่งยืน ตามนโยบาย แม่ทัพภาคที่ 3
วันที่ 17 ก.พ.65 ภายหลังจากที่ภาคเหนือเริ่มมีจุดความร้อนสะสมเพิ่มขึ้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 /ผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 มอบหมายให้ พล.ต.วีรวัฒน์ วิวัฒน์วานิช เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันไฟป่า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสู่ความยั่งยืน ในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมกับ พล.ต.ประสิษฐิพงศ์ มูลดี รองผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โครงการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันไฟป่า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสู่ความยั่งยืนหรือโครงการเชียงใหม่โมเดล เกิดจากการที่จังหวัดเชียงใหม่ได้บูรณาการหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทำเป็นเชื้อเพลิงและเชื้อเพลิงอัดแท่งมาใช้ในอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันไฟป่า เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 ที่เป็นต้นทาง ซึ่งเกิดจากการเผาไร่กำจัดวัชพืชหรือเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังเก็บเกี่ยว ส่วนใหญ่เป็นต้นและตอข้าวโพด รวมทั้งเศษกิ่งใบไม้จากลำไย และผลไม้อื่นๆ ซึ่งมีปริมาณวัตถุดิบในแต่ละฤดูกาล รวมกว่า 900,000 ตัน/ปี โดยทุกปีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเหล่านี้จะถูกเผาทิ้ง ส่งผลให้เกิดหมอกควัน pm 2.5 ครอบคลุมบริเวณกว้างและระยะเวลานาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เศรษฐกิจ วิถีชีวิตและการท่องเที่ยวทางภาคเหนือ

จังหวัดเชียงใหม่จึงจัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสู่ความยั่งยืน โดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทำเป็นเชื้อเพลิงและเชื้อเพลิงอัดแท่งใช้ในอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี แม่ทัพภาคที่ 3 /ผอ.รมน.ภาค 3 เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน เพื่อเข้าสู่การพิจารณา ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ในช่วงเดือนมี.ค.2565

ทั้งนี้กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า ยังคงติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมในการแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่

เชียงราย กองกำลังผาเมืองสกัดแรงงานผิดกฎหมาย 30 คน ด้าน อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย

กองกำลังผาเมืองสกัดแรงงานผิดกฎหมาย 30 คน ด้าน อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย ผลการปฏิบัติสามารถจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สัญชาติเมียนมา จำนวน 30 คน เป็นชาย 9 คน, หญิง 21 คน โดยเสียค่าใช้จ่ายให้กับผู้นำพาชาวเมียนมา คนละ 28,000 บาท

เมื่อ 17 ก.พ. 65 กองกำลังผาเมืองโดย กองบังคับการควบคุมสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดที่ 3 กองกำลังผาเมืองร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 ลงพื้นที่ลาดตระเวนเฝ้าตรวจ บริเวณ บ.ผาหมี หมู่ 6 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้ตรวจพบกลุ่มบุคคลต้องสงสัย จึงขอทำการตรวจค้น ผลการปฏิบัติสามารถจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สัญชาติเมียนมา จำนวน 30 คน เป็นชาย 9 คน, หญิง 21 คน จากการสอบถามให้การรับสารภาพว่า เดินทางมาจากบ้านสามปี สหภาพเมียนมา ลักลอบเข้ามาในประเทศไทย เพื่อจะไปหางานทำที่ กทม. โดยเสียค่าใช้จ่ายให้กับผู้นำพาชาวเมียนมา คนละ 28,000 บาท หน่วยจึงได้นำผู้ต้องหาส่ง สภ.แม่สาย เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

นอกจากนี้ในพื้นที่ชายแดนยังจัดให้มีการฝึก การจัดตั้ง และการใช้กำลังประชาชน เพื่อสนับสนุนภาครัฐดูแลความปลอดภัยในพื้นที่และสนับสนุนการปฏิบัติทางทหาร ทั้งการพัฒนาเพื่อความมั่นคงและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนการป้องกันและปราบปรามกระทำผิดกฎหมาย โดยร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการควบคุมช่องทาง/ท่าข้าม, การจัดระเบียบหมู่บ้าน/ชุมชน การปราบปรามกระทำผิดกฎหมาย ในพื้นที่รับผิดชอบตามแนวชายแดน เพื่อให้พื้นที่ชายแดน มีความปลอดภัย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วย

 

เชียงใหม่ บก.คฟป.ทภ.3 สน. เตรียมความพร้อมอากาศยานไร้คนขับ UAV รุ่น Hermes 450 เพื่อใช้ในการบินลาดตะเวนตรวจจุดความร้อน

บก.คฟป.ทภ.3 สน.เตรียมความพร้อมอากาศยานไร้คนขับ UAV รุ่น Hermes 450 (เฮอร์เมส)เพื่อใช้ในการบินลาดตะเวนตรวจจุดความร้อน ก่อนนำกำลังภาคพื้นเข้าดับไฟ

วันที่ 17 ก.พ.65 พล.ต.ประสิษฐิพงศ์ มูลดี รองผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 พร้อมคณะตรวจเยี่ยม ทีม UAV : อากาศยานไร้คนขับ เพื่อใช้ในการบินลาดตะเวนตรวจจุดความร้อนในห้วงที่เกิดจุดความร้อนในพื้นที่ภาคเหนือที่กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังที่กองทัพบกได้ให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 3 ห้วงวันที่ 14 ก.พ. – 15 มี.ค.65 เพื่อเตรียมการติดตั้งระบบควบคุมภาคพื้นระหว่างทางขับและทางวิ่ง รวมถึงติดตั้ง arresting cable (อุปกรณ์ใช้ร่วมกับระบบขึ้น -ลงอัตโนมัติ) บริเวณขอบทางวิ่ง เมื่อได้รับอนุญาตจากท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่

ทั้งนี้อากาศยานไร้คนขับ UAV รุ่น Hermes(เฮอร์เมส) 450 สามารถปฏิบัติการได้ทั้งกลางวันและกลางคืน มีเพดานบินสูงสุด 18,000 feet บินได้นาน 18 ชั่วโมง พิสัยปฏิบัติการ 250 กิโลเมตร น้ำหนักระบบ 345 กิโลกรัม สามารถวิ่งขึ้นด้วยน้ำหนักบรรทุกสูงสุดได้ 490 กิโลกรัม เพื่อปฏิบัติการ ISR (Intelligence Surveillance and Reconnaissance) โดยการใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ใช้ระบบตรวจจับ หรือ Sensor จากอากาศยานไร้คนขับ และข้อมูลจากดาวเทียม เพื่อการหาจุดความร้อน (Hotspot) ที่เป็นแหล่งกำเนิดของไฟ โดยทำการบูรณาการสัญญาณภาพจากระบบตรวจจับทุกส่วน รวบรวมส่งมายังส่วนบัญชาการและควบคุมในลักษณะ Near Real Time เพื่อให้ผู้บัญชาการสถานการณ์ และหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ทราบถึงพิกัดและเข้าควบคุมไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ รวมทั้งจัดทำเป้าหมายที่ตรวจพบให้กับกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า และศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อวางแผนจัดชุดดับไฟป่า ชุดลาดตระเวน เข้าไปยังพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้การดับไฟป่าแต่ละครั้งตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ อากาศยานไร้คนขับ (UAV) สามารถตรวจจับจุดความร้อนที่เป็นลักษณะไฟที่มอด แต่ยังมีเชื้อไฟที่มีขนาดเล็กได้ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทำการดับไฟป่าได้ 100%