เชียงใหม่ อำเภอเมืองส่งเสริมประชาชนปลูกผักปลอดสารพิษ สู้ Covid-19

อำเภอเมืองเชียงใหม่ร่วมกับเทศบาลเมืองแม่เหียะส่งเสริมประชาชนปลูกผักปลอดสารพิษ สู้ Covid-19 หวังสร้างความมั่นคงทางอาหาร

วันนี้ ( 3 ก.ค. 63) ณ ธนาคารกิ่งไม้ใบไม้ เชิงวัดพระธาตุดอยคำ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ นายสราวุฒิ วรพงษ์ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดโครงการ ปลูกผักปลอดสารพิษ สู้Covid-19 ภายใต้การดำเนินโครงการส่งเสริมกิจกรรมตามแนวพระราชดำริ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คาดหวังให้ทุกครัวเรือนมีการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน

เทศบาลเมืองแม่เหียะ นำโดยนายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ นำคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์กรเครือข่ายชุมชน และประชาชนเมืองแม่เหียะ เข้าร่วมกิจกรรม โดยสำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมให้ทุกครัวเรือนมีการปลูกผักสวนครัว ให้ครอบคลุมทุกอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และสามารถดำเนินชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยจากวิกฤตโรคไวรัสโควิด –19ที่ระบาดในปัจจุบัน มีพืชผักสวนครัวที่ปลอดภัยบริโภคในครัวเรือน เหลือจากการกินก็นำไปขาย หรือแบ่งปันกันในชุมชน เป็นความสุขเล็กๆ ที่เกิดขึ้นใกล้ตัวในทุกๆวัน ตามแนวคิด “อิ่มท้อง อิ่มใจ ประหยัด แถมด้วยรายได้และมิตรไมตรี”


ภายในงานนายสุวรรณ เกตุดำ พัฒนาการอำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้มอบเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัวจำนวน 7 ชนิดแก่เทศบาลฯเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาดหัว ถั่วฝักยาว พริก มะเขือเปราะ มะเขือเทศ แมงลัก และผักบุ้ง กิจกรรมการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชผักสวนครัว โดยเกษตรอำเภอเมืองเชียงใหม่ การสาธิตวิธีการปลูกและฝึกปฏิบัติการเพาะปลูกพืชผักสวนครัว อาทิการปลูกผักในขวดพลาสติก และวัสดุเหลือใช้ ประยุกต์ให้เหมาะกับครัวเรือนที่มีพื้นที่จำกัด ง่ายต่อการดูแลรักษา อีกทั้งยังช่วยลดโลกร้อนอีกด้วย


นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 กลายเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ ของโลกมีผู้ป่วยกระจายไปทั่วโลก และเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกจำนวนมาก นอกจากนี้ยังส่งกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับจังหวัดเชียงใหม่ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้รณรงค์ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยการพึ่งตนเอง และความสามัคคีของคนในชุมชนเป็นหลัก เพื่อให้มีการขยายผลการดำเนินงาน ให้มีความหลากหลาย และครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านจัดสรร มีพื้นที่น้อย และเป็นคอนกรีต จึงได้มีแนวคิดในการนำวัสดุเหลือใช้ เช่น ขวดน้ำ แก้วพลาสติก ภาชนะที่ไม่ใช้แล้ว นำมาปลูกพืชผักสวนครัว เป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้มีผักที่สะอาด ปลอดภัยต่อสุขภาพ เพื่อไว้บริโภคในครัวเรือนและแบ่งปัน แลกเปลี่ยนในชุมชน และสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในชุมชน ต่อไป

เชียงใหม่ เปิดเทอมสถานศึกษาคุมเข้มป้องกันโควิดขณะที่ทหารลงพื้นที่สุ่มตรวจ

เปิดเทอมวันแรกสถานศึกษาคุมเข้มนักศึกษาป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด วิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิฯ จัดการเรียนการสอนสองระบบทั้งเรียนออนไลน์และเรียนในสถานศึกษา ขณะเดียวกันตั้งจุดคัดนักศึกษากรองทุกจุดทั้งประตูทางเข้า ห้องเรียน โรงอาหาร นอกจากนี้ยังแบ่งกลุ่มนักศึกษาออกเป็น 5 กลุ่มในการพักรับประทานอาหารกลางวันป้องกันการแออัด สร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองและนักศึกษา ขณะที่ เจ้าหน้าที่ทหารลงพื้นที่สุ่มตรวจสถานศึกษา

บรรยากาศการเรียนการสอนวันแรกหลังภาครัฐได้มีการคลายล็อกให้สถานศึกษากลับมาเปิดการเรียนการสอนได้วันแรกของภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา2563สถานศึกษาทุกระดับชั้นทุกสังกัดกลับมาเปิดเรียนในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 เช่นเดียวกับที่วิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคลานนา ซึ่งได้มีการจัดการเรียนการสอนวันแรกทำให้สถานศึกษาจัดมาตราป้องกันอย่างเข้มงวดทั้งการคัดกรองนักศึกษาตั้งแต่ประตูทางเข้า การคัดกรองนักศึกษาก่อนเข้าห้องเรียน การเว้นระยะห่างของนักศึกษาในห้องเรียน การจัดช่องทางเข้าออกในแต่ละอาคารเรียน

ด้านอาจารย์ศิรภพ เจริญกุศล รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคลานนา เปิดเผยว่า หลังจากทางภาครัฐอนุญาตให้มีการเปิดการเรียนการสอนได้ทางวิทยาลัย จึงได้มีการจัดระเบียบในการสอนใหม่ซึ่งในปัจจุบันโรงเรียนมีนักเรียนทุกระดับอยู่กว่า 4 พันคนโดยจะแบ่งให้เด็กนักศึกษาเป็นสองกลุ่มใหญ่ทั้งเรียนออนไลน์ และเรียนที่สถานศึกษา เพื่อง่ายต่อการเรียนการสอนและในส่วนของโรงอาหารซึ่งเป็นจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้เนื่องจากเป็นพื้นที่มีนักเรียนมารวมตัวกันจำนวนมากทางวิทยาลัยได้จัดมาตรการใหม่โดยให้แบ่งเป็นรอบๆจำนวน 5 รอบให้นักศึกษามารับประทานอาหารและจำกัดจำนวนนักศึกษาที่นั่งประทานอาหารแต่ล่ะโต๊ะไม่กิน 4 คน เพื่อเป็นการลดความแออัด นอกจากนี้ทางวิทยาลัยได้จัดอาจารย์ฝ่ายพัฒนานักศึกษาจัดระเบียบนักศึกษาให้เว้นระยะห่างขณะเลือกซื้ออาหารและนั่งประทานอาหาร นอกจากนี้ยังได้ให้ความรู้ในการปฏิบัติตนในวิทยาลัย ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม อีกด้วย ซึ่งก่อนที่จะเปิดเรียนทางวิทยาลัยได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองและนักศึกษาผ่านสื่อโซเชี่ยล ให้นักศึกษาเตรียมความพร้อมในการมาวิทยาลัยเร็วขึ้นกว่าปรกติ 1 ชั่วโมงโดยให้เข้าจุดคัดกรองทั้ง 5 จุดที่วิทยาลัยจัดไว้ให้เพียงพอต่อจำนวนนักศึกษาเพื่อป้องกันการจราจรติดขัด

ส่วนในห้องเรียนยังได้จัดจำนวนนักศึกษาและจัดโต๊ะเรียนเว้นระยะห่างไว้ด้วย นอกจากนี้ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาให้เกิดความตระหนักในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีการจัดการเรียนการสอนแบบวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal อาทิ การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อย ๆ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) โดยยึดหลักว่า “มีไข้ ไม่สบาย หยุดเรียน พบหมอ”

ขณะที่ น.อ.รณพล พุ่มประทีป นำกำลังพลเจ้าหน้าที่ทหารสำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย เข้าตรวจสอบมาตรการการป้องกันและระบบการเรียนการสอนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ในสถานศึกษา เบื้องต้นจากการลงพื้นที่พบว่าสถานศึกษาส่วนใหญ่ได้วางมาตรการการป้องกันและปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐเป็นอย่างดี

เชียงใหม่ ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรวบรวมผลไม้ ปี 63 กว่า 1 พันล้านบาท

ธ.ก.ส. หนุนเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดำเนินธุรกิจ รวบรวมผลไม้ ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง เพื่อดูดซับปริมาณและกระจายผลผลิตผลไม้ในช่วงฤดูกาลไปยังตลาดในจุดต่าง ๆ พร้อมเตรียมวงเงินสินเชื่อกว่า 1,000 ล้านบาท รองรับโดยมีกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ชดเชยดอกเบี้ยให้อีกร้อยละ 3 ต่อปี ในช่วง 6 เดือนแรก ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 กันยายน 2563

ที่โรงแรมเมอร์เคียว อำเภอเมือง เชียงใหม่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดการประชุมเสวนาโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการลำไย ปีการผลิต 2563 โดยมีนายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นผู้ประกอบการค้าลำไย เกษตรกรผู้ปลูกลำไย โดยเสวานาในหัวข้อเรื่อง การเชื่องโยงธุรกิจตลอดห่วงโซ่ผลผลิตลำไยไทย

นายภูมิ เกลียวสิริกุล ผู้อานวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมผลไม้ ปี 2563 เพื่อสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนและสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจรับซื้อรวบรวมผลไม้ของเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร เป็นการช่วยดูดซับปริมาณผลไม้ในช่วงฤดูกาลไม่ให้ราคาตกต่ำและเพิ่มทางเลือกในการกระจายผลไม้ไปยังแหล่งจาหน่ายต่างๆ อีกทั้งช่วยยกระดับมาตรฐานการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ปี 2563 กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยเน้นผลไม้หลัก 7 ชนิด ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง วงเงินสินเชื่อรวม 1,000 ล้านบาท ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่บัดนี้ถึง


สำหรับผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อต้องเป็นเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีประสบการณ์ในการรวบรวมผลไม้ กำหนดวงเงินกู้กรณีเป็นเกษตรกรสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 6.50 ต่อปี) กรณีกลุ่มเกษตรกร สูงสุดไม่เกิน 30 ล้านบาท กรณีสหกรณ์การเกษตร สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท และกรณีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สูงสุดไม่เกิน 20 เท่าของเงินทุนตนเองและไม่เกิน 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี) โครงการดังกล่าวกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจะชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3.00 ต่อปี ในช่วง 6 เดือนแรกนับจากวันที่จัดทาสัญญาเงินกู้ โดยกาหนดชาระคืนเงินกู้ไม่เกิน 6 เดือนนับจากวันที่จัดทำสัญญาเงินกู้ และไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564

นอกจากนี้ธนาคารยังสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อลำไยจากเกษตรกร เพื่อนำไปรวบรวมหรือแปรรูปเพื่อการส่งออก โดยพร้อมสนับสนุนสินเชื่อ SME เกษตร อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ในระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR หรือ MLR แล้วแต่กรณี


นายภูมิกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ซึ่งดูแล 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงราย แพร่ เชียงใหม่ ลำปาง น่าน พะเยา ลำพูน และแม่ฮ่องสอน) ขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมทุกโครงการแล้วกว่า 100 ราย วงเงินที่ขอกู้กว่า 400 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินกู้เพื่อไปดำเนินการรับซื้อลำไยได้เร็วที่สุดภายในไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ และในโอกาสนี้ขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและติดต่อขอเข้าร่วมโครงการได้ที่ ธ.ก.ส. ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนทุกสาขาได้

เชียงใหม่ กล้าจริง เจ้าของร้านคาเฟ่ฟ้องสหรัฐฯต่อศาลเชียงใหม่เรียกค่าเสียหาย”โควิด19″

เจ้าของร้านอู๋คาเฟ่ ฟ้องศาลจังหวัดเชียงใหม่เรียกร้องค่าเสียหายจากประเทศสหรัฐอเมริกาข้อหาเผยแพร่ไวรัสโคโรน่า 2019 สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนและผู้ประกอบการร้านอาหารเดือดร้อน

ที่ศูนย์อาหาร ดีเคปาร์ค กลางเมืองเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายเศวต เวียนทอง เจ้าของร้านอู๋คาเฟ่ ภายในศูนย์อาหารดังกล่าว แถลงข่าวหลังจากที่ในช่วงเช้าได้เดินทางไปยื่นคำฟ้องสหรัฐอเมริกา ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ข้อหา ละเมิดและเรียกค่าเสียหายจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งคู่กรณีเป็นจำเลย คือสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ เลขที่ 1600 ทำเนียบขาว ถนนเพนซิลเจเนีย วอชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นจำเลยในข้อหาละเมิด และเรียกค่าเสียหาย จำนวนเงิน 450,000 บาท (สี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ตามค่าเสียหายจริงที่ปิดกิจการในช่วงเกิดโรคระบาดดังกล่าว และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องคือวันที่ 26 มิ.ย.2563 ไปจนกว่าจำเลยจะชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทย์เสร็จสิ้นจนครบถ้วน


นายเศวต กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ตนฟ้องร้องสหรัฐอเมริกา เพราะตนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 และตนในฐานะโจทย์ทราบว่า จำเลยคือประเทศสหรัฐอเมริกา จากที่มีข้อมูลและหลักฐานต่างๆจำนวนมากที่ได้รับมาและเก็บไว้แล้วว่า สหรัฐอเมริกาเป็นผู้แพร่เชื้อระบาดทำให้รัฐบาลไทย โดยที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ จ.เชียงใหม่ ทำธุรกิจเจ้าของร้านอาหารตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2563 เป็นต้นมา ได้รับผลกระทบจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2563 เป็นผลทำให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.เชียงใหม่ ออกคำสั่งให้ปิดร้านอาหารทั่วจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้ร้านของตนซึ่งเปิดร้านอาหาร ชื่ออู๋คาเฟ่ ส่งผลกระทบทำให้ขาดรายได้ เป็นเวลา 3 เดือน ตามประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงใหม่


“การฟ้องร้องต่อศาลวันนี้ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ประทับรับฟ้องไปแล้ว และคาดว่า จะมีการสืบพยานปี 2564 ซึ่งตนในฐานะโจทย์จึงหวังว่า จะมีหลักฐานสำคัญปรากฏออกมา และจะนำส่งต่อศาลในการนำสืบพยาน เพื่อพิสูจน์ความจริงตามที่โจทย์กล่าวหาจำเลยต่อไป”

นายเศวต เจ้าของร้านอู๋คาเฟ่ เปิดเผยอีกว่า การที่ตนได้ยื่นฟ้องจำเลยครั้งนี้เนื่องจากต้องการให้คดีนี้เป็นคดีตัวอย่าง หลังเกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิดเป็นต้นมานั้น ตนและรวมไปถึงผู้ประกอบการร้านอาหารภายในศูนย์การค้าดังกล่าว ได้รับความเดือดร้อนหนัก ที่ตนฟ้องนั้นเนื่องจากต้องการให้เป็นคดีตัวอย่าง เจ้าของธุรกิจในประเทศไทยเห็นเป็นตัวอย่าง เพราะถือว่าเป็นการฟ้องศาลรายแรกของประเทศไทยซึ่งตนเชื่อว่า ถ้าหากมีการฟ้องและมีการพิจารณาคดี ชนะจะมีผู้ประกอบการและอีกหลายประเทศที่จะฟ้องประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียกร้องความเสียหายด้วยดังกล่าว


สำหรับการแถลงข่าวครั้งนี้ ได้รับการสนใจจากเจ้าหน้าที่ข่าวกรองทั้งทางทหาร และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานความมั้นคงทุกหน่วยงานเดินทางมาติดตามข่าวสารจำนวนมาก ซึ่งการแถลงข่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 

 

เชียงใหม่ ชาวบ้านร่วมใจหางบฯ สร้างบ้านให้แม่เฒ่าวัย 91 ปี ลูกชายพิการทางสมอง

ชาวบ้านในตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมใจหาทุนสร้างบ้านให้แม่อุ้ย อายุ 91 ปี พร้อมลูกชายพิการทางสมองให้มีที่อยู่อาศัย พร้อมวอนผู้เมตตาผู้ใจบุญ ร่วมบริจาคเพิ่ม

นายอุดม อิ่นคำ นายกเทศมนตรีตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เข้าตรวจดูความคืบหน้าในการก่อสร้างบ้านพักอาศัยให้กับแม่อุ้ยแก้ว สุกัญทา อายุ 91 ปี และบุตรชายที่ป่วยพิการทางสมอง ซึ่งขอความช่วยเหลือมายังเทศบาลตำบลแม่คือ หลังจากถูกขับไล่ออกจากบ้านสวนเมื่อเดือนที่แล้ว จนทำให้ไม่มีที่อยู่อาศัย เมื่อมีข่าวแพร่ออกไปชาวบ้าน ผู้ใจบุญจึงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สินและสิ่งของต่างๆ ในการก่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัยให้กับแม่อุ้ยแก้ว แต่ก็ยังขาดเงินในการก่อสร้างอีกจำนวนหนึ่ง


นายกเทศมนตรีตำบลแม่คือกล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการสร้างบ้านให้ผู้ที่ไร้ที่อยู่อาศัย โดยการร่วมมือของพี่น้องประชาชนในตำบลแม่คือ ผู้มีจิตศรัทธาที่อยากจะเห็นผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส มีที่อยู่ที่มั่นคงบ้านหลังนี้ตั้งใจสร้างให้อยู่ 2 ครอบครัว เป็นครอบครัวของแม่อุ้ยแก้ว สุกันทา กับลูกชายที่พิการทางสมอง กับอีกครอบครัวหนึ่ง สำหรับงบประมาณการก่อสร้างส่วนหนึ่งตนเองได้ร่วมบริจาค เสาและหลังคาบ้าน อีกส่วนหนึ่งก็เป็นชิ้นส่วนของชาวบ้านที่บ้านถูกรื้อหลังจากขายที่ดิน ก็ได้นำไม้และชิ้นส่วนต่างๆ จากบ้านที่ถูกรื้อมาร่วมบริจาคสร้างบ้านหลังนี้ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นการบริจาคเงินจากผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ และชาวบ้านในตำบลแม่คือ ซึ่งในขณะนี้ก็ได้ให้แม่อุ้ยแก้วไปเปิดบัญชีออมทรัพย์ ชื่อนางแก้ว สุกันทา ของธนาคารกรุงไทย สาขาบ่อสร้าง เลขที่บัญชี 553-0-38754-3 ซึ่งขณะนี้ผู้ที่ดูแลบัญชีการรับบริจาคก็เป็นเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลแม่คือ คอยดูแลในเรื่องบัญชีการรับบริจาคเงินให้กับแม่อุ้ยแก้วอยู่ แต่ขณะนี้ก็ยังขาดงบประมาณในการก่อสร้างบ้านอีกจำนวนหนึ่ง

ด้านแม่อุ้ยแก้ว สุกันทา ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านพักของผู้ใจบุญที่บ้านสันต้นแหน ตำบลแม่คือ เปิดเผยว่า ดีใจและขอขอบคุณท่านนายกเทศบาลตำบลแม่คือที่เข้าช่วยเหลือตนและบุตรชาย หางบประมาณมาก่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัยให้กับตนเองและลูก ซึ่งตนเองเป็นชาวอำเภอฝาง มาอยู่บ้านในสวนเขตเทศบาลตำบลแม่คือได้ 18 ปี เมื่อเจ้าของที่ขายสวนก็ต้องออกมาจึงไม่มีที่อยู่ ก็ต้องอาศัยบ้านหลังไม้เก่านี้ไปก่อนจนกว่าบ้านที่สร้างใหม่จะเสร็จ

เชียงใหม่ เทศบาลเมืองแม่เหียะเน้นย้ำครูและผู้ปกครอง 6 มาตรการรับมือโควิด-19 เปิดภาคเรียน 1 กค.นี้

เทศบาลเมืองแม่เหียะ จัดประชุมครูและผู้ปกครองสถานศึกษาระดับปฐมวัยสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมความพร้อมและชี้แนะ มาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในโรงเรียนก่อนเปิดเทอม 1 ก.ค. นี้ ให้จัดเตรียมจุดล้างมือเพิ่ม เด็กนักเรียนต้องสวมหน้ากากอนามัย ห้องเรียนต้องเว้นระยะห่าง ให้นักเรียนสลับกันมาโรงเรียน งดจัดกิจกรรม

วันนี้ 24 มิ.ย. 63 ณ อาคารอเนกประสงค์ เทศบาลเมืองแม่เหียะ นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ เป็นประธานในการประชุมครูและผู้ปกครองโรงเรียนอนุบาลเทศบาลเมืองแม่เหียะ ในการสร้างความเข้าใจ พร้อมทั้งมอบอุปกรณ์การเรียนและหน้ากากอนามัยให้เด็กนักเรียน เพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนเปิดเทอม 1 ก.ค. นี้

นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะกล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลได้มีการประกาศให้ เปิดเทอม วันที่ 1 ก.ค. 2563 เทศบาลเมืองแม่เหียะคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนในสังกัดเป็นอย่างมากจึงมีการจัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมครู และผู้ปกครอง ให้มีความเข้าใจ และช่วยกัน เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ โควิด-19 อันจะส่งผลต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยให้เริ่มจากสร้างสุขลักษณะในครัวเรือนก่อน รวมถึงก่อนมีการเปิดเรียนมีการล้างทำความสะอาดอาคารเรียน และอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงเรียน

นอกจากนี้มีการเตรียมความพร้อม 6 มาตรการ สร้างความปลอดภัยลดการแพร่ระบาด โดยใช้มาตรการของสาธารณสุขเป็นหลัก ประกอบด้วย
(1.) คัดกรองตรวจวัดไข้ก่อนเข้าสถานศึกษา คุณครูจะจัดให้เด็กนักเรียน เว้นระยะห่าง
(2.) สวมหน้ากาก จะต้องให้ให้เด็กๆสวมหน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียน และผู้ปกครองต้องเตรียมหน้ากากอนามัยให้เด็กทุกวันพร้อมทั้งดูแลความสะอาดอยู่เสมอ
(3.) การล้างมือ มีการเพิ่มจุดล้างมือ พร้อมเจลแอลกอฮอร์ และให้ครูกำชับนักเรียนล้างมือสม่ำเสมอ ซึ่งเมื่อก่อนเด็กจะมีล้างมือก่อนที่จะรับประทานอาหารกลางวัน แต่ตอนนี้ต้องล้างมือก่อนเข้าโรงเรียน ล้างมือก่อนเข้าชั้นเรียน ถ้ามีการเปลี่ยนชั้นเรียนหรือเปลี่ยนพื้นที่จะต้องไปล้างมือ ก่อนแปรงฟัน หลังแปรงฟันก็ต้องล้างมือ ซึ่งทางโรงเรียนมีการจัดระบบการล้างมือสำหรับเด็กๆทุกคน รวมไปถึงต้องจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ ไว้รองรับนักเรียนอย่างเพียงพอ
(4.) การเว้นระยะห่าง มีการจัดระเบียบการเว้นระยะห่าง 1 เมตร และให้ดูความเหมาะสมในการรองรับนักเรียนในห้องเรียน รวมถึงกิจกรรมนอกห้องเรียนและโรงอาหาร มีการจัดรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ โดยมีทางเลือกหลายรูปแบบ เช่น ทำพื้นที่ชั่วคราวในโรงเรียนเพื่อให้เกิดการเรียนแบบคู่ขนานกัน และใช้วิธีผลัดกันมาเรียน ส่วนโรงอาหารจัดจัดโต๊ะให้เว้นระยะห่าง ให้เด็กสลับเปลี่ยนกันเข้าโรงอาหารซึ่งทางได้ออกแบบเพื่อรักษาหลักการการเว้นระยะห่างอยู่แล้ว
(5.) การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย ปกติแล้วโรงเรียนก็มีการจัดการเรื่องความสะอาดอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ต้องเน้นมากขึ้นในจุดพื้นผิวสัมผัสทั้งหมด และ พื้นที่ที่เด็กต้องไปใช้ร่วมกัน
(6.) ลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัส ร่วมกัน ซึ่งทางโรงเรียนอาจจะต้องยกเลิกกิจกรรม จะต้องไม่ให้มีการแออัดมากเกินไป เช่น การจัดกีฬาสี หรือการจัดการแข่งขันบางอย่างที่มีการรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้อาจต้องงด หรือ ต้องยกเลิกไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

โดยเทศบาลเมืองแม่เหียะได้ดำเนินการตามนโยบาย และมาตรการอย่างต่อเนื่องไปจนถึงในระดับพื้นที่ กระบวนการนี้ไม่ได้ทำในเฉพาะสถานศึกษาในสังกัดเทศบาลเมืองแม่เหียะเท่านั้น แต่จะทำทุกๆโรงเรียน ในเขตพื้นที่เมืองแม่เหียะ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการ เช่น ให้ทุกโรงเรียนมีการจัดชั้นเรียนใหม่ มีการเติมอุปกรณ์การเรียนให้เด็ก มีความจำเป็นที่จะต้องล้างมือบ่อยๆ โรงเรียนต้องจัดจุดล้างมือเพิ่มขึ้นจากเดิม โรงอาหารอาจต้องไปทำฉากกั้น เพื่อให้เด็กเข้าไปใช้โรงอาการ อย่างไรก็ตาม หากมีการเปิดเทอม จะมีการดำเนินการจัดชุดปฏิบัติการลงพื้นที่เพื่อดูความพร้อมและให้คำแนะนำที่เหมาะสมในสถานศึกษาในพื้นที่ทุกแห่งต่อไป

ขอบคุณภาพข่าวจากเทศบาลเมืองแม่เหียะ

เชียงใหม่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแกะสลักไม้บ้านถวาย พร้อมรับนักท่องเที่ยว

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแกะสลักไม้บ้านถวาย จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมรับนักท่องเที่ยว หลังสถานการณ์โควิด-19

วันนี้ (24 มิ.ย. 63) เวลา 10.30 น. นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแกะสลักไม้บ้านถวาย ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด- 19 เริ่มคลี่คลาย จากการลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจ พบว่าผู้ประกอบการ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้เตรียมพร้อมสำหรับการรองรับนักท่องเที่ยวซึ่งจะเดินทางเข้ามา

นายวสันต์ เดชะกัน นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินค้าหัตถกรรมบ้านนถวาย และในฐานะรองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงผลการประชุมหารือของผู้ประกอบการในชุมชนหัตกรรมบ้านถวาย ว่า ทางชุมชนได้ร่วมกันวางมาตรการในการดูแลนักท่องเที่ยวและลูกค้าที่จะเข้าซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ของชุมชน พร้อมจัดเตรียมมาตรการส่งเสริมการขาย การท่องเที่ยว ควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19

“หมู่บ้านถวาย” เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP ต้นแบบของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงด้านงานศิลปหัตถกรรมไม้แกะสลัก และเป็นศูนย์รวมของสินค้าหัตถกรรมทุกแขนง เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชาวบ้านในชุมชนแกะสลักไม้บ้านถวายแห่งนี้ ก็ได้เตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวตามแบบชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักเช่นเดิม


ขอขอบคุณภาพข่าวจาก สนง.ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

 

เชียงใหม่ ส.ว.ก๊อง เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

ส.ว.ก๊อง เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ได้รับสมญานาม พระภิกษุชูชัย(ชยาภินน.โท) โดยมีข้าราชการระดับสูง หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นักการเมืองและเพื่อนฝูงญาติพี่น้องเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย,นายไพโรจน์ โล่สุนทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและอดีตส.ส.ลำปาง,ท่านวัฒนชัย คุ้มวงศ์ดี รองอัยการสูงสุด,ข้าราชการและอดีตข้าราชการระดับสูง,นักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นจำนวนมาก นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และผู้จัดการทีมสโมสรเชียงใหม่ เอฟซี และประชาชนที่สนับสนุน ญาติ พี่น้องร่วม 3 พันคนได้เข้าร่วมพิธีอุปสมบทนายชูชัย เลิศพงค์อดิศร หรือส.ว.ก๊อง อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงใหม่และว่าที่ผู้สมัครนายกอบจ.เชียงใหม่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเข้าพิธีอุปสมบทในวันนี้โดยมีพระเดชพระคุณพระเทพสิงหวราจารย์ รองเจ้าคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่เป็นพระอุปัชฌาชย์ พร้อมพระสงฆ์ในพิธีจำนวน 15 รูป โดยได้รับสมญานามว่าพระภิกษุชูชัย (ชยาภินน.โท) ซึ่งมีความหมายว่าผู้มีชัยชนะเป็นเครื่องเพลิดเพลิน

จากนั้นพระภิกษุชูชัย(ชยาภินน.โท)ได้เดินบิณฑบาตจากหน้าพระอุโบสถมายังศาลาสหัสหงส์ มหาคุณอนุสรณ์ ซึ่งเป็นหอฉันท์ โดยนิมนต์พระสังฆาธิการจาก 58 วัด พระภิกษุชูชัย(ชยาภินน.โท)กราบคณะพระสังฆาธิการในพิธี ประเคนไทยทานและถวายภัตราหารเพล พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ 21-24 มิ.ย.63 พระภิกษุชูชัย(ชยาภินน.โท) จะจำวัดอยู่ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อ.เมืองเชียงใหม่และในวันที่ 28-30 มิ.ย.จะไปจำวัดที่วัดป่าไม้แดง อ.ไชยปราการและในวันที่ 1-4 ก.ค.ที่วัดร้องวัวแดง อ.สันกำแพง และยังมีกำหนดการพิธีพุทธาภิเษกและถวายเทียนพรรษา 19 วัดในวันศุกร์ที่ 3 ก.ค.ที่รพ.แม่ออน และแจกทานไข่ไก่ให้กับผู้มาร่วมงานทั้งจากอ.สันกำแพงและอ.แม่ออนรวม 500 คนอีกด้วย

ลำปาง พาเที่ยวและสำรวจหมู่บ้านปากบอกอำเภองาว จังหวัดลำปาง

พาเที่ยวและสำรวจหมู่บ้านปากบอก อำเภองาว จังหวัดลำปาง ปลูกใบชาและกาแฟ สร้างรายได้ แต่ชาวบ้านหมู่บ้านแห่งนี้อาศัยอยู่หลายชั่วอายุคนแต่ทั้งหมู่บ้านและพื้นที่ทำการเกษตร ไม่มีเอกสารสิทธิ์แต่อย่างใด ชาวบ้านร่อนหนังสือถึง รมช.มหาดไทยเมื่อต้นปี 2561 ขอให้ช่วยเหลือเรื่องก็ยังเงียบ

พากันมาเที่ยวชมธรรมชาติที่สวยงามและสำรวจพื้นที่บ้านปากบอก หมู่ 6 ตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นที่ราบสูงและเนินเขา ทำให้ภูมิอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี เหมาะในการทำการเกษตรปลูกพืชเมืองหนาว มีเขตติดต่อพื้นที่จังหวัดพะเยา เส้นทางคมนาคมที่สะดวก ห่างจากที่ว่าการอำเภองาวประมาณ 70 กิโลเมตร

ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาสูงสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ที่มีความชุ่มชื่นหนาวเย็นอยู่เกือบตลอดทั้งปี ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงนิยมปลูกข้าวโพด ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนนำพันธุ์ชามาทดลองปลูก ปรากฎผลได้เป็นที่น่าพอใจและได้ชาที่มีคุณภาพดี จึงได้มีการจัดตั้งรวมกลุ่มเกษตรกรและขยายพื้นที่ในการปลูกชาแทนพื้นที่ปลูกข้าวโพด ล่าสุดมีการนำเมล็ดพันธุ์กาแฟเข้ามาปลูกในพื้นที่ ก็สร้างรายได้ใหักับชาวบ้านในพื้นที่เช่นกัน

างศรี หลวงบุญมี บอกว่า อาศัยที่หมู่บ้านปากบอกแห่งนี้ตั้งแต่เกิด ซึ่งปัจจุบันนี้ตนเองอายุ 81 ปีแล้วแต่ ก่อนชาวบ้านมีอาชีพปลูกเมี่ยง หรือใบชา และปลูกข้าวโพด ปัจจุบันเริ่มมีการนำกาแฟมาปลูก เพราะพื้นที่แห่งนี้เหมาะกับการปลูกกาแฟได้ผลผลิตที่ดี โดยที่หมู่บ้านปากบอกแห่งนี้ ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายพื้นที่หมู่บ้านและพื้นที่ทำเกษตรของชาวบ้านก็ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มี นส.3 แต่อย่างใด ในเรื่องนี้ก็อยากฝากไปยังหน่วยราชการเร่งเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ ตรวจหลักฐานเพื่อจะได้ออกเอกสารสิทธิ์และพื้นที่ทำกินให้กับชาววบ้านอย่างชัดเจน


ขณะที่นางซอน ดีใจ อายุ 64 ปี ชาวบ้านปากบอกกล่าวเสริมว่า หมู่บ้านแห่งนี้บ้านทุกหลังไม่มีเอกสารสิทธิ์แต่อย่างใด ในขณะที่พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ก็ทำในป่าใกล้กับหมู่บ้านส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพด ใบชา และกาแฟ ก็อยากฝากผ่านทางสื่อฯ ไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เข้ามาตรวจดูพื้นที่เพื่อออกเอกสารสิทธิ์ให้กับชาวบ้านด้วย ซึ่งมีบ้านเรือนชาวบ้านกว่า 72 ครัวเรือนไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดินแม้แต่รายเดียว และทุกวันนี้พื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน ก็ทำในพื้นที่ป่าบริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งซ้าย โดยเจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้ปลูกไปเรื่อยๆ ห้ามขยายพื้นที่แบบทุกวันนี้


อย่างไรก็ดีชาวบ้านปากบอก ได้ทำหนังสือร้องทุกข์ของความช่วยเหลือด้านกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินและที่ดินอยู่อาศัยของราษฏร ถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายนิพนธ์ บุญญามณี) อ้างถึงนโยบายรัฐบาลด้านการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฏร พร้อมแนบเอกสารบัญชีรายชื่อราษฏรที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปางจำนวน 1 ชุด


ทั้งนี้ตามที่ราษฏรได้รับทราบถึงแนวนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เกี่ยวกับสิทธิ์ในที่ทำกินและที่ดินอยู่อาศัยของราษฏร ซึ่งตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง มีราษฏรจำนวนมากและมีฐานะยากจน ขาดสิทธิและโอกาสในการทำมาอาชีพอย่างไม่เท่าเทียมกัน ทั้งที่ได้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินดังกล่าวกันมานานหลายสิบปี แต่ยังไม่ได้เอกสารสิทธิ์เป็นของตนเองเช่นเดียวกับที่ดินของพื้นที่อื่นๆ อย่างไม่เท่าเทียมกัน เคยมีเจ้าหน้าที่หลายคนมาบอกจะช่วยเหลือ แต่ก็ไม่ดำเนินการให้เลย จนได้รับความเดือดร้อนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นราษฏรตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง จึงขอพึ่งอำนาจจากท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทหาดไทย ได้โปรดอนุเคาะห์ความช่วยเหลือราษฏรให้ได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นด้วย

 

เชียงใหม่ เล่นดนตรีส่งวิญญาณ สมบูรณ์ บุญโรจน์ ศิลปินล้านนา เจ้าของบทเพลง ต๋ำฮายา

เล่นดนตรีส่งวิญญาณ สมบูรณ์ บุญโรจน์ ศิลปินล้านนา เจ้าของบทเพลง ต๋ำฮายา และ นางหลายใจ ขึ้นสรวงสวรรค์

ผู้สื่อข่าวรายงานจากวัดตองกาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ สถานที่บำเพ็ญกุศลศพศิลปินล้านนา เป็นการสูญเสียปูชณียบุคคลอีกท่านหนึ่ง คือ อ.สมบูรณ์ บุญโรจน์ เจ้าของเพลง “ต๋ำฮายา” เสียชีวิตลงเมื่อวันนี้ 14 มิถุนายน 2563 ด้วยอายุ 62 ปี เมื่อเวลา 11.11 น. ณ โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ หลังจากป่วยด้วยโรคไต ญาตินำประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดตองกาย และวันที่ 18 มิ.ย.นี้เวลา 12.00 น.จะเคลื่อนย้ายศพประกอบพิธีฌาปนกิจศพที่สุสานบ้านตองกาย


ที่น่าสนใจคือ ช่วงสายวันเดียวกันนี้ ศิลปินล้านนาเชียงใหม่กว่า 50 ชีวิต จัดเวทีเล่นดนตรีเพื่อให้แฟนเพลงได้รับชมผลงานเพลงของ อ.สมบูรณ์ นำผลงานถ่ายทอดโดยการนำของ อ.ชินชัย แก้วเรือน เจ้าของบทเพลง “ปอยหลวงวังสะแกง” และ อ.นพ CM ครูเพลงที่สนิทกับ อ.สมบูรณ์ พร้อมด้วยลูกศิษย์ เช่น “เบิ้ม เพิ่มพูล บุญโรจน์” และศิลปินชื่อดังเมืองเหนือหลายท่าน ร่วมขับร้องเพลงให้ความบันเทิงกับแฟนเพลงที่วัดตองกายในช่วงค่ำของทุกคืนในช่วงบำเพ็ญกุศลศพที่ผ่านมา มีวงปั๊กตืน นำเครื่องดนตรีมาขับกล่อมทุกคน และศิลปินมาให้ความบันเทิง ประกอบด้วย “เทิดไท ชัยนิยม”,”อ้อย สุรี”,”วิทูรย์ ใจพรหม”,”อ้อด ไพศาล”,”อ๊อด พับร็อค”,”ศรีนวล นพดล”,”ป๋อ ปั๊กตืน”,”ติ่ง สรรชัย ฉิมพะวงค์”,”หมวก สุรชัย”,”ปฏิญญา ตั้งตระกูล”,”มุกดา ญาใจ” และ ” ชาตรีกับเบิ้ม” เจ้าของบทเพลง “ย่ามา” ที่โด่งดังในอดีตได้แต่งเพลงให้ อ.สมบูรณ์ และขับร้องในงานศพคืนวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมาด้วย และต้องขออภัยศิลปินที่ไม่ได้เอ่ยนาม เพราะมีจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในวันที่ 18 มิ.ย. ช่วงเช้าที่วัดตองกาย ศิลปินจะเริ่มเล่นดนตรี เวลา 10.00-12.00 น. จากนั้นช่วงบ่ายจัดเวทีเล่นดนตรีที่สุสานตองกายเพื่อส่งดวงวิญญาณ อ.สมบูรณ์ อีกครั้งหนึ่งต่อไป

อ.สมบูรณ์ ในวัยหนุ่ม เดินทางไปเล่นดนตรีจังหวัดไหน ก็จะแต่งเพลงให้จังหวัดนั้นๆ เช่นเดินทางไป จ.ตาก แต่งเพลง “งามเมืองตาก” เป็นต้น ส่วนเพลง “นางหลายใจ” มีศิลปินหลายท่านนำไปร้องโด่งดังไปทั่วประเทศ อ.สมบูรณ์ เป็นศิลปินรุ่นเดียวกับ “จรัล มโนเพชร” และอ.ชินชัย แก้วเรือน” เจ้าของเพลง “ปอยหลวงวังสะแกง” ขวัญใจวัยรุ่นในอดีต และ “อ.บุญศรี รัตนัง” นับเป็นศิลปินล้านนาเชียงใหม่อีกคน ที่มีชื่อเสียงในด้านวงการบันเทิง เพลงคำเมืองเหนือ ที่โด่งดังมาพร้อมๆกัน ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน


สำหรับประวัติ อ.สมบูรณ์ บุญโรจน์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2501 ด้านชีวิตส่วนตัว สมรสกับนางทองพูน ตองกาย และมีบุตรด้วยกัน 2 คน เป็นหญิง 1 คน ชาย 1 คน เป็นศิลปินของภาคเหนือ ที่ศิลปินรุ่นหลังยกย่องเป็นเป็นปูชนียบุคคลที่มีคุณค่าท่านหนึ่ง สร้างผลงานเพลงมาแล้วจำนวนมาก นอกจากเพลงต่ำฮายา เพลง “นางหลายใจ” ผู้ที่นำไปขับร้องจนโด่งดังโดยศิลปิน จ.เชียงราย “ปัญญา กตัญญู” ได้โด่งดังมากในอดีต สำหรับท่านใดที่ต้องการร่วมทำบุญเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของ อ.สมบูรณ์ บุญโรจน์ สามารถร่วมทำบุญได้ที่ ชื่อบัญชี นางทองพูน ตองกาย (ภรรยา) บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาบิ๊กซีหางดง เลขที่ 787 0 09693 8 ได้