เชียงใหม่ ชวน หลีกภัย เปิดอาคารสโมสรฅนท้องถิ่น สมาคม ขรก.ส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย

“ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดอาคารสโมสรฅนท้องถิ่น สมาคม ขรก.ส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 25 ก.ย.2564 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เดินทางมาเป็นประธานเปิดอาคารสโมสรฅนท้องถิ่น ของสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย โดยมีนายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมนายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย พร้อมข้าราชการท้องถิ่นทั่วประเทศ และนายชัชวาลล์ คงอุดม หรือ ชัช เตาปูน หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท ร่วมให้การต้อนรับนายชวน ที่อาคารสโมสรฅนท้องถิ่น ของสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 173 บ้านหนองแฝก หมู่ที่ 4 ต.หนองแฝก อ.สารภี จ.เชียงใหม่

พิธีการเริ่มตั้งแต่เวลา 07.00 น.คณะกรรมการ ที่ปรึกษา และ จนท.สมาคม พร้อมกันบริเวณงานและประกอบพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ พิธีไหว้ศาลพระภูมิ และศาลเจ้าที่ศาลตาและยาย จากนั้นประกอบพิธีสงฆ์ นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ 9 รูป ประกอบพิธีสวดถอน และเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นถวายเครื่องสังฆทานแดพระภิกษุสงฆ์ถวายปินโต พระภิกษุสงฆ์อนุโมทนา พระภิกษุสงฆ์เจิมป้ายอาหารเพื่อเป็นมงคล จากนั้นพระภิกษุสงฆ์เดินทางกลับ

ต่อมานายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เดินทางมาประกอบพิธีเปิด นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย จากนั้นนายชวน ได้ลงนามในสมุดเยี่ยมคนแรกของอาคารสมาคมฯ จากนั้นนายพิพัฒน์ กล่าวรายงานถึงอาคารสโมสรฅนท้องถิ่นหลังนี้ จากนั้นนายชวน ได้เป็นประธานเปิดผ้าคลุมป้ายอาคาร ได้กล่าวให้โอวาท

นายชวน ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า โครงสร้างที่ดีมันจะสดุดด้วย “คน” เพราะคนที่เราพูดถึงนี้ หากไม่ได้มาด้วยความชอบธรรม ยากครับที่จะบริหารงานไปได้ด้วยดี พูดง่ายๆ มาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น มองเห็นชัดเจนในปลายรัฐกาลที่ 9 ท่านให้ความสำคัญเรื่องคนมาก ถึงให้องค์มนตรีนำไปปฏิบัติ ให้ท่านเกษม รัตนชัย ท่านองค์ในตรีองค์ปัจจุบัน ท่านเป็นคนเล่าให้ผมฟัง พระองค์ท่านในหลวงรัฐการที่ 9 ให้ทางองค์มนตรีร่วมกับทางโรงเรียนทำให้คนเป็นคนดี เพราะพระองค์ท่านเห็นนายกรัฐมนตรีมาหลายคน และเห็นบุคคลสำคัญหลายๆชุดทำงาน ในที่สุดลงท้ายบ้านเมืองมีทั้งคนดีและไม่ดี ไม่สามารถทำให้คนเป็นคนดีได้ทั้งหมด วิกฤตหลายครั้งเป็นเพราะคน เพราะฉะนั้นการสร้างคนดีเป็นเรื่องสำคัญ ตนของยำให้พยายามสร้างรูปแบบที่ดี และขณะเดียวกันขอให้นำคนดีมามีส่วนร่วม และการกระจายอำนาจนั้นเป็นการกระจ่ายโอกาสกระจายรายให้ท้องถิ่น การกระจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นพัฒนาในตัวของเขาเอง

เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่มีเพียงที่ กทม.ต่อไปจังหวัดไหนพร้อมก็ไปก่อน อาจจะมีเลือกอะไรก็แล้วแต่ในจังหวัดนั้นๆได้โดยตรง หากจังหวัดนั้นมีความพร้อม การที่จะเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ก่อนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ตนทำงานการเมืองมานาน 52 ปี เดิมก็ไม่ยอมรับ กว่าจะผ่านมันไปได้ และเมื่อผ่านไปแล้วก็ต้องยอมรับและรับได้ ดังนั้นการที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้ไปได้ ก็อยู่ที่คุณภาพของคนในปัจจุบัน และท้องถิ่นนั้นๆยอมรับการทำงานที่ดีได้ และมีคนดีไม่โคดโกงและไม่ทุจริตมาทำงาน การยอมรับในเรื่องโครงสร้างบ้านเมืองก็จะดีขึ้นครับ” นายกชวน ประธานรัฐสภา กล่าว จากนั้น นายชวน เดินชมนิทรรศการ และชมอาคารทั้งหมด และได้ปลูกต้นรวงผึ้ง และต้นสาภี จากนั้นทั้งหมดถ่ายภาพร่วมกัน เป็นอันเสร็จพิธี

สำหรับอาคารสโมสรฅนท้องถิ่น ออกแบบโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยลักษณะของตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์นลอฟท์ หรือแบบปูนเปลือย โดยใช้แนวคิดผสมผสานบ้านทรงไทยโบราณสี่ภาค กับ สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 มกราคม2562 โดยมีนายชัชวาลล์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ และมีพระพรหมมงคล หรือหลวงปู่ทอง สิริมังคโล อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ให้ความเมตตาเจิมแผ่นศิลาฤกษ์ แล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2564 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 19,053,056.89 บาท (สิบเก้าล้านห้าหมื่นสามพันห้าสิบหกบาทแปดสิบเก้าสตางค์) จากเงินรายได้การจัดโครงการฝึกอบรม ประชุมสัมมนาทางวิชาการ ซึ่งสะสมรวม 10 ปี รวมทั้งการจัดทอดผ้าป่าสามัคคีจำนวน 2 ครั้ง และเงินบริจาคบางส่วนจากผู้มีจิตศรัทธา ลักษณะตัวอาคารขนาด 2 ชั้น ประกอบด้วย

ชั้นบน สำหรับใช้เป็นห้องประชุมสัมมนาขนาดบรรจุ 150 คน เพื่อรองรับคนท้องถิ่นทั่วประเทศ ได้มาพบปะสังสรรค์ ศึกษาดูงาน หรือเพื่อให้องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ระหว่างกัน

ชั้นล่าง ส่วนที่หนึ่ง สำหรับใช้เป็นห้องสมุดฅนท้องถิ่น เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในรูปแบบของหนังสือ เอกสาร วารสาร สิ่งตีพิมพ์ และสื่อดิจิทัล สำหรับให้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้ศึกษาเรียนรู้ ค้นคว้าข้อมูลเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ การเรียนการสอน ส่วนที่สอง สำหรับใช้เป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมฯ

ทั้งนี้ สมาคมฯมีความมุ่งหวังในการใช้อาคารหลังนี้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสมาคม ดังนี้ 1. เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์จากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำทั่วประเทศ 2. เป็นองค์กรกลางในการประสานความเข้าใจ ความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อันประกอบด้วย รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ องค์กรอิสระ อาทิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. รวมทั้งองค์กรภาคประชาชน และองค์กรระหว่างประเทศ

3. เป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารการเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้ศึกษาเรียนรู้การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นได้อย่างถูกต้อง สมบูรณ์ และมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย

4. เป็นศูนย์ประสานให้ความช่วยเหลือแก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง ที่ประสบปัญหาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือประสบสาธารณภัยต่างๆ 5. เป็นศูนย์กลางในการพบปะสังสรรค์ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำ ขณะรับราชการ และเกษียณอายุราชการแล้ว

สำหรับการจัดงานพิธีเปิดในครั้งนี้ ได้เลื่อนมาจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยได้จำกัดจำนวนคนเข้าร่วม และมีมาตรการตามที่ ศบค.กำหนดโดยเคร่งครัด ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะต้องผ่านการฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม และต้องผ่านจุดคัดกรองของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลหนองแฝก แล้วเท่านั้นจึงจะเข้าร่วมงานดังกล่าวได้

เชียงใหม่ ครบรอบ 2 ปี ทำบุญทอดผ้าป่าเพื่ออนุรักษ์สัตว์เขื่อนแม่กวงอุดมธารา

ครบรอบ 2 ปี ทำบุญทอดผ้าป่าเพื่ออนุรักษ์สัตว์เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เปิดรับบริจาก กองทุนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ได้เงินทั้งสิ้นล้านบาทเศษ วัตถุประสงค์เพื่อจัดซื้อกระบือจำนวน 19 ตัว ให้ดำรงชีวิตตามธรรมชาติในพื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด และจนถึงขณะมีกระบือรวมทั้งสิ้น 37 ตัว เหลือเงินบริจาคกว่า 4 แสน แต่ประสบปัญหาพื้นที่เลี้ยงอยู่ในกรมอุทยานฯ คณะกรรมการฯ จึงได้มอบกระบือทั้ง 37 ตัว และเงินบริจาคให้กับนายอำเภอดอยสะเก็ด ให้พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา

(วันนี้ 22 กย.) ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ นายสมยศ บุญเย็น นายกเทศมนตรีตำบลลวงเหนือ พร้อมด้วยสมาชิกสภาเทศบาลตำบลลวงเหนือ เจ้าหน้าที่ปลัดอำเภอดอยสะเก็ดตัวแทนนายอำเภอดอยสะเก็ด และนายดวงแก้ว สะอาดล้วน อดีตนายกตำบลลวงเหนือ นายบุญช่วย บุญชัย ผู้เลี้ยงกระบือ ซึ่งเป็นคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการกองทุนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์เขื่อนแม่กวงอุดมธารา หลังมีผู้มีจิตศรัทธา ร่วมทำบุญทอดผ้าป่า ณ สะพานแขวนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา บ้านป่าสักงาม เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมาได้เงินทั้งสิ้น 1,018,588.75 บาท โดยมีวัตถุเพื่อจัดซื้อกระบือจำนวน 19 ตัว ให้ดำรงชีวิตตามธรรมชาติในพื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา และต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2563 กองทุนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ได้ซื้อกระบือคู่แม่-ลูก เพิ่มในราคา 32,000 บาท จากเกษตรกรตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด และได้รับเมตตาจากสำนักปฏิบัติธรรมสุทธจิตต์(นิโรธาราม สาขา 2 ) บริจากเงินเข้าร่วมกองทุน 15,000 บาท ปัจจุบันมีกระบือเพิ่มเป็น 37 ตัว เพศผู้ 16 ตัว เพศเมีย 21 ตัว


ทั้งนี้สืบเนื่องจาก นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอดอยสะเก็ด สมัยนั้น มีคำริจะไถ่ชีวิตกระบือให้พ้นจากโรงฆ่าสัตว์ และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว “นั่งแพ แลควาย” จึงได้ร่วมกับคณะสงฆ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาลตำบลลวงเหนือ และพี่น้องประชาชนชาวลองเหนือ จัดทำทอดผ้าป่าขึ้นได้เงินกว่า 1 ล้านบาท ทำการไถ่ถอนกระบือจำนวน 20 ตัว พร้อมว่าจ้างให้นายบุญช่วย บุญชัย เลี้ยงกระบือเดือนละ 4,000 บาท และหลังจากนั้นผู้เลี้ยงได้ขอขึ้นค่าเลี้ยงเป็นเดือนละ 6,000 บาท หรือจะเลี้ยงแบบแบ่งครึ่งในผลผลิตแต่ละปี จึงได้หารือคณะกรรมการและเห็นว่าความเลี้ยงแบบแบ่งครึ่ง โดยใช้สัญญาปีต่อปี เริ่มเดือนตุลาคม 2563 และหลังจากเดือนตุลาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 มีกระบือเกิดใหม่อีก 7 ตัว มีผู้ที่เข้าร่วมบริจาคไถ่กระบืออีกรวมอีก ปัจจุบันมีกระบือรวมทั้งสิ้น 37 ตัว และมีเงินฝากในบัญชี 436,611.31 บาท

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ได้เข้าร่วมประชุมหารือระหว่างเทศบาลตำบลลวงเหนือ ผู้เลี้ยง และฝ่ายอำเภอดอยสะเก็ดเนื่องจาก บริเวณพื้นที่เลี้ยงกระบือในพื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารานั้น เป็นพื้นที่ของอุทยานฯ เป็นพื้นที่ขัดกับข้อกฏหมาย นอกจากนั้นยังมีกระบือและวัวของเจ้าของรายอื่น นำมาเลี้ยงในพื้นที่เดียวกัน อาจมีการสับสนและอาจมีการลักลอบนำกระบือออกมา เบื้องต้นทางเทศบาลตำบลลวงเหนือ จึงได้มอบกระบือจำนวน 37 ตัว พร้อมเงินที่เหลือจากการบริจาคกว่า 4 แสนบาท ให้กับทางนายอำเภอดอยสะเก็ดรับพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหานี้กันต่อไป

เชียงใหม่ น้ำพุร้อนสันกำแพงพร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าพักผ่อนหลังปิดช่วงโควิด-19

น้ำพุร้อนสันกำแพงพร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าพักผ่อนอีกครั้ง หลังจากคัสเตอร์น้ำพุร้อนสันกำแพง มีพนักงานของน้ำพุร้อนรวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ขณะนี้การแพร่ระบาดที่ผ่านมากลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว สามารถมาเที่ยวชมพักผ่อนได้ตามปกติ

ผู้สื่อข่าวเดินทางมาที่น้ำพุร้อนสันกำแพง ตำบลบ้านสหกรณ์ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้เปิดให้บริการตามปกติแล้ว หลังจากที่ประสบปัญหาชาวบ้านและพนักงานของน้ำพุร้อนสันกำแพง ติดเชื้อโควิด-19 จนปิดให้บริการน้ำพุร้อนสันกำแพงรวมไปถึงปิดหมู่บ้านสหกรณ์หมู่ที่ 3 ,4,7,8 ตำบลสหกรณ์ แต่ล่าสุดทางน้ำพุร้อนสันกำแพง ได้กลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้ว โดยบรรยากาศยังคงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการแต่ไม่มากเหมือนที่ผ่านมา จัดพื้นที่สำหรับให้แช่เท้าน้ำอุ่น และสามารถให้ต้มไข้ต้มได้เหมือนเดิม ซึ่งอุณหภูมิบริเวณบ่อน้ำพุน้ำสูงถึง 105 องศาเซลเซียส

นางสาวผ่องนภา มโนรัตน์ ประชาสัมพันธ์น้ำพุร้อนสันกำแพงเปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ทางน้ำพุร้อนสันกำแพงได้เปิดให้บริการแต่นักท่องเที่ยวแล้วตามปกติ แต่จะปิดบริการเพียง 2 ส่วนนั้นก็คือ ส่วนบริการน้ำแร่แช่อาบ และบริการสระว่ายน้ำ ส่วนพื้นที่สระแช่เท้าก็เปิดให้บริการตามปกติแต่จะไม่ให้นักท่องเที่ยวลงไปแช่ทั้งตัว เว้นระยะห่างและจะมีจุดให้ล้างมือ บังคับให้นักท่องเที่ยวใส่แมสตลอดเวลาขณะที่เข้าใช้บริการ โดยเปิดให้บริการตั้งแต่ 07.00 น. จนถึงเวลา 18.00 น. ทุกวัน

ประชาสัมพันธ์น้ำพุร้อนสันกำแพง กล่าวอีกว่า ในส่วนพนักงานของน้ำพุร้อนสันกำแพงก็ได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ทุกคนได้รับการฉีควัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่ 2 จึงขอให้มั่นใจได้ว่าน้ำพุร้อนสามารถให้บริการเป็นพื้นที่ปลอดจากเชื้อโรคโควิด-19

เชียงใหม่ วันปล่อยผี ชาวบ้านเชียงใหม่ ทำบุญอุทิศส่วนกุศุลให้กับบรรพบุรุษ

วันปล่อยผี ชาวบ้านเชียงใหม่ ทำบุญอุทิศส่วนกุศุลให้กับบรรพบุรุษ ที่วัดพระเจ้าตนหลวงล้านเหรียญ หรือวัดสารภี อำเภอดอยสะเก็ดจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ติดด้วยเหรียญ 25 สตางค์และ 50 สตางค์ บริเวณฐานและจีวรนับล้านเหรียญแห่งเดียวในประเทศ


ที่วัดสารภี หรือวัดพระเจ้าตนหลวงล้านเหรียญ ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีชาวบ้าน พากันมาทำบุญต๋านขันข้าวอุทิศส่วนกุศล ให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อแสดงความกตัญญู ในวันปล่อยผี หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ตามประเพณีของชาวล้านนา หรือ วัน 12 เป็ง โดยมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม พร้อมทั้งร่วมทำบุญโยนเหรียญ ใส่บาตร พระเจ้าตนหลวงล้านเหรียญ ด้วยเหรียญ 25 สตางค์ และเหรียญ 50 สตางค์ ในบาตรที่วางไว้หน้าตัก พระพุทธรูปพระเจ้าล้านเหรียญและทำบุญบริจาคเหรียญ ติดแท่นพระพุทธรูป เชื่อว่าชีวิตจะเจริญรุ่งเรือง ธุรกิจก้าวหน้ามั่นคง เจ้ากรรมนายเวร งดโทษ เว้นภัย รับบุญใหม่ อโหสิกรรม มีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัย และเป็นที่รักของมนุษย์เทวดา มีผู้ใหญ่ให้ความเมตตา ช่วยเหลือ ซึ่งผู้ใดได้ร่วมกันสร้างฐานพระ แท่นพระก็ดี ได้อนิสงค์ใหญ่มาก


พระครู สมุห์ วินัด อธิสีโล เจ้าอาวาสวัดสารภี บ้านป่าเสร้า ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า พระพุทธรูปพระเจ้าล้านเหรียญ เป็นพระพุทธรูปพระเจ้าทันใจ หน้าตัก 5 เมตร ความสูง 8 เมตร และให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญเหรียญ เป็นกุสโลบายในการทำบุญ ใช้เหรียญมากกว่า 1 ล้านเหรียญ ในการติดรอบองค์พระ ทั้งบริเวณฐานพระ เล็บ มือ เล็บเท้า และจีวรองค์พระ ใช้เวลานานกว่า 1 เดือน ในการติดเหรียญและยังให้ประชาชนโยนเหรียญใส่บาตร ตามที่ตั้งจิตอธิฐาน น่าจะเป็นแห่งเดียวในประเทศ โยนเหรียญใส่บาตร พระพุทธรูป


ขณะเดียวกันทางวัด ยังได้ขอรับบริจาคเหรียญ 1 บาทและเหรียญ 2 บาท นำมาติดฐานพระแทนแก้วกระจก และติดฝาผนังหลังพระ ศาลาหลังใหม่ แล้วแต่แรงศรัทธาตามเจตนา หรือจะส่งมาร่วมทำบุญ ทางพัสดุไปรษณีย์ ได้ที่วัดสารภี เลขที่ 147 หมู่ 1 ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ 50220

เชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1 จัดโครงการสื่อสัญจรดูงาน ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา

สำนักงานชลประทานที่ 1 จัดโครงการสื่อสัญจรดูงาน ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา

วันนี้ (14 ก.ย.64) ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมคณะบริหารผู้บริหารและสื่อมวลชน เดินทางเข้าศึกษาดูงานตามโครงการสื่อสัญจรดูงานชลประทาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ครั้งที่ 2) โดยมี นายอัธยา อรรณพเพ็ชร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับหลังจากนั้น นายกิตติ์วริศ ภัคเชียรโชติ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน ได้บรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำที่ได้ดำเนินงานที่ผ่านมารวมถึงปัญหาที่ จะต้องดำเนินการแก้ไข ถึงกรณีภัยแล้งที่กำลังจะเข้าถึง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำอย่างคุ้มค่ามากที่สุดทั้งด้านอุปโภค บริโภค การเกษตร และอื่นๆ

นายอัธยา อรรณพเพ็ชร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา เปิดเผยว่า สถานะน้ำของ เขื่อนแม่กวงอุดมธาราปัจจุบันนี้ เรามีอยู่ประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์ของความจุน้ำ เพราะฉะนั้นในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงเราก็ต้องบริหารจัดการน้ำโดย 1 เราเน้นเรื่องของการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก และเรื่องของระบบนิเวศ ซึ่งคาดว่าหลังจากเสร็จสิ้นฤดูฝน เราจะมีปริมาณน้ำประมาณ 84 ล้านซึ่งทางเราได้วางแผนบริหารจัดการไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งในช่วงของฤดูแล้งอาจจะต้องขอความร่วมมือกลุ่มผู้ใช้น้ำเกษตรกรงดทำนาปรัง อาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยเป็นต้น

ในส่วนของนายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า ทางเขื่อนฯได้รายงานสถานะการณ์จัดเก็บน้ำ ในปี64 ซึ่งมีปริมาณค่อนข้างน้อย ในส่วนของทางสำนักงานกรมชลประทานที่ 1 ที่กำกับดูแลก็ได้เสนอแผนปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อดำเนินการเติมน้ำเข้ามายังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยได้เน้นย้ำถึงมาตรการการใช้น้ำ การ บริหารจัดการน้ำ ตามมาตรการของกรมฯ และการจัดการกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ ในแม่น้ำตามธรรมชาติ ในช่วงฤดูฝนให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะได้สำรองน้ำมาใช้ในช่วงฤดูแล้ง

ปัจจุบันนี้เขื่อนแม่กวงอุดมธาราก็ได้บริหารจัดการตามมาตรการของกรมฯ โดยมีการประหยัดน้ำ ประหยัดน้ำ ด้วยการส่งน้ำน้อยกว่าแผนประมาณ 20 กว่าล้าน ซึ่งเป็นไปตามมาตรการของทางกรมฯ ในส่วนของการผลิตประปา ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ จะมี 2 แห่งคือเขื่อนแม่งัดและเขื่อนแม่กวง ในการผลิตน้ำประปา ปกติเราได้วางแผนการจัดการน้ำเป็นลำดับแรกให้ความสำคัญในเรื่องการใช้น้ำอุปโภคบริโภคโดยมีการวางแผนใช้น้ำในฤดูแล้งปี 64 ถึงปี 65 ที่จะมาถึงนี้ โดยได้จัดสรรน้ำสำหรับในการผลิตประปาให้เพียงพอไปจนถึงเดือนกรกฎาคมของปี 65 ซึ่งโดยปกติแล้วจะใช้น้ำ จากเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ผลิตน้ำประปาเดือนละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเราได้เตรียม จัดสรรน้ำไว้ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน่าจะเพียงพอในการใช้ผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภคในฤดูแล้งนี้.

เชียงใหม่ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ ต้อนรับสำนักงานชลประทานที่ 1 ตามโครงการสื่อสัญจรดูงานชลประทาน

ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ ต้อนรับสำนักงานชลประทานที่ 1 ตามโครงการสื่อสัญจรดูงานชลประทาน ยืนยันปีนี้เตรียมพร้อมรับมือทุกด้าน เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและรับมือน้ำป่าไหลหลากทุกพื้นที่

วันที่ 14 กันยายน 2564 นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ นายสิรภพ แท่นมณี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 – 8 โครงการชลประทานเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ตำแหน่ง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 และ นายณัฐวุฒิ นากสุก ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมคณะ ที่ได้จัดโครงการกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ดูงานชลประทาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ครั้งที่ 2) ที่ห้องประชุมริมน้ำ ภายในโครงการชลประทานเชียงใหม่

โดย นายสิรภพ แท่นมณี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน ได้บรรยายสรุปถึงภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำภายในโครงการชลประทานเชียงใหม่ ทั้งเรื่องของคลองแม่ข่า ประตูระบายน้ำ การเตรียมความพร้อมป้องกันในช่วงฤดูฝน การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำอย่างคุ้มค่ามากที่สุดทั้งด้านอุปโภค บริโภค การเกษตร และอื่นๆ

ด้านนายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้กล่าวถึง การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำและการกำจัดผักตบชวา โดยจุดแรกที่ได้ดำเนินการที่บริเวณประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิง ในส่วนของโครงการชลประทานเชียงใหม่มีแผนงานที่จะขอสนับสนุนเครื่องจักรที่ใช้ในการจัดเก็บผักตบชวา ลักษณะคล้ายกับรถแบล็คโฮแต่มีตัวจับที่ใช้ขยุ้มและหยิบขึ้นมา เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก

นอกเหนือจากนี้ในปีงบประมาณ 2565 บริเวณน้ำปิงตอนล่างทางกรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้เสนอขอรับการสนับสนุนในการทำทุ่นที่ใช้ในการดักจับผักตบชวา จำนวน 2 แห่ง แห่งแรกที่หน้าฝายดอยน้อย อำเภอดอยหล่อ ซึ่งทุ่นดังกล่าวคล้ายกับที่บริเวณด้านหน้าประตูระบายน้ำป่าแดด และแห่งสุดท้ายก่อนที่ผักตบชวาจะไหลลงสู่ระบายน้ำแม่ปิง บริเวณที่ด้านหน้าประตูระบายน้ำแม่สอย อำเภอจอมทอง ก็ได้รับงบประมาณในการจัดทำทุ่น ความสำคัญของทุ่นคือ เป็นการวางต้านแรงน้ำ เมื่อผักตบชวาจะไหลมาแล้วไหลมารวมกันตรงกลาง ก็ทำให้จัดเก็บได้ง่ายขึ้น ประกอบกับตัวทุ่นนั้นทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเดินและไปจัดเก็บได้ ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการจ้างกลุ่มผู้ใช้น้ำที่จะเข้ามาช่วย เป็นแรงงานคนที่จะเข้ามาจัดเก็บผักตบชวาทุกวัน แล้วนำเมื่อจัดเก็บก็ได้นำไปกำจัดด้วยการทำปุ๋ยหมักที่เทศบาลป่าแดด และเขตเทศบาลนครเชียงใหม่

นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการชลประทานเชียงใหม่ได้มีการติดตามปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่าต่างๆ ในแม่น้ำลำคลองอย่างใกล้ชิด รวมถึงการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน ประตูระบายน้ำและอาคารระบายน้ำต่างๆให้มีความพร้อมในการใช้งานได้ดี นอกจากนั้นให้มีการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่มีผลกระทบต่อการระบายน้ำ ตลอดจนการแจ้งเตือนในพื้นที่ โดยมอบหมายเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานและคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ หากเกิดเหตุการณ์วิกฤติก็จะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงพี่น้องประชาชนให้เฝ้าระวังโดยเฉพาะน้ำป่าไหลหลาก

ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่รอบนอกเขตชลประทาน เขตพื้นที่สูงชันตามพื้นที่เขาต่างๆดังนั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่ายร่วมทั้งประชาชนในการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่อาจเกิดขึ้น การวิเคราะห์ และนำข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา มาร่วมตรวจสอบ วางแผน ทั้งเรื่องร่องความกดอากาศต่ำ หรือเรื่องของพายุต่างๆที่จะเข้ามา มีการเฝ้าระวังในพื้นที่ลุ่มต่ำ และอ่างเก็บน้ำที่เสี่ยงต่อการเต็มความจุเช่น อ่างเก็บน้ำแม่ตะไคร้ อำเภอแม่ออน หรืออ่างสันหนอง อำเภอแม่แจ่มเป็นต้นเบื้องต้นได้มีการพร่องน้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้น้ำสามารถไหลผ่านได้สะดวก แล้ว พร้อมกับกำชับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนหากเกิดสภาวะน้ำป่าไหลหลาก

เชียงใหม่ พาชมความสวยงามของพญานาคราช 4 ตระกูลจิบกาแฟนาคา และดูห้องน้ำที่ไม่เหมือนใคร

พาชมความสวยงามของธรรมสถานม่อนพญานาคราช ที่อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมชมพญานาคราช 4 ตระกูล ภายในวิหารอริยมรรค 8 เหลี่ยม จิบกาแฟนาคา และดูของห้องน้ำหรือห้องสุขาที่มีความสะอาด ร่มรื่นตามถูกสุขลักษณะ เรียกว่า ทิพยสุขาวดี รมณียสถาน

ผู้สื่อข่าวพามาเที่ยวชมความสวยงามที่ธรรมสถานม่อนพญานาคราช บ้านแม่เลน ตำบลออนกลาง อ.แม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเส้นทางสายเชียงใหม่-แม่ออน ทางไปแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนสันกำแพง และบ้านแม่กำปอง โดยอาจารย์พระมหาอาวรณ์ ภูริปญฺโญ พร้อมกับลูกศิษย์ได้ร่วมกันบุกเบิกสร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้นมาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ซึ่งบางส่วนก็กำลังอยู่ในส่วนของการก่อสร้าง แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ก็ได้เสร็จไปแล้ว


คุณจักรกฤษณ์ พุทธก้อน เจ้าของร้านกาแฟนาคา ธรรมสถานม่อนพญานาคราชเปิดเผยว่า สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมซึ่งท่านอาจารย์พระมหาอาวรณ์ ภูริปญฺโญ เป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างมีการปรับปรุงสร้างภูมิทัศน์ขึ้นมา สร้างสถานวัตถุต่างๆ เพื่อให้ประชาชนและพุทธศาสนิกชนที่มีความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนา และเพื่อมาพักผ่อนย่อนใจโดยมีคติที่ว่า จะให้ผู้ที่มาทำบุญมีความสุขกลับไป ไม่ว่าจะเป็นความสุขทางกายทางและสุขทางใจ


ภายในธรรมสถานม่อนพญานาคราช มีหลวงพ่อหนุนดวง ที่แกะสลักจากต้นไม้ขนุนอายุหลายร้อยปีมาประดิษฐาน ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำธรรมสถานม่อนพญานาคราชแห่งนี้ นอกจากนั้นยังมีพระปู่ศรีสุทโธที่บริเวณบ่อน้ำพญานาค มีพระวิหารอริยมรรค 8 เหลี่ยม ที่ประดิษฐานพระประทาน และพญานาคราช 4 ตระกูลที่มีความสวยงามไม่เหมือนที่ใด ไว้ให้ประชาชนและพุทธศาสนิกชนได้ศึกษาเรื่องราวของพญานาคราช พร้อมประดิษฐานพระพุทธรูปแก้วสีสรรสวยงาม ส่วนบริเวณด้านนอกจัดพื้นที่น้ำตกขนาดใหญ่สำหรับไว้พักผ่อนหย่อนใจ


สำหรับห้องน้ำ-ห้องสุขา ทางวัดก็ได้เขียนคำว่า “ทิพยสุขาวดี รมณียสถาน” โดยที่นี่พระอาจารย์ได้สร้างห้องน้ำกว้างขวางมาก เป็นลักษณ์แบบถ่ายเท ปกติห้องน้ำที่มีหลายห้องจะเกิดการอับชื้นเกิดกลิ่นอับส่งกลิ่มเหม็น แต่ด้วยความสนใจของท่านอาจารย์ได้สร้างห้องน้ำด้วยการเปิดให้มีการได้ถ่ายเทและปลูกต้นไม้ในห้องน้ำ ทั้งห้องฝั่งผู้หญิงและฝั่งผู้ชาย พร้อมติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นให้ทุกห้องรวมกว่า 30 ห้อง ส่วนห้องสำหรับผู้สูงอายุและห้องพิการก็มีเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีร้านกาแฟนาคา จัดไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้นั่งพักผ่อนดื่มกาแฟ ถ่ายภาพที่ระลึก โดยในช่วงนี้เป็นช่วงเปิดร้านใหม่ ทางร้านก็ได้จัดโปรโมชั่น ซื้อ 2 แก้วแถมฟรี 1 แก้ว ตามคำพูดที่ว่า “ดื่มด่ำด้วยบุญ หอมกรุ่นกลิ่นกาแฟ “

เชียงใหม่ กำลังผาเมือง ยึดยาบ้า 64,000 เม็ด พื้นที่ อ.เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 5 กองกำลังผาเมือง ยึดยาบ้า 64,000 เม็ด พื้นที่ อ.เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังคนขนยาอาศัยความชำนาญหลบหนี


พล.ต.นฤทธิ์ ถาวรวงษ์ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง เปิดเผยว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา กองร้อยทหารม้าที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 5 (ร้อย.ม.2 ฉก.ม.5) จัดกำลัง 2 ชุดปฏิบัติการออกลาดตระเวนเฝ้าตรวจ บริเวณ บ.อรุโณทัย ม.10 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยขณะลาดตระเวน ตรวจพบบุคคลต้องสงสัย 2 คน แต่งกายคล้ายชาวบ้าน เดินแบกสัมภาระลัดเลาะตามภูมิประเทศ ท่าทางมีพิรุธ หน่วยจึงแสดงตัวเพื่อขอทำการตรวจค้น แต่เมื่อบุคคลดังกล่าวพบเห็นเจ้าหน้าที่ ได้อาศัยความชำนาญพื้นที่วิ่งหลบหนีไปอย่างรวดเร็ว หน่วยจึงจัดกำลังเข้าตรวจสอบพื้นที่โดยรอบ ซึ่งผลการตรวจสอบ พบกระสอบเป้ 1 ใบ บรรจุยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) ประมาณ 64,000 เม็ด


ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง กล่าวต่อว่า จากการสกัดกั้นการลักลอบค้ายาเสพติดตามแนวชายแดนของกองกำลังผาเมือง ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่ติดกับชายแดนไทย – เมียนมา ได้วางมาตรการในการสกัดกั้นปราบปรามยาเสพติด ด้วยการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ การลาดตระเวนพิสูจน์ทราบ การปิดล้อมตรวจค้น ตลอดจนการซุ่มโจมตีของกำลังในพื้นที่ ส่งผลให้ ตั้งแต่ ต.ค.63 ถึง ปัจจุบัน ชายแดนด้านจังหวัดเชียงใหม่ มีผลการปฏิบัติ 229 ครั้ง จับกุมผู้ต้องหาได้ 269 คน ยึดยาบ้าได้กว่า 14,683,445 เม็ด เฮโรอีน 66.1 กิโลกรัม และ ไอซ์ 36.95 กิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม จากความร่วมมือของทุกหน่วยที่ปฏิบัติภารกิจ สามารถลดการนำเข้ายาเสพติดที่จะเข้าสู่พื้นที่ตอนในได้จำนวนมาก เพื่อให้ยาเสพติดหมดไปจากสังคมไทย ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล กองทัพบกและกองทัพภาคที่ 3

เชียงใหม่ ร้านก๋วยเตี๋ยวชามโต บะหมี่เป็ดชามยักษ์ ราคาชาม 299 บาท แถมตะเกียบยักษ์ 1 คู่ หากกินหมดคนเดียวไม่คิดเงิน

ร้านก๋วยเตี๋ยวชามโต จังหวัดเชียงใหม่ บะหมี่เป็ดชามยักษ์ ราคาชาม 299 บาท แถมตะเกียบยักษ์ 1 คู่ หากกินหมดคนเดียวไม่คิดเงิน แต่ยังไม่เคยมีใครทำได้ และยังมีซิกเนเจอร์ชามจัมโบ้ 4 กิโลกรัม ราคา 499 บาท และยังมีอาหารให้เลือกอีกมากมาย ทั้งส้มตำ กาแฟ ไอศรีม ราคาเบาๆ บรรยากาศร้านสุดชิล ริมสระน้ำ อากาศดีกลางทุ่งนา มีมุมให้ถ่ายภาพ และเซลฟี่มุมไหน ก็สวยไปหมด

ร้านก๋วยเตี๋ยวชามโต ชมทุ่ง บ้านป่าแงะ ตำบลออนใต้ ถนนสายเชียงใหม่ – แม่ออน อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ร้านกว้างขวางพื้นที่กว่า 6 ไร่ ตกแต่งสวยงาม บรรยากาศธรรมชาติ อากาศดี กลางทุ่งนาเขียวขจี ร้านตั้งริมสระน้ำ มีปลาแวกว่าย แต่ที่ไม่ธรรมดาของร้านแห่งนี้ เป็นบะหมี่เป็ดชามยักษ์ มีขนาดใหญ่ราคา 299 บาท มีเส้นบะหมี่ 6 ก้อน ผัก 2 ขีด ไข่ต้ม 3 ลูก เป็ดย่างครึ่งตัว น้ำซุปและน้ำปรุง มีตะเกียบยักษ์แถม ส่วนใหญ่เมื่อสั่งชามยักษ์ลูกค้าก็จะพากันถ่ายรูปหรือเซลฟี่ก่อน สำหรับทาน 3 คน หรือ พ่อแม่ลูก ชามนี้ใครทานคนเดียวหมด ให้ทานฟรี แต่ยังไม่เคยมีใครทำได้

นางสาววรรณวนัช ชนะนันทิพัฒน์ อายุ 40 ปี เจ้าของร้านบอกว่า เดิมทำงานบริษัทเอกชน และมาร่วมหุ้นกับพี่ชาย นายเรืองเดช ปาลี มาเปิดร้าน ซึ่งเป็นที่ดินของครอบครัว และพี่ชายขายก๋วยเตี๋ยวเป็ดมาก่อนในตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ทางเจ้าของอาคารไม่ให้เช่าร้านต่อ จึงกลับใช้พื้นที่นาของที่บ้านทำเป็นร้าน และคิดสิ่งที่เป็นซิเนเจอร์คือชามโต หรือชามยักษ์ จึงเป็นที่มาของบะหมี่ชามยักษ์จัมโบ้ ราคา 499 บาท มีเส้นบะหมี่หรือเส้นก๋วยเตี๋ยว 1 กิโลกรัม เป็ดย่างครึ่งตัว เป็ดตุ๋น 2 ขีด น่องไก่ตุ๋น 2 น่อง น่องเป็ด 1 น่อง ไข่ 6 ฟอง เนื้อตุ๋น ไส้ 2 ขีด ลูกชิ้น 6 ลูก ตีนเป็ด 6 ขา เลือด 2 ขีด ผัดสด 2 ขีด น้ำซุป รวมน้ำหนัก 4 กิโลกรัม ชามนี้หากรับประทาน ก็จะประมาณ 6 – 8 คน


นอกจากนั้นทางร้านยังมีสนามให้น้องๆ เล่นหรับลูกค้าที่มาเป็นครอบครัว มีมุมให้ถ่ายภาพหรือเซลฟี่หลากหลายมุม อากาศโล่งสบายมุม และมีมุมให้อาหารกระต่าย หรือให้อาหารปลาในสระน้ำขณะนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวไปด้วย เมนูก็มีให้เลือกมากมาย ทั้งส้มตำ ไอศรีมนมแพะ ขนมหวาน กาแฟ ก๋วยเตี๋ยวชามธรรมดา ก็ราคาทั่วไป มาแล้วไม่ผิดหวัง

เชียงใหม่ กองกำลังผาเมืองปะทะกลุ่มพ่อค้ายาเสพติดฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิต 1 คน ยึดยาบ้ากว่า 4 แสนเม็ด ฝิ่นดิบ 8 กก.

หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 5 กองกำลังผาเมืองปะทะกลุ่มค้ายาเสพติด ฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิต 1 คน บริเวณช่องทาง หนองกะลาง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ยึดยาบ้าจำนวน 430,000 เม็ด ฝิ่นดิบ จำนวน 8 กก.

วันที่ 31 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น. พล.ต.นฤทธิ์ ถาวรวงษ์ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง เปิดเผยว่า เมื่อ 30 ส.ค.64 เวลา 23.45 น.  กองกำลังผาเมือง โดย กองร้อยทหารม้าที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 5 จัดกำลังออกลาดตระเวนเฝ้าตรวจตามแนวชายแดนในพื้นที่ 2 ชุดปฏิบัติการ จำนวน 10 นาย บริเวณช่องทาง หนองกะลาง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในขณะทำการลาดตระเวนบริเวณ บ้านอรุโณทัย ตำบลเมืองนะ ตรวจพบกลุ่มขบวนการลักลอบลำเลียงยาเสพติด ประมาณ 10 – 15 คน พร้อมอาวุธไม่ทราบชนิด ชุดปฏิบัติการสกัดกั้นกองร้อยทหารม้าที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 5 จึงได้แสดงตัวเพื่อขอทำการตรวจค้น แต่กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่และเกิดการปะทะกัน ประมาณ 10 นาที ผลการปะทะฝ่ายเราปลอดภัย ปัจจุบันหน่วยได้จัดกองหนุน จำนวน 3 ชุดปฏิบัติการ เข้าควบคุมบริเวณพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้จากการตรวจสอบพื้นที่โดยรอบ ตรวจพบยาเสพติดจำนวน 5 เป้ ภายในบรรจุยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) จำนวน 430,000 เม็ด ฝิ่นดิบ จำนวน 8 กก. ฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิต 1 ศพ พร้อมปืนเล็กยาวแบบ เอ็ม 16 จำนวน 1 กระบอก

ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองกำลังผาเมือง ได้จัดกำลังตรึงพื้นที่ตามแนวชายแดน ในภารกิจในการป้องกันประเทศ การสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และการสกัดกั้นการลักลอบค้ายาเสพติดสิ่งผิดกฎหมาย พร้อมการควบคุมเส้นทางการเคลื่อนย้ายยาเสพติดและแรงงานต่างด้าวจากแนวชายแดน เข้าสู่พื้นที่ตอนใน จำนวน 108 ชุดปฏิบัติการ โดยร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดน ฝ่ายปกครองตั้งด่านตรวจ/จุดตรวจ 40 จุด ทั้งนี้แม้นว่าอีก 1 เดือนจะมีการสับเปลี่ยนกำลังในการปฏิบัติหน้าที่ตามวงรอบของกองกำลังป้องกันชายแดนปีงบประมาณ 2565 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 แต่ได้วางกำลังในการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การสกัดกั้นการลักลอบค้ายาเสพติดสิ่งผิดกฎหมาย ตลอดจนการช่วยเหลือประชาชน ตามแนวชายแดนไว้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดประสิทธิภาพ