เชียงใหม่ ชาวบ้านร่วมใจหางบฯ สร้างบ้านให้แม่เฒ่าวัย 91 ปี ลูกชายพิการทางสมอง

ชาวบ้านในตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมใจหาทุนสร้างบ้านให้แม่อุ้ย อายุ 91 ปี พร้อมลูกชายพิการทางสมองให้มีที่อยู่อาศัย พร้อมวอนผู้เมตตาผู้ใจบุญ ร่วมบริจาคเพิ่ม

นายอุดม อิ่นคำ นายกเทศมนตรีตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เข้าตรวจดูความคืบหน้าในการก่อสร้างบ้านพักอาศัยให้กับแม่อุ้ยแก้ว สุกัญทา อายุ 91 ปี และบุตรชายที่ป่วยพิการทางสมอง ซึ่งขอความช่วยเหลือมายังเทศบาลตำบลแม่คือ หลังจากถูกขับไล่ออกจากบ้านสวนเมื่อเดือนที่แล้ว จนทำให้ไม่มีที่อยู่อาศัย เมื่อมีข่าวแพร่ออกไปชาวบ้าน ผู้ใจบุญจึงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สินและสิ่งของต่างๆ ในการก่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัยให้กับแม่อุ้ยแก้ว แต่ก็ยังขาดเงินในการก่อสร้างอีกจำนวนหนึ่ง


นายกเทศมนตรีตำบลแม่คือกล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการสร้างบ้านให้ผู้ที่ไร้ที่อยู่อาศัย โดยการร่วมมือของพี่น้องประชาชนในตำบลแม่คือ ผู้มีจิตศรัทธาที่อยากจะเห็นผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส มีที่อยู่ที่มั่นคงบ้านหลังนี้ตั้งใจสร้างให้อยู่ 2 ครอบครัว เป็นครอบครัวของแม่อุ้ยแก้ว สุกันทา กับลูกชายที่พิการทางสมอง กับอีกครอบครัวหนึ่ง สำหรับงบประมาณการก่อสร้างส่วนหนึ่งตนเองได้ร่วมบริจาค เสาและหลังคาบ้าน อีกส่วนหนึ่งก็เป็นชิ้นส่วนของชาวบ้านที่บ้านถูกรื้อหลังจากขายที่ดิน ก็ได้นำไม้และชิ้นส่วนต่างๆ จากบ้านที่ถูกรื้อมาร่วมบริจาคสร้างบ้านหลังนี้ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นการบริจาคเงินจากผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ และชาวบ้านในตำบลแม่คือ ซึ่งในขณะนี้ก็ได้ให้แม่อุ้ยแก้วไปเปิดบัญชีออมทรัพย์ ชื่อนางแก้ว สุกันทา ของธนาคารกรุงไทย สาขาบ่อสร้าง เลขที่บัญชี 553-0-38754-3 ซึ่งขณะนี้ผู้ที่ดูแลบัญชีการรับบริจาคก็เป็นเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลแม่คือ คอยดูแลในเรื่องบัญชีการรับบริจาคเงินให้กับแม่อุ้ยแก้วอยู่ แต่ขณะนี้ก็ยังขาดงบประมาณในการก่อสร้างบ้านอีกจำนวนหนึ่ง

ด้านแม่อุ้ยแก้ว สุกันทา ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านพักของผู้ใจบุญที่บ้านสันต้นแหน ตำบลแม่คือ เปิดเผยว่า ดีใจและขอขอบคุณท่านนายกเทศบาลตำบลแม่คือที่เข้าช่วยเหลือตนและบุตรชาย หางบประมาณมาก่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัยให้กับตนเองและลูก ซึ่งตนเองเป็นชาวอำเภอฝาง มาอยู่บ้านในสวนเขตเทศบาลตำบลแม่คือได้ 18 ปี เมื่อเจ้าของที่ขายสวนก็ต้องออกมาจึงไม่มีที่อยู่ ก็ต้องอาศัยบ้านหลังไม้เก่านี้ไปก่อนจนกว่าบ้านที่สร้างใหม่จะเสร็จ

เชียงใหม่ เทศบาลเมืองแม่เหียะเน้นย้ำครูและผู้ปกครอง 6 มาตรการรับมือโควิด-19 เปิดภาคเรียน 1 กค.นี้

เทศบาลเมืองแม่เหียะ จัดประชุมครูและผู้ปกครองสถานศึกษาระดับปฐมวัยสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมความพร้อมและชี้แนะ มาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในโรงเรียนก่อนเปิดเทอม 1 ก.ค. นี้ ให้จัดเตรียมจุดล้างมือเพิ่ม เด็กนักเรียนต้องสวมหน้ากากอนามัย ห้องเรียนต้องเว้นระยะห่าง ให้นักเรียนสลับกันมาโรงเรียน งดจัดกิจกรรม

วันนี้ 24 มิ.ย. 63 ณ อาคารอเนกประสงค์ เทศบาลเมืองแม่เหียะ นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ เป็นประธานในการประชุมครูและผู้ปกครองโรงเรียนอนุบาลเทศบาลเมืองแม่เหียะ ในการสร้างความเข้าใจ พร้อมทั้งมอบอุปกรณ์การเรียนและหน้ากากอนามัยให้เด็กนักเรียน เพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนเปิดเทอม 1 ก.ค. นี้

นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะกล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลได้มีการประกาศให้ เปิดเทอม วันที่ 1 ก.ค. 2563 เทศบาลเมืองแม่เหียะคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนในสังกัดเป็นอย่างมากจึงมีการจัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมครู และผู้ปกครอง ให้มีความเข้าใจ และช่วยกัน เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ โควิด-19 อันจะส่งผลต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยให้เริ่มจากสร้างสุขลักษณะในครัวเรือนก่อน รวมถึงก่อนมีการเปิดเรียนมีการล้างทำความสะอาดอาคารเรียน และอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงเรียน

นอกจากนี้มีการเตรียมความพร้อม 6 มาตรการ สร้างความปลอดภัยลดการแพร่ระบาด โดยใช้มาตรการของสาธารณสุขเป็นหลัก ประกอบด้วย
(1.) คัดกรองตรวจวัดไข้ก่อนเข้าสถานศึกษา คุณครูจะจัดให้เด็กนักเรียน เว้นระยะห่าง
(2.) สวมหน้ากาก จะต้องให้ให้เด็กๆสวมหน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียน และผู้ปกครองต้องเตรียมหน้ากากอนามัยให้เด็กทุกวันพร้อมทั้งดูแลความสะอาดอยู่เสมอ
(3.) การล้างมือ มีการเพิ่มจุดล้างมือ พร้อมเจลแอลกอฮอร์ และให้ครูกำชับนักเรียนล้างมือสม่ำเสมอ ซึ่งเมื่อก่อนเด็กจะมีล้างมือก่อนที่จะรับประทานอาหารกลางวัน แต่ตอนนี้ต้องล้างมือก่อนเข้าโรงเรียน ล้างมือก่อนเข้าชั้นเรียน ถ้ามีการเปลี่ยนชั้นเรียนหรือเปลี่ยนพื้นที่จะต้องไปล้างมือ ก่อนแปรงฟัน หลังแปรงฟันก็ต้องล้างมือ ซึ่งทางโรงเรียนมีการจัดระบบการล้างมือสำหรับเด็กๆทุกคน รวมไปถึงต้องจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ ไว้รองรับนักเรียนอย่างเพียงพอ
(4.) การเว้นระยะห่าง มีการจัดระเบียบการเว้นระยะห่าง 1 เมตร และให้ดูความเหมาะสมในการรองรับนักเรียนในห้องเรียน รวมถึงกิจกรรมนอกห้องเรียนและโรงอาหาร มีการจัดรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ โดยมีทางเลือกหลายรูปแบบ เช่น ทำพื้นที่ชั่วคราวในโรงเรียนเพื่อให้เกิดการเรียนแบบคู่ขนานกัน และใช้วิธีผลัดกันมาเรียน ส่วนโรงอาหารจัดจัดโต๊ะให้เว้นระยะห่าง ให้เด็กสลับเปลี่ยนกันเข้าโรงอาหารซึ่งทางได้ออกแบบเพื่อรักษาหลักการการเว้นระยะห่างอยู่แล้ว
(5.) การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย ปกติแล้วโรงเรียนก็มีการจัดการเรื่องความสะอาดอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ต้องเน้นมากขึ้นในจุดพื้นผิวสัมผัสทั้งหมด และ พื้นที่ที่เด็กต้องไปใช้ร่วมกัน
(6.) ลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัส ร่วมกัน ซึ่งทางโรงเรียนอาจจะต้องยกเลิกกิจกรรม จะต้องไม่ให้มีการแออัดมากเกินไป เช่น การจัดกีฬาสี หรือการจัดการแข่งขันบางอย่างที่มีการรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้อาจต้องงด หรือ ต้องยกเลิกไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

โดยเทศบาลเมืองแม่เหียะได้ดำเนินการตามนโยบาย และมาตรการอย่างต่อเนื่องไปจนถึงในระดับพื้นที่ กระบวนการนี้ไม่ได้ทำในเฉพาะสถานศึกษาในสังกัดเทศบาลเมืองแม่เหียะเท่านั้น แต่จะทำทุกๆโรงเรียน ในเขตพื้นที่เมืองแม่เหียะ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการ เช่น ให้ทุกโรงเรียนมีการจัดชั้นเรียนใหม่ มีการเติมอุปกรณ์การเรียนให้เด็ก มีความจำเป็นที่จะต้องล้างมือบ่อยๆ โรงเรียนต้องจัดจุดล้างมือเพิ่มขึ้นจากเดิม โรงอาหารอาจต้องไปทำฉากกั้น เพื่อให้เด็กเข้าไปใช้โรงอาการ อย่างไรก็ตาม หากมีการเปิดเทอม จะมีการดำเนินการจัดชุดปฏิบัติการลงพื้นที่เพื่อดูความพร้อมและให้คำแนะนำที่เหมาะสมในสถานศึกษาในพื้นที่ทุกแห่งต่อไป

ขอบคุณภาพข่าวจากเทศบาลเมืองแม่เหียะ

เชียงใหม่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแกะสลักไม้บ้านถวาย พร้อมรับนักท่องเที่ยว

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแกะสลักไม้บ้านถวาย จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมรับนักท่องเที่ยว หลังสถานการณ์โควิด-19

วันนี้ (24 มิ.ย. 63) เวลา 10.30 น. นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแกะสลักไม้บ้านถวาย ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด- 19 เริ่มคลี่คลาย จากการลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจ พบว่าผู้ประกอบการ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้เตรียมพร้อมสำหรับการรองรับนักท่องเที่ยวซึ่งจะเดินทางเข้ามา

นายวสันต์ เดชะกัน นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินค้าหัตถกรรมบ้านนถวาย และในฐานะรองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงผลการประชุมหารือของผู้ประกอบการในชุมชนหัตกรรมบ้านถวาย ว่า ทางชุมชนได้ร่วมกันวางมาตรการในการดูแลนักท่องเที่ยวและลูกค้าที่จะเข้าซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ของชุมชน พร้อมจัดเตรียมมาตรการส่งเสริมการขาย การท่องเที่ยว ควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19

“หมู่บ้านถวาย” เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP ต้นแบบของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงด้านงานศิลปหัตถกรรมไม้แกะสลัก และเป็นศูนย์รวมของสินค้าหัตถกรรมทุกแขนง เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชาวบ้านในชุมชนแกะสลักไม้บ้านถวายแห่งนี้ ก็ได้เตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวตามแบบชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักเช่นเดิม


ขอขอบคุณภาพข่าวจาก สนง.ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

 

เชียงใหม่ ส.ว.ก๊อง เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

ส.ว.ก๊อง เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ได้รับสมญานาม พระภิกษุชูชัย(ชยาภินน.โท) โดยมีข้าราชการระดับสูง หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นักการเมืองและเพื่อนฝูงญาติพี่น้องเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย,นายไพโรจน์ โล่สุนทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและอดีตส.ส.ลำปาง,ท่านวัฒนชัย คุ้มวงศ์ดี รองอัยการสูงสุด,ข้าราชการและอดีตข้าราชการระดับสูง,นักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นจำนวนมาก นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และผู้จัดการทีมสโมสรเชียงใหม่ เอฟซี และประชาชนที่สนับสนุน ญาติ พี่น้องร่วม 3 พันคนได้เข้าร่วมพิธีอุปสมบทนายชูชัย เลิศพงค์อดิศร หรือส.ว.ก๊อง อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงใหม่และว่าที่ผู้สมัครนายกอบจ.เชียงใหม่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเข้าพิธีอุปสมบทในวันนี้โดยมีพระเดชพระคุณพระเทพสิงหวราจารย์ รองเจ้าคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่เป็นพระอุปัชฌาชย์ พร้อมพระสงฆ์ในพิธีจำนวน 15 รูป โดยได้รับสมญานามว่าพระภิกษุชูชัย (ชยาภินน.โท) ซึ่งมีความหมายว่าผู้มีชัยชนะเป็นเครื่องเพลิดเพลิน

จากนั้นพระภิกษุชูชัย(ชยาภินน.โท)ได้เดินบิณฑบาตจากหน้าพระอุโบสถมายังศาลาสหัสหงส์ มหาคุณอนุสรณ์ ซึ่งเป็นหอฉันท์ โดยนิมนต์พระสังฆาธิการจาก 58 วัด พระภิกษุชูชัย(ชยาภินน.โท)กราบคณะพระสังฆาธิการในพิธี ประเคนไทยทานและถวายภัตราหารเพล พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ 21-24 มิ.ย.63 พระภิกษุชูชัย(ชยาภินน.โท) จะจำวัดอยู่ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อ.เมืองเชียงใหม่และในวันที่ 28-30 มิ.ย.จะไปจำวัดที่วัดป่าไม้แดง อ.ไชยปราการและในวันที่ 1-4 ก.ค.ที่วัดร้องวัวแดง อ.สันกำแพง และยังมีกำหนดการพิธีพุทธาภิเษกและถวายเทียนพรรษา 19 วัดในวันศุกร์ที่ 3 ก.ค.ที่รพ.แม่ออน และแจกทานไข่ไก่ให้กับผู้มาร่วมงานทั้งจากอ.สันกำแพงและอ.แม่ออนรวม 500 คนอีกด้วย

ลำปาง พาเที่ยวและสำรวจหมู่บ้านปากบอกอำเภองาว จังหวัดลำปาง

พาเที่ยวและสำรวจหมู่บ้านปากบอก อำเภองาว จังหวัดลำปาง ปลูกใบชาและกาแฟ สร้างรายได้ แต่ชาวบ้านหมู่บ้านแห่งนี้อาศัยอยู่หลายชั่วอายุคนแต่ทั้งหมู่บ้านและพื้นที่ทำการเกษตร ไม่มีเอกสารสิทธิ์แต่อย่างใด ชาวบ้านร่อนหนังสือถึง รมช.มหาดไทยเมื่อต้นปี 2561 ขอให้ช่วยเหลือเรื่องก็ยังเงียบ

พากันมาเที่ยวชมธรรมชาติที่สวยงามและสำรวจพื้นที่บ้านปากบอก หมู่ 6 ตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นที่ราบสูงและเนินเขา ทำให้ภูมิอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี เหมาะในการทำการเกษตรปลูกพืชเมืองหนาว มีเขตติดต่อพื้นที่จังหวัดพะเยา เส้นทางคมนาคมที่สะดวก ห่างจากที่ว่าการอำเภองาวประมาณ 70 กิโลเมตร

ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาสูงสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ที่มีความชุ่มชื่นหนาวเย็นอยู่เกือบตลอดทั้งปี ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงนิยมปลูกข้าวโพด ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนนำพันธุ์ชามาทดลองปลูก ปรากฎผลได้เป็นที่น่าพอใจและได้ชาที่มีคุณภาพดี จึงได้มีการจัดตั้งรวมกลุ่มเกษตรกรและขยายพื้นที่ในการปลูกชาแทนพื้นที่ปลูกข้าวโพด ล่าสุดมีการนำเมล็ดพันธุ์กาแฟเข้ามาปลูกในพื้นที่ ก็สร้างรายได้ใหักับชาวบ้านในพื้นที่เช่นกัน

างศรี หลวงบุญมี บอกว่า อาศัยที่หมู่บ้านปากบอกแห่งนี้ตั้งแต่เกิด ซึ่งปัจจุบันนี้ตนเองอายุ 81 ปีแล้วแต่ ก่อนชาวบ้านมีอาชีพปลูกเมี่ยง หรือใบชา และปลูกข้าวโพด ปัจจุบันเริ่มมีการนำกาแฟมาปลูก เพราะพื้นที่แห่งนี้เหมาะกับการปลูกกาแฟได้ผลผลิตที่ดี โดยที่หมู่บ้านปากบอกแห่งนี้ ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายพื้นที่หมู่บ้านและพื้นที่ทำเกษตรของชาวบ้านก็ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มี นส.3 แต่อย่างใด ในเรื่องนี้ก็อยากฝากไปยังหน่วยราชการเร่งเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ ตรวจหลักฐานเพื่อจะได้ออกเอกสารสิทธิ์และพื้นที่ทำกินให้กับชาววบ้านอย่างชัดเจน


ขณะที่นางซอน ดีใจ อายุ 64 ปี ชาวบ้านปากบอกกล่าวเสริมว่า หมู่บ้านแห่งนี้บ้านทุกหลังไม่มีเอกสารสิทธิ์แต่อย่างใด ในขณะที่พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ก็ทำในป่าใกล้กับหมู่บ้านส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพด ใบชา และกาแฟ ก็อยากฝากผ่านทางสื่อฯ ไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เข้ามาตรวจดูพื้นที่เพื่อออกเอกสารสิทธิ์ให้กับชาวบ้านด้วย ซึ่งมีบ้านเรือนชาวบ้านกว่า 72 ครัวเรือนไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดินแม้แต่รายเดียว และทุกวันนี้พื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน ก็ทำในพื้นที่ป่าบริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งซ้าย โดยเจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้ปลูกไปเรื่อยๆ ห้ามขยายพื้นที่แบบทุกวันนี้


อย่างไรก็ดีชาวบ้านปากบอก ได้ทำหนังสือร้องทุกข์ของความช่วยเหลือด้านกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินและที่ดินอยู่อาศัยของราษฏร ถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายนิพนธ์ บุญญามณี) อ้างถึงนโยบายรัฐบาลด้านการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฏร พร้อมแนบเอกสารบัญชีรายชื่อราษฏรที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปางจำนวน 1 ชุด


ทั้งนี้ตามที่ราษฏรได้รับทราบถึงแนวนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เกี่ยวกับสิทธิ์ในที่ทำกินและที่ดินอยู่อาศัยของราษฏร ซึ่งตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง มีราษฏรจำนวนมากและมีฐานะยากจน ขาดสิทธิและโอกาสในการทำมาอาชีพอย่างไม่เท่าเทียมกัน ทั้งที่ได้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินดังกล่าวกันมานานหลายสิบปี แต่ยังไม่ได้เอกสารสิทธิ์เป็นของตนเองเช่นเดียวกับที่ดินของพื้นที่อื่นๆ อย่างไม่เท่าเทียมกัน เคยมีเจ้าหน้าที่หลายคนมาบอกจะช่วยเหลือ แต่ก็ไม่ดำเนินการให้เลย จนได้รับความเดือดร้อนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นราษฏรตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง จึงขอพึ่งอำนาจจากท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทหาดไทย ได้โปรดอนุเคาะห์ความช่วยเหลือราษฏรให้ได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นด้วย

 

เชียงใหม่ เล่นดนตรีส่งวิญญาณ สมบูรณ์ บุญโรจน์ ศิลปินล้านนา เจ้าของบทเพลง ต๋ำฮายา

เล่นดนตรีส่งวิญญาณ สมบูรณ์ บุญโรจน์ ศิลปินล้านนา เจ้าของบทเพลง ต๋ำฮายา และ นางหลายใจ ขึ้นสรวงสวรรค์

ผู้สื่อข่าวรายงานจากวัดตองกาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ สถานที่บำเพ็ญกุศลศพศิลปินล้านนา เป็นการสูญเสียปูชณียบุคคลอีกท่านหนึ่ง คือ อ.สมบูรณ์ บุญโรจน์ เจ้าของเพลง “ต๋ำฮายา” เสียชีวิตลงเมื่อวันนี้ 14 มิถุนายน 2563 ด้วยอายุ 62 ปี เมื่อเวลา 11.11 น. ณ โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ หลังจากป่วยด้วยโรคไต ญาตินำประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดตองกาย และวันที่ 18 มิ.ย.นี้เวลา 12.00 น.จะเคลื่อนย้ายศพประกอบพิธีฌาปนกิจศพที่สุสานบ้านตองกาย


ที่น่าสนใจคือ ช่วงสายวันเดียวกันนี้ ศิลปินล้านนาเชียงใหม่กว่า 50 ชีวิต จัดเวทีเล่นดนตรีเพื่อให้แฟนเพลงได้รับชมผลงานเพลงของ อ.สมบูรณ์ นำผลงานถ่ายทอดโดยการนำของ อ.ชินชัย แก้วเรือน เจ้าของบทเพลง “ปอยหลวงวังสะแกง” และ อ.นพ CM ครูเพลงที่สนิทกับ อ.สมบูรณ์ พร้อมด้วยลูกศิษย์ เช่น “เบิ้ม เพิ่มพูล บุญโรจน์” และศิลปินชื่อดังเมืองเหนือหลายท่าน ร่วมขับร้องเพลงให้ความบันเทิงกับแฟนเพลงที่วัดตองกายในช่วงค่ำของทุกคืนในช่วงบำเพ็ญกุศลศพที่ผ่านมา มีวงปั๊กตืน นำเครื่องดนตรีมาขับกล่อมทุกคน และศิลปินมาให้ความบันเทิง ประกอบด้วย “เทิดไท ชัยนิยม”,”อ้อย สุรี”,”วิทูรย์ ใจพรหม”,”อ้อด ไพศาล”,”อ๊อด พับร็อค”,”ศรีนวล นพดล”,”ป๋อ ปั๊กตืน”,”ติ่ง สรรชัย ฉิมพะวงค์”,”หมวก สุรชัย”,”ปฏิญญา ตั้งตระกูล”,”มุกดา ญาใจ” และ ” ชาตรีกับเบิ้ม” เจ้าของบทเพลง “ย่ามา” ที่โด่งดังในอดีตได้แต่งเพลงให้ อ.สมบูรณ์ และขับร้องในงานศพคืนวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมาด้วย และต้องขออภัยศิลปินที่ไม่ได้เอ่ยนาม เพราะมีจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในวันที่ 18 มิ.ย. ช่วงเช้าที่วัดตองกาย ศิลปินจะเริ่มเล่นดนตรี เวลา 10.00-12.00 น. จากนั้นช่วงบ่ายจัดเวทีเล่นดนตรีที่สุสานตองกายเพื่อส่งดวงวิญญาณ อ.สมบูรณ์ อีกครั้งหนึ่งต่อไป

อ.สมบูรณ์ ในวัยหนุ่ม เดินทางไปเล่นดนตรีจังหวัดไหน ก็จะแต่งเพลงให้จังหวัดนั้นๆ เช่นเดินทางไป จ.ตาก แต่งเพลง “งามเมืองตาก” เป็นต้น ส่วนเพลง “นางหลายใจ” มีศิลปินหลายท่านนำไปร้องโด่งดังไปทั่วประเทศ อ.สมบูรณ์ เป็นศิลปินรุ่นเดียวกับ “จรัล มโนเพชร” และอ.ชินชัย แก้วเรือน” เจ้าของเพลง “ปอยหลวงวังสะแกง” ขวัญใจวัยรุ่นในอดีต และ “อ.บุญศรี รัตนัง” นับเป็นศิลปินล้านนาเชียงใหม่อีกคน ที่มีชื่อเสียงในด้านวงการบันเทิง เพลงคำเมืองเหนือ ที่โด่งดังมาพร้อมๆกัน ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน


สำหรับประวัติ อ.สมบูรณ์ บุญโรจน์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2501 ด้านชีวิตส่วนตัว สมรสกับนางทองพูน ตองกาย และมีบุตรด้วยกัน 2 คน เป็นหญิง 1 คน ชาย 1 คน เป็นศิลปินของภาคเหนือ ที่ศิลปินรุ่นหลังยกย่องเป็นเป็นปูชนียบุคคลที่มีคุณค่าท่านหนึ่ง สร้างผลงานเพลงมาแล้วจำนวนมาก นอกจากเพลงต่ำฮายา เพลง “นางหลายใจ” ผู้ที่นำไปขับร้องจนโด่งดังโดยศิลปิน จ.เชียงราย “ปัญญา กตัญญู” ได้โด่งดังมากในอดีต สำหรับท่านใดที่ต้องการร่วมทำบุญเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของ อ.สมบูรณ์ บุญโรจน์ สามารถร่วมทำบุญได้ที่ ชื่อบัญชี นางทองพูน ตองกาย (ภรรยา) บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาบิ๊กซีหางดง เลขที่ 787 0 09693 8 ได้

เชียงใหม่ ปาฏิหาริย์ ! พิธีตั้งศาลพระพรหมปางช้างแม่สา

ปาฏิหาริย์ พิธีตั้งศาลพระพรหมปางช้างแม่สา เสร็จพิธีเปิดฟ้า ฝนตกหนัก ย้ำปางช้างแม่สาเปิดให้ชมฟรียาวไป

เมื่อเช้าวันที่ 17 มิ.ย.2563 ที่ลานพระพิฆเณศ ภายในปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ได้ประกอบพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่นายชูชาติ หรือพ่อเลี้ยงชูชาติ กัลมาพิจิตร เจ้าของปางช้างแม่สา โดยนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป ประกอบพิธีทางศาสนา นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมภรรยานางอัญชลี บุญณราช (กัลมาพิจิตร) บุตรสาวพ่อเลี้ยงชูชาติ ผู้บริหารกิจการปางช้างแม่สา ได้จุดธูปเทียนไหว้พระพร้อมประกอบพิธีทางศาสนารับศีลรับพร จากนั้นถวายปัจจัยพร้อมสังฆทาน(ชุดปิ่นโต)แด่พระสงฆ์ อีกทั้งยังเป็นการทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันเกิดนางอัญชลี บุญณราชอีกด้วย


จากนั้นประกอบพิธีพราหมณ์ โดยอาจารย์มุณีพราหมณ์ สุพจน์ ฤทธิ์ทา พราหมณ์หลวง นำประกอบพิธีตั้งองค์พระพรหม หรือตั้งศาลพระพรหม ตามด้วยการประกอบพิธีบูชาพระพิฆเณศ ผู้เข้าร่วมพิธีมีบุตรหลานของพ่อเลี้ยงชูชาติ และอาจารย์ควาญช้าง ทีมสัตวแพทย์ปางช้างแม่สา และพนักงานปางช้างแม่สาร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียงกัน


การประกอบพิธีมงคลดังกล่าว ในช่วงประกอบพิธีตั้งแต่เช้าเริ่มเวลา 08.09 น.ถึงเวลา 12.00 น.เป็นพิธีมงคลอากาศเย็นสบาย มีเมฆปกคลุม การประกอบพิธีมีการจุดธูปเทียนและประพรหมน้ำมนต์ ในพิธีบูชาพระพิฆเณศ และพิธีตั้งองค์พระพรหม มีการแป้งเจิมวัตถุมงคลต่างๆในช่วงตั้งองค์พระพรหม ก็ไม่เกิดฝนตก ถือว่าเป็นมงคล ซึ่งตามความเชื่อหากประกอบพิธีแล้ว เจิมแป้งมงคล และประพรหมน้ำมนต์จะทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์เป็นมงคลอย่างยิ่งในการประกอบพิธีมงคลดังกล่าวนั้นๆ แต่หากเกิดฝนตกจะทำให้น้ำมนต์และแป้งเจิมที่ศักดิ์สิทธิ์ถูกน้ำฝนชะล้างออกไปได้


แต่ที่น่าประหลาดใจอีกคือ ตลอดช่วงเช้าที่ได้ประกอบพิธีมงคลตลอดเวลาของการตั้งองค์พระพรหม ไม่เกิดฝนตกเลย จนกระทั่งนายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ อัญเชิญพระพรหมขึ้นตั้งองค์ในสถานที่มงคล คือตั้งในศาลพระพรหมเสร็จสิ้นแล้วนั้น ต่อมาอาจารย์มุณีพราหมณ์ สุพจน์ ฤทธิ์ทา พราหมณ์หลวง บอกว่าเสร็จพิธีตั้งศาลพระพรหมแล้วเปิดฟ้า ก็เกิดลมพัดมาในพิธี แล้วทันใดนั้น ก็เกิดฝนตกอย่างหนักขึ้นมาทันที ผู้เข้าร่วมในพิธีเชื่อเป็นปาฎิหาริย์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นทั้งหมดร่วมประกอบพิธีบูชาพระพิฆเณศ เป็นอันเสร็จพิธีมงคล

ในช่วงเลี้ยงอาหารแขกที่เดินทางมาร่วมงาน ทางพนักงานของปางช้างแม่สาได้ร่วมกันนำเค้กมามอบให้นางอัญชลี ทั้งหมดร่วมรับประทานอาหารและขนมแขกพร้อมกัน ส่วนการบริการของปางช้างแม่สา ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางเข้าชมฟรี ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ด้วย คือ สวมใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง พร้อมให้พนักงานปางช้างแม่สา ตรวจวัดอุณภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และลงทะเบียนเชคอิน-เอ้าท์ ผ่านแอพพลิเคชั่นไทยชนะ

เชียงใหม่ ศิลปินล้านนา ร่วมไว้อาลัย สมบูรณ์ บุญโรจน์

วงการศิลปินล้านนา ในสูญเสียปูชณียบุคคล ศิลปินลูกทุ่งล้านนา ชื่อดัง อ.สมบูรณ์ บุญโรจน์ เจ้าของเพลง “ต๋ำฮายา” โดย ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันนี้ 14 มิถุนายน 2563 ด้วยอายุ 62 ปี เมื่อเวลา 11.11 น. ณ โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ หลังจากป่วยด้วยโรคไต และรักษาตัวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560

วันที่ 16 มิ.ย. 63 ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศงานสวดอภิธรรม อ.สมบูรณ์ บุญโรจน์ ณ วัดตองกาย ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ มีศิลปินล้านนา มาร่วมไว้อาลัยจำนวนหลายท่าน ซึ่ง บรรยากาศในค่ำคืนนี้ ศิลปินล้านนา ยังได้ร่วมกัน ร้องเพลงไว้อาลัยให้กับ อ.สมบูรณ์ บุญโรจน์ 


ประวัติ : อ.สมบูรณ์ บุญโรจน์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2501 ด้านชีวิตส่วนตัว สมรสกับนางทองพูน ตองกา และมีบุตรด้วยกัน 2 คน เป็นศิลปินของภาคเหนือ ที่ศิลปินรุ่นหลังยกย่องเป็นเป็นปูชนียบุคคล ที่มีคุณค่าคนหนึ่ง สร้างผลงานเพลงมาแล้วจำนวนมาก เมื่อ อ.สมบูรณ์ ล้มป่วย ศิลปินทุกท่านก็ทราบกันดีว่า การรักษาต้องใช้เงินจำนวนมาก ตนจึงประสานศิลปินในภาคเหนือหลายท่าน มารวมตัวกันขับกล่อมบนเพลงให้ชาวเชียงใหม่ได้ฟังเพลง มีทั้งเพลงในอดีต และบทเพลงในปัจจุบันของศิลปินแต่ละท่าน

อ.สมบูรณ์ ในวัยหนุ่ม เดินทางไปเล่นดนตรีจังหวัดไหน ก็จะแต่งเพลงให้จังหวัดนั้นๆ เช่นเดินทางไป จ.ตาก แต่งเพลง “งามเมืองตาก” เป็นต้น ส่วนเพลง “นางหลายใจ” มีศิลปินหลายท่านนำไปร้องโด่งดังไปทั่วประเทศ อ.สมบูรณ์ เป็นศิลปินรุ่นเดียวกับ “จรัล มโนเพชร” และ “อ.บุญศรี รัตนัง” นับเป็นศิลปินล้านนาเชียงใหม่อีกคน ที่มีชื่อเสียงในด้านวงการบันเทิง เพลงคำเมืองเหนือ ที่โด่งดังมาพร้อม ๆ กัน ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน

สำหรับท่านใดที่ต้องการร่วมทำบุญ ในการตั้งศพสวดอภิธรรมและเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของ อ.สมบูรณ์ บุญโรจน์ สามารถร่วมทำบุญได้ที่ ชื่อบัญชี นางทองพูน ตองกา (ภรรยา) บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาบิ๊กซีหางดง เลขที่ 787 0 09693 8
โดยมีกำหนด ฌาปนกิจศพ ในวันพฤหัสบดี ที่ 18 มิถุนายน 2563

เชียงใหม่ สิ้นแล้ว สมบูรณ์ บุญโรจน์ ศิลปินล้านนา ชื่อดัง เจ้าของเพลง ต๋ำฮายา

สิ้นแล้ว “สมบูรณ์ บุญโรจน์” ศิลปินล้านนา ชื่อดัง เจ้าของเพลง “ต๋ำฮายา” เพื่อนรุ่นเดียว “จรัล มโนเพชร” และ “อ.ชินชัย แก้วเรือน” เจ้าของเพลง “ปอยหลวงวังสะแกง” ขวัญใจวัยรุ่นในอดีต

.ครอบครัว อ.สมบูรณ์  บุญโรจน์…….

เมื่อวันนี้ 14 มิ.ย. 63 วงการศิลปินล้านนา ในสูญเสียปูชณียบุคคล ศิลปินลูกทุ่งล้านนา ชื่อดัง อ.สมบูรณ์ บุญโรจน์ เจ้าของเพลง “ต๋ำฮายา” โดย ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันนี้ 14 มิถุนายน 2563 ด้วยอายุ 62 ปี เมื่อเวลา 11.11 น. ณ โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ หลังจากป่วยด้วยโรคไต และรักษาตัวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนอาการดีขึ้นแต่ได้ทำการล้างไตด้วยตัวเองที่บ้าน ต่อมาอาการทรุดหนักเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลหางดง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 1 พ.ค.2563 ต่อมาวันที่ 2 พ.ค. ได้ถูกส่งตัวรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด จนกระทั้งเสียชีวิตในวันที่ 14 มิ.ย.ในวันนี้

อ.สมบูรณ์ บุญโรจน์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2501 ด้านชีวิตส่วนตัว สมรสกับนางทองพูน ตองกาย และมีบุตรด้วยกัน 2 คน เป็นหญิง 1 คน ชาย 1 คน เป็นศิลปินของภาคเหนือ ที่ศิลปินรุ่นหลังยกย่องเป็นเป็นปูชนียบุคคล ที่มีคุณค่าคนหนึ่ง สร้างผลงานเพลงมาแล้วจำนวนมาก เมื่อ อ.สมบูรณ์ ล้มป่วย ศิลปินทุกท่านก็ทราบกันดีว่า การรักษาต้องใช้เงินจำนวนมาก ตนจึงประสานศิลปินในภาคเหนือหลายท่าน มารวมตัวกันขับกล่อมบนเพลงให้ชาวเชียงใหม่ได้ฟังเพลง มีทั้งเพลงในอดีต และบทเพลงในปัจจุบันของศิลปินแต่ละท่าน

มีศิลปินที่มาร่วมงานประกอบด้วย เทพธารา ปัญญามานะ, เทอดไท ชัยนิยม, เสมา เมืองเม็งราย, เกษร ขวัญลดา, มุกดา ญาใจ, น้อย ปฏิญญา ตั้งตระกูล, มาเหนือเมฆ คอมโบ้, หนุ่มดอยเต่า และศิลปินคนอื่นๆ ร่วมงานกันจำนวนมาก

อ.สมบูรณ์ ในวัยหนุ่ม เดินทางไปเล่นดนตรีจังหวัดไหน ก็จะแต่งเพลงให้จังหวัดนั้นๆ เช่นเดินทางไป จ.ตาก แต่งเพลง “งามเมืองตาก” เป็นต้น ส่วนเพลง “นางหลายใจ” มีศิลปินหลายท่านนำไปร้องโด่งดังไปทั่วประเทศ อ.สมบูรณ์ เป็นศิลปินรุ่นเดียวกับ “จรัล มโนเพชร” และอ.ชินชัย แก้วเรือน” เจ้าของเพลง “ปอยหลวงวังสะแกง” ขวัญใจวัยรุ่นในอดีต และ “อ.บุญศรี รัตนัง” นับเป็นศิลปินล้านนาเชียงใหม่อีกคน ที่มีชื่อเสียงในด้านวงการบันเทิง เพลงคำเมืองเหนือ ที่โด่งดังมาพร้อมๆกัน ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน

สำหรับกำหนดการอื่นๆ วันนี้ ทางทีมแพทย์ ได้ชันสูตรศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงอีกครั้ง ทางญาตินำศพ ออกจากโรงพยาบาลนครพิงค์ได้ในวันพรุ่งนี้ (วันที่ 15 มิ.ย.) ซึ่งกำหนดตั้งศพไว้ที่วัดตองกาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นวัดที่ใกล้บ้าน หากมีกำหนดการคืบหน้าอื่นๆ จะแจ้งให้ทราบต่อไป

สำหรับท่านใดที่ต้องการร่วมทำบุญ ในการตั้งศพสวดอภิธรรมและเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของ อ.สมบูรณ์ บุญโรจน์ สามารถร่วมทำบุญได้ที่ ชื่อบัญชี นางทองพูน ตองกา (ภรรยา) บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาบิ๊กซีหางดง เลขที่ 787 0 09693 8 ได้

สำหรับพบเพลงที่แฟนเพลงชื่นชอบ มีเนื้อหาดังนี้ https://www.youtube.com/watch?v=YD_0BppEU_k
-สมบูรณ์ บุญโรจน์ เนื้อเพลงต่ำฮายานี้หนา 
ต๋ามตี๊ข้าเกยจ๋ำเกยเจื้อ
คนใดใค่ฮ้างใค่เฮื่อ
หื้อเอาป๋าจ่อมมายำ
กับน้ำปู๋สักสองสามบอก
ปอกส้มบ่าโอลงต๋ำ
กิ๋นไปเต๊อะสักสองสามกำ
ป๊ากนี้เป๋นยาวิเศษ
หน้ามอดหน้าลาย
หื้อเอาขี้ควายมาสูนขี้เต้า
สูนไปเต๊อะตี๊ในอองเต่า
แล้วเอาเข้าแปดเข้าตา
วันลูนทั่วหน้าสูจะปากั๋นถามหา
บ่เจื้อไปผ่อเอาเต๊อะตี๊ตำบลศาลา
บ่มีคนหน้าลายสักแห่ง
ต่ำฮายาป๊ากนี้
เป๋นยาสาวหลับเจื่อนอนเจื่อ
หื้อเอาป้อฮ้างผีเบื่อ
กับตึงบ่าวเฒ่าสามคน
เอามานวดเอามาฟั้น
วันไหนแตงยาหื้อมันสามหน
มันก็จะหายดีเป๋นคน
แล้วมันจะตุ้ยปุ๋มสวด
คนใดเป๋นขากเป๋นหิด
หื้อไปซื้อเอาจิ้นไก่
หื้อเลือกเอาตั๋วใหญ่ๆ
เอามาแก๋งอ่อมต้มยำ
ต่ำฮายาป๊ากนี้เป๋นยาผีบอกผีปั๋น
กิ๋นไปเต๊อะสักหกเจ็ดวัน
มันตึงบ่คันบ่ได้เก๋าสักเตื้อ
ต่ำฮายาป๊ากนี้
เป๋นยาของคนเขี้ยวเว่าเขี้ยวหล่อน
หื้อต๋ำพริกแด้อ่อนๆ
ไปโทกะโหล้งหัวควาย
หื้อเขาแหง้นตั้งแต่เมื่อเจ๊า
จ๋นผดตลอดแผวขวาย
แหง้นไปเต๊อะสักสองผากข้าวงาย
เขี้ยวจะออกมาเต๋มปาก
คนใดหัวล้านหัวอง
หื้อเอาขี้แมวโพง
มาสูนขี้เกี๊ยวหมาก
เอามาต๋ำบ่าเลิกเกิกกาก
แล้วต๋ำพริกแด้ลงแตว
เอาหมาเหยืองเข้าตัดเหียหน้อย
เอาแปดเอาตาตี๋นผม
แล้วก็โม๊ะตั้งกล๋างหัวลง
ลวดลงแผวตางง่อน
คนเฒ่าหลังก่อง
หื้อเอาผ้าต่องมัดติดเสายังจาน
เผาเหล็กแดงมีดก่าเข้าซวาด
ตั้งแต่ตะก๊ามผดแผวสันหลัง
ซวาดไปเต๊อะสักสองสามกำ
หลังคนเฒ่าก็จะเป็นคนหนุ่ม.

###ขอร่วมอาลัยการจากไปของ อ.สมบูรณ์  บุญโรจน์#####

เชียงใหม่ เล่าตำนานประเพณีเลี้ยงดง ปู่แสะ-ย่าแสะ ยักษ์กินคนที่ปกปักรักษาพระธาตุดอยคำ

เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยคำ เล่าตำนานของยักษ์ปู่แสะ ย่าแสะ เป็นยักษ์กินคนที่ปกปักรักษาวัดพระธาตุดอยคำที่มีอายุกว่า 1,333 ปี ขณะที่นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ เผยประเพณีเลี้ยงดง ซึ่งปีนี้จัดแบบเรียบง่ายป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ยังคงทำพิธีบวงสรวงครบตามประเพณีที่สืบมา โดยปีนี้ก็ได้อัญเชิญพระบฏขึ้นบนต้นไม้เหมือนเดิม พระบฏก็ยังแกว่งไกวขณะที่ไม่มีลม ซึ่งพระบฏแกว่งไกวก็หมายถึง การทำนายทายทักว่า ฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล พี่น้องประชาชนก็จะมีความสุขทำการเกษตรก็จะได้ผลดี

พระครูสุนทร เจติยารักษ์ หรือครูบาพิน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยคำเจริญพรเล่าถึงตำนานของยักษ์ปู่แสะ-ย่าแสะ เป็นยักษ์ที่ปกปักรักษาวัดพระธาตุดอยคำแห่งนี้ว่า ในอดีตกาลตำนานพระเจ้าเลียบโลก คำว่า เลียบโลกหมายถึงพระพุทธองค์ได้เสด็จมานี่ก็พบกับยักษ์ 3 พ่อแม่ลูก คือปู่แสะ ย่าแสะ และสุเทพฤาษี ยักษ์ 3 พ่อแม่ลูกนี้ชอบกินเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมายังดอยคำแห่งนี้ ก็มาโปรดยักษ์ทั้ง 3 พ่อแม่ลูก เทศนาธรรมให้ฟังและขอร้องยักษ์ทั้ง 3 ให้เลิกกินเนื้อมนุษย์ แต่ยักษ์ทั้ง 3 ก็ยังอยากกินเนื้ออยู่จึงขอกินเนื้อสัตว์แทน พระพุทธเจ้าก็ไม่ตอบไม่อนุญาตบอกว่า ให้ไปถามเจ้าเมือง ยักษ์จึงไปขอกับเจ้าเมืองโดยขอกินควายปีละ 1 ตัว จนมาถึงปัจจุบันนี้ สมัยก่อนชาวบ้านที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ มาร่วมเลี้ยงปู่แสะย่าแสะกันทั้งเมืองเลย เรียกว่าประเพณีเลี้ยงยักษ์ หรือเลี้ยงดง มีการฆ่าควายบวงสรวงเลี้ยงยักษ์ มีร่างสรงมาประทับ ร่างสรงก็จะกินเนื้อสดๆ เลือดสดๆ การทำแบบนี้เพื่อไม่ให้ปู่แสะ ย่าแสะให้ดลบันดาลฟ้าฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล สมัยก่อนคนชอบทำการเกษตรเป็นอาชีพต้องอาศัยน้ำฝนหล่อเลี้ยง เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนก็จะมีการเลี้ยงปู่แสะย่าแสะ จะมีการบวงสรงด้วยเนื้อสดๆ นี้คือที่มาของปู่แสะย่าแสะยัดษ์ที่ชอบกินเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร


สำหรับประวัตินั้น ยักษ์ปู่แสะย่าแสะเป็นยักษ์ผู้ดูแลพระธาตุดอยคำ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่นี่ เทศนาโปรดยักษ์แล้วก็ทรงประธานพระเกษาให้ยักษ์ทั้ง 3 ตนก็บอกว่าให้นำมาบรรจุไว้ที่พระธาตุดอยคำแห่งนี้ ต่อไปในอนาคตก็จะเป็นสถานที่กราบไว้ของประชาชน เรียกว่า วัดพระธาตุดอยคำ ซึ่งยักษ์ผู้เป็นลูกหลังจากที่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงขออนุญาตจากพ่อแม่ไปบวชเป็นฤาษีเรียกว่า ฤาษีสุเทพ อาศัยอยู่ในถ่ำใต้วัดพระธาตุดอยคำแห่งนี้ และสุดท้ายฤาษีสุเทพก็ไปเป็นประธานในการก่อสร้างเมืองลำพูน โดยวัดพระธาตุดอยคำแห่งนี้มีอายุถึง 1,333 ปี หลังจากนับจากที่บรรจุพระธาตุเรียบร้อยมา

ด้านนายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในส่วนการจัดงานประเพณีเลี้ยงดง หรือเลี้ยงปู่แสะย่าแสะ ในปีนี้เทศบาลเมืองแม่เหียะได้ร่วมกับสภาวัฒนธรรมเมืองแม่เหียะพร้อมด้วยชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่ในปีนี้เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางเทศบาลยังคงจัดประเพณีเลี้ยงดงปู่แสะย่าแสะอยู่ แต่จัดพิธีกันแบบเรียบง่าย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ก็ได้ทำการบวงสรวง ทำบุญ และประเพณีเลี้ยงครบทุกขั้นตอน ซึ่งในส่วนของพิธีบวงสรวงก็ดำเนินการทำพิธีที่เชิงวัดพระธาตุดอยคำ งดการฆ่าควายเนื่องจากมาตราการป้องกันโควิด-19 มาตราการของการเว้นระยะห่าง จึงได้เชิญผู้นำหมู่บ้าน,ผู้นำตำบลแม่เหียะเข้าร่วมพิธีเท่านั้นไม่เกิน 40 คน โดยทำประเพณีนี้เหมือนเดิมทุกอย่าง อันเชิญดวงวิญญาณของปู่แสะย่าแสะมารับเครื่องเส้น ซึ่งเครื่องเส้นไหว้ของปีนี้ก็เป็นเนื้อควายและเลือดสดๆ เหมือนเดิมแต่ยกเว้นการฆ่า

นายกเทศบาลเมืองแม่เหียะกล่าวอีกว่า สำหรับปีนี้ก็ได้อัญเชิญพระบฏขึ้นบนต้นไม้เหมือนเดิม และในปีนี้พระบฏก็ยังแกว่งไกวขณะที่ไม่มีลม ซึ่งพระบฏแกว่งไกวก็หมายถึง การทำนายทายทักว่า ถ้าพระบฏแกว่งไกวก็หมายถึงฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล พี่น้องประชาชนก็จะมีความสุขทำการเกษตรก็จะได้ผลดี ซึ่งทางคณะผู้จัดงานก็ได้ขอพรจากปู่แสะย่าแสะขอให้เชื้อโรคโควิด-19 ขอให้หายไปจากประเทศไทย ขอให้หายไปจากจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ให้มีการแพร่ระบาด และก็ต้องขอโทษประชาชนและสื่อมวลชนที่มีความนับถือในประเพณีเลี้ยงดงปู่แสะย่าแสะ ซึ่งทุกๆปี จะมีการมาร่วมงานหลายพันคนมาไหว้ปู่แสะย่าแสะ แต่ปีนี้ดำเนินการแบบเงียบๆ แต่ก็ทำถูกต้องตามประเพณีทุกอย่าง ซึ่งการจัดงานประเพณีเลี้ยงดงจะจัดขึ้นในวัน 14 ค่ำเดือน 8 ในปีนี้ตรงกับวันที่ 4 มิถุนายน 2563

ภาพการจัดงานปีที่ผ่านมา