เชียงใหม่ จนท.บุกตรวจสอบวังน้ำหยาดรีสอร์ท อ.แม่แตงเชียงใหม่ ผิด พรบ.บุกรุกป่าสงวนฯ

จนท.นำหมายศาลเข้าตรวจสอบวังน้ำหยาดรีสอร์ทดังแม่แตงเชียงใหม่ ผิดบุกรุกป่าสงวน จับ-ปรับรื้อบ้านพักรุกลำน้ำธรรมชาติ ผิดตามหมายศาลเชียงใหม่

พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน.พร้อม หน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) กรมป่าไม้ นำโดยนายสมชาย ฉิมแย้ม หัวหน้าฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) ภาคเหนือ, กอ.รมน.จังหวัด ช.ม., พร้อมชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้เชียงใหม่, หน่วยป้องกัน และพัฒนาป่าไม้แม่แตง, ส่วนจัดการป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่), ฝ่ายปกครองอำเภอแม่แตง ?และ อบต.กื้ดช้าง ประมาณ 30 นาย ได้นำหมายค้นศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ค.234/2563 ลงวันที่ 5 มิ.ย.2563 เข้าตรวจสอบสถานประกอบการ ชื่อ วังน้ำหยาดรีสอร์ท เลขที่ 4/2 หมู่ที่ 2 ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ตามที่มีหนังสือร้องเรียนถึง ศปป.4 กอ.รมน.และกรมป่าไม้เพื่อตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ, การก่อสร้างอาคารรุกล้ำลำน้ำและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรวจค้นพื้นที่ระหว่างเวลา 13.00-18.00 น.


เจ้าหน้าที่ได้แสดงตัวพร้อมหมายค้น แจ้งกับนางบัวผาย บุญตัน อายุ 59 ปี เลขที่ 4/2 บ.แม่ตะมาน หมู่ 2 ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้นำตรวจ และให้ถ้อยคำว่าเป็นเจ้าของวังน้ำหยาดรีสอร์ท เริ่มประกอบกิจการประมาณปี พ.ศ.2545 ด้วยตนเองให้บริการที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม จนถึงปี พ.ศ.2553 ได้ติดต่อชนพื้นเมืองเผ่ากระเหรี่ยงคอยาว,กระเหรี่ยงหูใหญ่, ชาวอาข่า และลีซู มาแสดงการดำเนินวิถีชีวิตให้นักท่องเที่ยวชม โดยได้ยื่นแจ้งการเข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ปัจจุบันชนเผ่าได้เดินทางกลับถิ่นกำเนิดจนเกือบหมดเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19


วังน้ำหยาดรีสอร์ท นางบัวผายฯ ได้สร้างบ้านพักเพิ่มเติมจนถึงปี พ.ศ.2561 ปัจจุบันปรากฏอาคาร จำนวน 14 หลัง (มีห้องพัก 28 ห้อง) และมีบ้านพักของนางบัวผายฯ จำนวน 3 หลัง, อาคารร้านค้าบริการ จำนวน 2 หลัง สำหรับพื้นที่ที่ให้ชาวพื้นเมืองชนเผ่าอาศัยอยู่ สร้างเป็นกระท่อมเพิงพักชั่วคราว จำนวน 20 หลัง, มีซุ้มนั่งเล่นริมน้ำ จำนวน 2 ซุ้ม และสร้างสะพานคอนกรีตข้ามห้วยน้ำหยาด จำนวน 2 จุด สะพาน กว้างประมาณ 2 เมตร ยาวประมาณ 10 เมตร ซึ่งนางบัวผายฯ ยอมรับว่าเป็นผู้สร้างเองทั้งหมดและปัจจุบันกำลังก่อสร้างบ่อเก็บน้ำคอนกรีต เสริมเหล็ก ขนาด 6 X 8 เมตร ส่วนการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นางบัวผายฯได้ยื่นขออนุญาตจากสรรพสามิตจังหวัดเชียงใหม่แล้ว

สำหรับที่ดินนางบัวผายฯ ได้ซื้อต่อจากญาติ ชื่อนายชัยมงคล อินจม และนายสม จันทรส จำนวน 2 แปลง รวมเนื้อที่ 4 ไร่ ซึ่งมีเอกสารสิทธิ (สค.1) สำหรับที่ดินนอกเหนือจากนั้น ได้ซื้อจากนายจำเริญ หม่อนมา ในราคา 30,000 บาท แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบรังวัดพื้นที่ ว่ามีจำนวนเท่าใด เมื่อประมาณปี พ.ศ.2555 พื้นที่ในเอกสารสิทธิ สค.1 นางบัวผายฯ ได้ปลูกสร้างอาคารบ้านพักที่อยู่อาศัย และบ้านพักบริการนักท่องเที่ยวบางส่วน และสำหรับพื้นที่ที่ซื้อจากนายจำเริญฯ รวมทั้งพื้นที่ของสามีนางบัวผายฯ (นายสุวรรณ บุญตัน) จับจองเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ ไม่มีเอกสารสิทธิ โดยได้สร้างอาคารบ้านพักบางส่วน ปลูกไม้ผล และเลี้ยงสัตว์ โดยนายสุวรรณฯ ได้เสียชีวิตแล้ว และได้เคยแจ้งขึ้นทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2542 ซึ่งได้แสดงสำเนาใบตอบรับ 2687 ลงวันที่ 23 ก.ค.2542 ครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แตง ท้องที่ ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ตรวจสอบแล้วพบว่ามีจำนวน 2 แปลง แปลงที่ 1 เนื้อที่ 20 ไร่ แปลงที่ 2 เนื้อที่ 4 ไร่ นางบัวผายฯ และนายบรรพต บุญตัน บุตรชาย เป็นผู้นำชี้ขอบเขตพื้นที่การครอบครองที่ดินทั้งหมด


จากการนำชี้ของนางบัวผายฯ และนายบรรพตศ (บุตรชาย) ซึ่งได้นำชี้พื้นที่ครอบครองทำประโยชน์โดยพื้นที่บางส่วนมีรั้วลวดหนามเสาคอนกรีตแสดงแนวเขตที่ชัดเจน เจ้าหน้าที่ได้บันทึกค่าพิกัดด้วยเครื่องมือหาค่าพิกัดด้วยสัญญาณดาวเทียม (จีพีเอส) จำนวน 39 จุด ตามระบบฐานข้อมูล UTM WGS 1984 ระวางแผนที่ 4747 II คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการรังวัดและขึ้นรูปแปลงดังกล่าวพบว่าพื้นที่นำชี้ทั้งหมดจำนวนเนื้อที่ 25-0-77 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แตง จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ.2545 บางส่วนมีร่องรอยการใช้ประโยชน์จำนวนเนื้อที่ 18-0-71 ไร่ และพื้นที่บางส่วนมีสภาพเป็นป่า จำนวนเนื้อที่ 7-0-06ไร่ โดยพื้นที่ซึ่งมีร่องรอยการทำประโยชน์ครอบคลุมบริเวณที่นางบัวผายฯ แจ้งว่า มีเอกสารสิทธิ์ สค.1 เนื้อที่ 4 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ปัจจุบันใช้ปลูกสร้างบ้านพัก และอาคารบริการนักท่องเที่ยวรวมทั้งพื้นที่พักอาศัยของชนพื้นเมือง


การตรวจสอบข้อกฎหมาย และนโยบายรัฐบายที่เกี่ยวข้อง พบว่าพื้นที่บางส่วนที่มีสภาพป่าตามภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ.2545 ขัดกับหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2542 ซึ่งระบุว่าในกรณีที่มีการบุกรุกตัดต้นไม้และ หรือแผ้วถางพื้นที่อันไม่ใช่พื้นที่ที่อยู่อาศัย/ ทำกินอยู่แล้ว และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด สำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรมและการก่อสร้างอาคารซึ่งดำเนินการก่อนวันที่ 12 มิ.ย.2562 ยังได้รับการชะลอการบังคับใช้กฎหมายตามคำสั่ง คสช ที่ 6/256 ลงวันที่ 12 มิ.ย.2562


อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว เห็นว่า การบุกรุกครอบครองพื้นที่ในบริเวณที่มีสภาพป่าตามภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.2545 จำนวนเนื้อที่ 7 ไร่ ของนางบัวผาย บุญตัน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 ฐาน “ก่อสร้างแผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” และพ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 14 ฐาน “ยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต


นอกจากนั้นยังมีความผิดในมาตรา 26/4 ฐาน “ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือเป็นเหตุให้เกิดการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากร ธรรมชาติ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากร ธรรมชาติที่ถูกทำลายสูญหายหรือเสียหายไป” เหตุเกิดในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แตง ท้องที่ บ้านแม่ตะมาน หมู่ 2 ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่


สรุปผลการตรวจสอบ ตรวจยึดพื้นที่จำนวน 7-0-06 ไร่ คิดค่าเสียหายของรัฐเบื้องต้น เป็นเงิน 478,733.20 บาท ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่มอบหมายให้นายไพโรจน์ บุญญรัตนศิริ ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ และให้นายเฉลิม เรืองศักดิ์ ตำแหน่ง พนักงานพิทักษ์ป่า ส 3 เป็นพยาน นำเรื่องราวร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่แตง เพื่อดำเนินคดีกับนางบัวผายฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตาม ปจว.ข้อ 6 เวลา 2200 คดีอาญาที่297/2563 ลง 5 มิ.ย.63


ทางเจ้าหน้าที่ร่วมกับกุมยังมอบหมายให้ นายก อบต.กื้ดช้าง ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยสั่งให้รื้อถอนอาคารที่รุกล้ำลงไปในลำน้ำหยาด จำนวน 2 หลัง และดำเนินคดีกรณีก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้ กอ.รมน.จังหวัด ช.ม. ประสานการปฏิบัติพร้อมทั้งรายงานผลการปฏิบัติให้ ศปป.4 กอ.รมน.ทราบต่อไปเพราะยังมีการตรวจสอบต่อเนื่องอยู่


-ส่วนประเด็นปัญหา ชาวบ้านร้องเรียน คือ สงสัยเจ้าของรีสอร์ทและปางช้างบางแห่งเข้าข่ายความผิดหรือไม่ เช่น ผู้ประกอบการต่างๆอ้างมี ส.ค.1 สงสัยออกมาถูกต้องหรือไม่ และออกเอกสารสิทธิดังกล่าวได้อย่างไร และการแสดงสิทธิครอบครองพื้นที่ป่าสงวน มีวัตถุประสงค์เพื่อการทำเกษตร แต่นำไปสร้างรีสอร์ทได้หรือไม่ ส่วนอาคารที่พักบ้านพักต่างๆ ที่ปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ลาดชันเกิน 30% ได้หรือไม่ และ ส.ค.1 ที่แสดงการครอบคลุมพื้นที่รีสอร์ททั้งหมดหรือไม่ และพบว่าน้ำตกที่ดูเหมือนการสร้างขึ้นมาใหม่ และเป็นการดัดแปลง ขุดเจาะ ลำน้ำธรรมชาติเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือไม่ และรวมทั้งร้านอาหาร บ้านพัก และสะพาน ปลูกสร้างที่เห็นว่ารุกล้ำลำน้ำธรรมชาติที่อยู่ในเขตป่าสงวนหรือไม่ ชาวบ้านยังสงสัยว่า ปางช้างดังกล่าว เคยถูกบุกจับเมื่อ 30 เม.ย. 2561 ให้บริการซิปไลน์ที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมายหรือทำเถื่อน ได้รับอนุญาตกับทาง อปท.ในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือยัง และอยู่ในเขตป่าสงวนหรือไม่ ชาวบ้านก็ยังมีข้อสงสัยดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนลงพื้นที่ตรวจจับและปรับเจ้าของรีสอร์ทและปางช้างแห่งหนึ้งใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ดังกล่าว.

(คลิป)เชียงใหม่ กำลังพล ร.7 พัน.2 ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน เราจะผ่านวิกฤต COVID-19

กำลังพลสังกัด ร.7 พัน.2 ค่ายพิชิตปรีชากร อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน เราจะผ่านวิกฤต COVID-19 จัดชุด ARMY DELIVERY ได้นำข้าวกล่อง แผ่นพับ หน้ากากผ้าและเจล สำหรับล้างมือออกแจกจ่ายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ยากไร้ ในพื้นที่ ชุมชนรอบค่ายฯ

พันโทสมนึก ธูปเทียน ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 7 กองพันที่ 2 มอบหมายให้ ร้อยโทประเสริฐ ชัยชนะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ กิจกรรมพลเรือน กรมทหารราบที่ 2 กองพันที่ 2 กำลังพลในสังกัด ขุนอาสา 315 ค่ายพิชิตปรีชากร อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จัดชุด ARMY DELIVERY ได้นำข้าวกล่อง แผ่นพับ หน้ากากผ้าและเจลสำหรับล้างมือออกแจกจ่ายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ยากไร้


สำหรับพื้นที่ที่ทุรกันดาลก็ได้จัดกำลังพลขับขี่รถจักรยานยนต์เดินทางไปมอบให้กับชุมชนรอบค่ายที่รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ บางส่วนก็ได้จัดชุดเดินเท้านำสิ่งของไปมอบให้ราษฏรได้แก่บ้านเมืองงาย ,บ้านม่วงโง้ม ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว แจกจ่ายข้าวกล่องให้กับราษฏรจำนวน 50 กล่อง แจกหน้ากากอนามัยพร้อมเจลแอลกอฮอล์รวม 40 ชุด ซึ่งผลการปฏิบัติได้รับการตอบรับจากราษฏรเป็นอย่างดีและรู้สึกขอบคุณทางที่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ทอดทิ้งประชาชนในห้วงวิกฤตเช่นนี้

เชียงใหม่ ปางช้างแม่สาทำมูลช้างอินทรีย์ เปลี่ยนขี้ช้างเป็นเงินช่วยทั้งคนและช้างฝ่าโควิด-19

ปางช้างแม่สาทำมูลช้างอินทรีย์ เปลี่ยนขี้ช้างเป็นเงิน ช่วยทั้งคนและช้างฝ่าวิกฤตโควิด 19 พนักงานปางช้างแม่สา ช่วยกันร่อนมูลช้างที่ผ่านการหมักและตากแห้ง เพื่อแยกเศษใบไม้ใบหญ้า ก่อนนำไปเข้าเครื่องอัดเม็ด กลายเป็นผลิตภัณฑ์ “มูลช้างอินทรีย์” ใช้สำหรับบำรุงดิน โดยมีทั้งแบบอัดเม็ดและแบบธรรมดา บรรจุถุงจำหน่ายในราคาถูก แบบเม็ดกิโลกรัมละ 40 บาท , แบบหยาบ กิโลกรัมละ 40 บาท และ แบบละเอียดกิโลกรัมละ 30 บาท

นางอัญชลี กัลมาพิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ปางช้างแม่สา บอกว่า ก่อนหน้านี้ปางช้างเคยทำมูลช้างอินทรีย์ภายใต้แบรนด์ “เดอะช้าง” แต่ก็หยุดการผลิตมานาน กระทั่งล่าสุด มาตรการล็อคดาวน์ประเทศ ที่ทำให้ปางช้างต้องหยุดให้บริการมานานเกือบ 3 เดือน ส่งผลกระทบอย่างหนัก จึงต้องหามาตรการต่าง ๆ มาช่วยเหลือประคับประคองชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานและช้างเกือบ 80 เชือก ที่ต้องรอดไปด้วยกันให้ได้ ซึ่งทางปางช้างก็ได้กลับมาผลิตมูลช้างอินทรีย์อีกครั้ง เพื่อสร้างมูลค่าจากมูลช้าง ให้เป็นรายได้เลี้ยงทุกคนในปางช้าง เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้

ทุก ๆ วัน พนักงานจะขนมูลช้างวันละประมาณ 3 ตัน นำไปกองไว้ที่โรงหมัก ผ่านกระบวนการหมักด้วยน้ำอีเอ็มหลายขั้นตอน ใช้เวลานานอย่างน้อย 4 เดือน จนมูลช้างย่อยสลายกลายเป็นสีดำคล้ายดิน จากนั้นนำไปตากจนแห้งสนิท นำใส่เครื่องโม่เพื่อบดหยาบหรือบดละเอียด และ อัดเป็นเม็ดบรรจุใส่ถุงและกระสอบ วางจำหน่าย


ทั้งนี้ ช้างกินพืชเป็นอาหารหลักทำให้มูลช้างมีไฟเบอร์สูงมากและจากการศึกษาพบว่าในขี้ช้างอุดมไปด้วยแร่ธาตุรอง เหมาะสำหรับใช้บำรุงดิน ขณะที่มูลช้างอินทรีย์ที่ผ่านการหมัก ผ่านความร้อน ทำให้เมื่อใช้ปกคลุมหน้าดินจะไม่เกิดหญ้าขึ้น แม้จะมีความชื้นก็ตาม ทำให้ผิวดินมีความชื้นสูง ส่งผลดีต่อการเพาะปลูกพืช


สำหรับมูลช้างอินทรีย์สู้โควิดชุดแรกเริ่มวางจำหน่ายแล้วที่หน้าทางเข้าปางช้างแม่สา ใครสนใจเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือช้างและพนักงานปางช้างแม่สา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 096 965 9966

เชียงใหม่ หลวงพ่อทันใจ วัดสันกลางใจดีทำอาหารแจกประชาชนช่วงโควิด-19 

พระครูวิเชียร์ปัญญา หรือหลวงพ่อทันใจ เจ้าาวาสวัดสันกลางใจดีลงมือทำอาหารแจกประชาชนช่วงโควิด-19 ทุกวัน จัดกระทะยักษ์ทอดไข่ครั้งละ 20 แผง หรือ 600 ฟอง ให้ลูกศิษย์ไลน์สดขั้นตอนการทำ เพื่อเตรียมพร้อมเดินทางมารับอาหารที่วัด

-พากันมาที่วัดวันกลาง ตำบลดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ พระครูวิเชียร์ปัญญา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อทันใจ เจ้าอาวาสวัดสันกลาง ลงมือร่วมกับพระเณรและชาวบ้าน ทำอาหารแจกให้กับประชาชนซึ่งทำอาหารแจกชาวบ้านในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กว่า 1 เดือนแล้ว ทำแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในชุมชนใกล้วัดและนอกพื้นที่สามาถเดินทางมารับอาหารไปรับประทาน เป็นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19


-สำหรับการทำอาหารในแต่ละวันจะแตกต่างกันไป โดยเมนูอาหารของวันนี้ทำ 2 เมนู เป็นเมนูต้มข่าไก่ และไข่ทอดในกระทะยักษ์ โดยทอดไข่ครั้งละ 20 แผง หรือ 600 ฟอง ซึ่งการแจกอาหารก็จะทำการไลน์สดขณะที่พระครูวิเชียร์ปัญญากำลังร่วมกับลูกศิษย์ปรุงอาหาร เพื่อที่จะให้ชาวบ้านได้เตรียมตัวเดินทางมาที่วัด นอกจากนั้นยังประกาศเสียงตามสายบอกญาติโยมให้มารับอาหารไปกินฟรี ผู้ที่ต้องการอาหารนำไปรับประทานก็สามารถเดินทางมาที่วัดสันกลาง บางวันก็เป็นมื้อกลางวันบางวันก็จะเป็นมื้อเย็น


หลวงพ่อครูวิเชียร์ปัญญา บอกว่าได้ทำให้ญาติโยมกินแล้วมีความสุขที่เห็นรอยยิ้มเลยจัดทำอาหารแจกให้กินทุกวันขอให้วัดได้มีส่วนร่วมในการทำอาหารแจกจ่ายประชาชนเพื่อช่วยเหลือความทุข์ยากที่เกิดขึ้นในเวลานี้

 

เชียงใหม่ พบนายทุนขุดบ่อดินโดยไม่ได้รับอนุญาต พื้นที่ อ.แม่อาย

พบนายทุนขุดบ่อดินโดยไม่ได้รับอนุญาต พื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ นายกฯแม่สาว สั่งหยุด หวั่นกระทบบ้านเรือนชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านในตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า มีผู้ขุดบ่อดินเพื่อเป็นสระน้ำเก็บกักน้ำ มีการขุดลึกและกว้างมากเกินไป ดินที่ขุดขึ้นมาสูงจะท่วมหลังคาบ้านของชาวบ้านแล้ว และที่สำคัญไม่ได้ขออนุญาตเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย

เรื่องนี้ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง อบต.แม่สาว พบว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2363 ที่ผ่านมาทาง อบต.แม่สาว ได้มีการประชุมสภาสมัยสามัญ ในที่ประชุมได้มีนางเทียมตา ปินตาสา สมาชิกสภา อบต.แม่สาว ได้ยื่นกระทู้ถามสดเกี่ยวกับเรืองมีเจ้าของสวนส้มรายหนึ่งได้ทำการขุดบ่อขนาดใหญ่อาจจะขุดกว้างใหญ่เกินกว่ากฎหมายกำหนดได้ และถามอีกว่า มีการขอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะหลายพื้นที่ขุดลึกและทำพนังกั้นน้ำไม่ได้มาตรฐานเกรงว่าจะเกิดอันตรายต่อประชาชนที่อยู่ใกล้พื้นที่จึงขอให้มีการตรวจสอบด้วย

นายสมชาย สุวรรณ์ นายก อบต.แม่สาว ได้ชี้แจงว่า ได้ทำหนังสือถึงกำนัน ผญบ.ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ ว่า รายไหนจะทำการขุดบ่อให้มาขออนุญาตก่อน และได้แจ้งให้ผู้ประกอบการสวนส้มไปแล้ว แต่ก็ยังมีการแอบขุดบ่อน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงขอเชิญสมาชิกสภาและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องลงตรวจพื้นที่ร่วมกัน เพราะปัญหาดังกล่าว เป็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน

ในวันเดียวกันสมาชิกสภา อบต.แม่สาว ทั้งหมดมีนายสมชาย สุวรรณ์ นายก อบต.แม่สาว นางสาวเพ็ญรุ่ง นามอภิรมณ์ ปลัด อบต.แม่สาว นายพลากร สุวรรณรัตน์ ผอ.กองช่าง อบต.แม่สาว และเจ้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ลงตรวจสอบพื้นที่หลายพื้นที่ในตำบลแม่สาว จากการตรวจพื้นที่ได้พบเจ้าของสวนส้มรายหนึ่ง กำลังควบคุมดูแลรถแบ็คโฮ 2 คันกำลังทำการขุดบ่ออยู่ จึงได้สอบถามว่า ทำไมไม่ขออนุญาตในการขุดให้ถูกต้องตามกฎหมาย และก็ทำการลึกเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และที่สำคัญจะต้องขออนุญาตก่อน

เจ้าของสวนส้ม บอกว่า ได้ขออนุญาตจาก นายก.อบต.แม่สาว ด้วยวาจาแล้ว นายกฯได้อนุญาตให้ขุดได้ไม่เกิน 2-3 เมตร และได้แจ้งฝ่ายกองช่าง อบต.แม่สาวไปแล้ว และได้ขออนุญาตกับ สมาชิก อบต.ที่อยู่ในหมู่บ้านที่ถือว่าเป็นเจ้าของพื้นที่แล้ว ยังได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงไปแล้วชาวบ้านก็ไม่เดือดร้อน เพราะมีงานบุญหรือกิจกรรมในหมู่บ้านตลอดจนถึงวัดวาก็ช่วยเหลือกันอยู่ อย่างไรก็ตามทางสภา อบต.แม่สาว ได้สั่งให้ระงับการขุดไว้ก่อนจนกว่าจะมีการขออนุญาตที่ถูกต้อง ส่วนการดำเนินคดีก็ว่ากันไปตามกฎหมาย

นายสมชาย สุวรรณ์ นายก.อบต.แม่สาว บอกว่า การเอื้อประโยชน์ให้ชุมชนไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดหมาย จึงขอให้ระงับการขุดไว้ก่อนจนกว่าจะมีการขออนุญาตให้ถูกต้อง เพราะเป็นอันตรายต่อชาวบ้าน เพราะการขุดบ่อได้สร้างพนังบ่อจนมิดหลังบ้านของชาวบ้าน หน้าน้ำหลากจะทำให้ฝนกัดเซาะจนพังเสียหายเข้าพื้นที่หมู่บ้านได้

นายพลากร สุวรรณรัตน์ ผอ.กองช่าง อบต.แม่สาว กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย หรือขุดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ถ้าไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง อีกหน่อยก็จะการกระทำเกิดขึ้นเรื่อยๆ สร้างปัญหาให้กับชุมชนทั้งในเรื่องของฝุ่นละอองเป็นพิษ บ่อน้ำตื้นชาวบ้านก็อาจจะแห้งได้ วันนี้มีอีกหลายบ่อที่ต้องทำการสำรวจ นายพลากร กล่าว

ต่อจากนั้นนายสมชาย สุวรรณ์ นายก อบต.แม่สาว พร้อมด้วยนายสมบุญ นันตา ,นายทอง พิจารย์ รอง นายก อบต.แม่สาว และสมาชิกสภาแม่สาวได้ออกตรวจแลงอื่นๆภายในตำบลอีกหลายแปลงที่ขุดบ่อโดยไม่ไดรับอนุญาตเพื่อนำเข้าพิจารณาในการประชุมสภาแม่สาวครั้งต่อไป

สำหรับการลงพื้นที่พบมีผู้แอบขุดบ่อขนาดยักษ์ใหญ่โดยไม่ได้รับอนุญาตหลายเแปลง และลักลอบดักน้ำชาวนาด้วยท่อ 6 นิ้ว จากลำน้ำแม่ฮ่าง เพื่อนำไปใช้ในสวนส้มอีกด้วย สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน ปัญหาดังกล่าว สภ.อบต.แม่สาว จะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านต่อไป.

ชาวบ้านร้อง ป.ป.ท.เขต5 ตรวจสอบ ทต.หนองควาย งบสร้างสนามกีฬา 26 ล้าน ส่งงานช้า

ชาวบ้านร้อง ป.ป.ท.เขต5 ตรวจสอบเทศบาลตำบลหนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ งบสร้างสนามกีฬา 26 ล้าน ส่งงานช้า ชาวบ้านรอจะออกกำลังกายสู้โรคโควิด-19 นอกจากนั้นยังมีอีกหลากหลายปัญหาที่ชาวบ้านกำลังรอคำตอบจากผู้บริหารอยู่

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ตำบลหนองควาย อำเภอหาดง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปที่เครือข่ายภาคประชาชนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 5 จังหวัดเชียงใหม่ (ป.ป.ท.เขต5) โดยมีนายสุพจน์ ดวงอยู่สาร ตัวแทนเครือข่าย ป.ป.ท.เขต 5 ผู้รับเรื่องร้องเรียนเพื่อเสนอปัญหาต่อคณะ ป.ป.ท.ในระดับสูงต่อไป ซึ่งเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนคือปัญหาที่ ทต.หนองควาย มีโครงการสร้างสนามกีฬาในพื้นที่ของเทศบาล เริ่มสัญญาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 และสิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม 2562 โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่งเป็นผู้รับจ้างโครงการทั้งหมด 2 โครงการ ซึ่งโครงการแรกเป็นเงิน 17,900,000 บาท และโครงการที่ 2 เป็นเงิน 8,250,000 รวมเป็นเงินทั้งหมดจำนวน 26,150,000 บาท ซึ่งได้ล่วงเลยมานานหลายเดือน จึงร้องเรียนไปยังเครือข่าย ป.ป.ท.เขต 5 เพื่อดำเนินการตรวจสอบโครงการดังกล่าวเพื่อให้เกิดความกระจ่างและโปร่งใสกับชาวบ้านและชาวบ้านรอที่จะใช้สนามออกกำลังกายสู้โรคระบาดโควิด-19 ด้วย


ต่อมาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า สนามกีฬาประจำตำบลหนองควาย มีก่อสร้างสนามฟุตบอล รางระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อสร้างระบบประปาแบบบาดาล ก่อสร้างระบบไฟฟ้าอาคาร และไฟฟ้าส่องสว่างสนามฟุตบอล ก่อสร้างห้องน้ำ วางท่อระบายน้ำ ก่อสร้างซุ้มประตูทางเข้าและรั้ว รวมเงินงบประมาณ 8,250,000 บาท มีขึ้นป้ายบอกชัดเจนว่า เริ่มสร้าง 18 ตุลาคม 2561 ระยะเวลาสิ้นสุด 14 กรกฏาคม 2562


ในส่วนขอการก่อสร้างอาคารกีฬาในร่มคอนกรีตเสริมเหล็ก รวมเงินงบประมาณ 17.900,000 บาท ส่วนอาคารกีฬาขึ้นป้ายบอกไว้ว่าสร้างอาคารกีฬา แต่ไม่บอกวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดการก่อสร้าง(แต่สร้างเสร็จไปแล้ว) รวมใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 26,150,000 บาท


สำหรับซุ้มประตูเข้าสนามกีฬาได้สร้างซุ้มประตูเสร็จแล้ว และทางเข้าไม่สามารถนำยานพาหนะขนาดเล็กเช่นรถเก๋งเข้า-ออกไม่ได้ เพราะไม่ได้ถมดินขอบพื้นประตูด้านในสนามกีฬา ผ่าท่อระบาดน้ำโผล่ออกมาไม่มีดินปิดทับรอบๆปากท่อ ยังมีนั่งร้านตั้งอยู่กลางสนาม พบมีหญ้ารกร้าง ประกอบกับสนามกีฬาติดป่าช้าก็มีเศษขยะอยู่รอบป่าช้าที่ติดสนามฟุตบอล และห้องน้ำของป่าช้าก็เก่าหลังคาห้องน้ำพังทรุดโทรมด้วย


อย่างไรก็ตามประเด็ดปัญหาผู้ร้องเรียนคือ ขอให้ตรวจสอบเรื่องระยะเวลาในการจัดซื้อจัดจ้าง หากมีผู้ลงไปทำงานในสนามกีฬาในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ หากเป็นบริษัทรับเหมาทำงานต่อถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากพบว่า เป็นเจ้าหน้าที่ ทต.หนองควาย ลงมาทำงานทำความสะอาดสนามกีฬา ก็ต้องดูว่าส่งมอบงานหรือยัง อย่างไรก็ตามการสร้างสนามกีฬาเมื่อสร้างแล้วเสร็จประชาชนก็หวังจะได้ใช้สนาม จะออกกำลังกายสู้โรคโควิด-19 ในช่วงนี้ แต่ยังใช้ไม่ได้นั้นคือปัญหาที่ยังรอการแก้ไข

ผู้สื่อข่าวสอมถามผู้รับผิดชอบโดยตรง คือ นายณรงค์ ธิลา นายกเทศมนตรีตำบลหนองควาย กล่าวเพียงว่า ปัญหาทุกเรื่องหากมีผู้ร้องเรียนไปที่หน่วยงานใด ตนก็พร้อมที่จะให้คำตอบ และชี้แจงพร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาทุกเรื่องกับหน่วยงานนั้นๆ ส่วนเรื่องสนามกีฬามีส่งมอบงานบางส่วน และคาดว่าจะให้ประชาชนใช้สนามกีฬาได้ในต้นเดือนมิถุนายน 2563 ที่จะถึงนี้ได้


รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับปัญหาของเทศบาลตำบลหนองคาย นอกจากปัญหาการสร้างสนามกีฬาตำบลหนองควายแล้ว ยังพบว่ามีปัญหาอื่นๆอีก เช่น เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 ชาวบ้านร้องเรียนไปที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เรื่องของกองการศึกษาที่มีการแก้ไขตัวเลขของเช็ค มีอยู่ 2 ส่วนคือ โรงเรียนอนุบาลและศูนย์เด็กเล็ก มีการแยกบัญชี รับ/จ่าย ออกจากบัญชีหลักตามระเบียบกระทรวงมหาไทย ว่าด้วยการรับเงิน จ่ายเงินการฝากเงินการเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2547 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2558 ข้อ 37 การถอนเงินฝากธนาคารองค์กรท้องถิ่น แจ้งเงื่อนไขสั่งจ่ายต่อธนาคารโดยให้ผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่ายร่วมกันอย่างน้อย 3 คน ในจำนวนนี้ให้มีผู้บริหารท้องถิ่นและปลัดองค์กรท้องถิ่นลงนามสั่งจ่ายด้วยทุกครั้งหรือมอบอำนาจได้


ปัญหาการมอบอำนาจให้ผู้เบิกจ่ายเงินดังกล่าว เมื่อพบการกระทำผิดว่ามีการทุจริต เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2562 ในระหว่างสอบสวนการทุจริต พบว่ามูลค่าเงินที่เสียหายไปประมาณ 2.000.000 บาท (สองล้านบาท) เรื่องนี้เสนอปัญหาไปที่ สำนักงาน ป.ป.ช.แล้ว และเรื่องส่งกลับมาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ต่อมาชาวบ้านทำหนังสื่อขอทราบผลการดำเนินการของ ป.ป.ช.ที่สรุปส่งไปที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม 2562 หลากหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในตำบลหนองควาย จึงทำให้ชาวบ้านรอคำตอบมาถึงทุกวันนี้เป็นปัญหาที่รอการแก้ไข

เชียงใหม่ ชมการปลูกเห็ดถังเช่าอยู่ในห้องแอร์เปิดเพลงล้านนาให้ฟัง

รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคลานนา เชียงใหม่ ปรับปรุงบ้าน 2 ชั้นทำฟาร์มเพาะเลี้ยงเห็ดถังเช่าสีทองด้วยตัวเอง หลังพบตนเองมีปัญหาด้านสุขภาพ จะซื้อสมุนไพรมารับประทานเองก็ราคาแพง จึงเพาะเห็ดถังเช่าทำเป็นแคบซูลและชนิดผงรับประทานบำรุงสุขภาพได้ผลดี ซึ่งยังพร้อมจัดจำหน่ายให้ผู้ที่สนใจรับสุขภาพในราคาย่อมเยาว์อีกด้วย

ผู้สื่อข่าวพามาชมชูดวงฟาร์ม ซึ่งฟาร์มแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงหม่ เป็นฟาร์มที่ทำการเพาะเลี้ยงเห็ดถังเช่าสีทอง ทำเป็นชนิดแคปซูลและชนิดผงชงกับน้ำร้อนนำมารับประทาน ซึ่งถังเช่ามีคุณสมบุัติให้ประโยชน์กับร่างกายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการยับยั้งอนุมูลอิสระ ชะลอความชรา เพราะมีสารดอร์ไดเซปิน กรดดอร์ไดเซปิก และอะดีโนซิน เพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านการเกิดเนื้องอกและเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการอับเสบลดน้ำตาลและลดไขมันในเลือด ป้องกันการเสื่อมสุภาพของตับ ไต ปอด เพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย ฯลฯ อีกมากมาย

อาจารย์ประสิทธิ์ ชูดวง รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคลานนา เชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการเพาะเห็ดถังเช่าสีทองเปิดเผยว่า ตนเองมีปัญหาด้านสุขภาพมานานหลายปี จึงได้เซาะหาสมุนไพรต่างๆ เพื่อนำมารับประทานบำรุงร่างกาย ซึ่งแต่ละชนิดหรือกระทั่งเห็ดถังเช่าก็มีราคาแพง จึงได้ศึกษาหาข้อมูลการเพาะเลี้ยงเห็ดถังเช่า จนกระทั่งนำมาสู่การทดลองเลี้ยง และให้หลาน ๆ เข้ามาดูแลการเพาะเลี้ยง โดยได้ดัดแปลงบ้าน 2 ชั้นของตนเอง ทำเป็นโรงเพาะเห็ด ส่วนชั้นบนเป็นการนำเห็ดถังเช่ากำหนดเก็บเกี่ยวมาอบแห้งและบดบรรจุทำเป็นแคปซูลหรือชนิดซองเพื่อชงดื่ม ซึ่งชั้นล่างนั้นจะเป็นห้องสำหรับเพาะเลี้ยงเห็ดถังเช่าสีทอง อยู่ในห้องป้องกันเชื้อ 2 ห้อง ปรับอุณหภูมิเปิดแอร์เย็นๆ ให้เห็ดได้เจริญเติบโต นอกจากนั้นยังได้เปิดเพลงพื้นบรรเลงเป็นเพลงล้านนาเป็นดนตรีพื้นเมืองให้เห็ดได้ฟัง เพราะเชื่อว่าเมื่อเห็ดได้ฟังเพลง ความเจริญเติบโตของเห็ดจะเร็วและเห็ดจะมีความสมบูรณ์มากขึ้น

สำหรับผู้ที่สนใจอยากสั่งซื้อนำไปรับประทานบำรุงร่างกายหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมในการเพาะดเลี่ยงเห็ดถังเช่าสีทอง สามารถเข้าไปดูได้ในเฟสบุ๊ก “ทิพยถังเช่า” ซึ่งพร้อมให้บริการกับผู้ที่สนใจทุกวัน

เชียงใหม่ เกษตรกรเผยปลูกองุ่นขายสร้างรายได้ไม่ยากอย่างที่คิด

เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นในอำเภอสะเมิง เชิญชวนหันมาปลูกองุ่นไว้รับประทานกันเอง ผลองุ่นที่เหลือก็สามารถนำมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยวิธีการปลูกก็ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด ผู้สนใจข้อทราบขั้นตอนการปลูกได้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

พามาชมสวนปลูกองุ่นของนายสมัคร สาธุเม สมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลไม้พืชผักและแปรรูปการเกษตรตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทำแปลงปลูกสวนองุ่นไว้ที่สวนหลังบ้าน เป็นสวนองุ่นที่ไม่ใหญ่โตมานักมีพื้นที่อยู่ 2 ไร่ แบ่งเป็นทำโรงเรือนปลูกองุ่น 1 ไร่ เหลืออีก 1 ไร่ ปลูกพืชผักสวนครัวอื่น ๆ หลายอย่าง ซึ่งองุ่นในสวนกำลังเริ่มออกผลเต็มพื้นที่


นายสมัคร เล่าให้ฟังว่า ทดลองปลูกองุ่นมาประมาณ 13 ปี เมื่อต้นองุ่นโตขึ้นมามีอายุประมาณ 1 ปีเศษ ก็ตกแต่งกิ่ง องุ่นก็เริ่มออกช่อดอกและก็ออกผลเลย ปฏิบัติไปตามขั้นตอน หากไม่รู้ก็ไปศึกษาจากโครงการหลวง หรือมาศึกษาที่สวนองุ่นของตนก็จะบอกขั้นตอนการปลูกให้ทั้งหมด หากตั้งใจที่จะปลูก ไม่ต้องทดลองปลูก คำว่าทดลองถ้าทำแล้วเสียแล้วเสียเลย ไม่ดีไม่ได้ ถ้าตั้งใจจะปลูกก็ศึกษาหาความรู้และลงมือทำ ไม่มีอะไรที่จะยากทำตามขั้นตอน ดูแลไปจนถึงระยะเวลาประมาณ 1 ปีเศษ องุ่นก็จะออกผล นำไปขายก็สร้างรายได้ให้กับตัวเอง

คนทั่วไปมองไม่ถึงคิดว่าการปลูกองุ่นทำยาก ทุกวันนี้ประเทศของเราสั่งองุ่นนำเข้ามาจากประเทศจีนและประเทศอื่นๆ เยอะ ส่วนองุ่นของเรายังมีน้อย เราจึงได้มาปลูกองุ่นสู้กับองุ่นเมืองนอก ทุกวันนี้เงินไหลออกต่างประเทศไปสั่งซื้อองุ่นเยอะ เราปลูกองุ่นขายเองก็เป็นการสร้างอาชีพได้ ผลองุ่นก็สามารถนำไปขายได้ตามสถานที่ต่างๆ เพราะการขนส่งสะดวกสบาย ทำไปตามขั้นตอนเพราะการปลูกองุ่นใช้ระยะเวลาไม่นานเหมือกับการปลูกพืชอื่น ที่ต้องใช้เวลา 4-5 ปีถึงจะออกลผล แต่ปลูกองุ่นนี้ใช้เวลา 1 ปีเดียวก็ตัดแต่งกิ่งองุ่นก็จะออกผลเลย รออีก 3 เดือนกว่าก็จะเก็บผลองุ่นไปขายได้เลย ขณะนี้ที่สวนก็ปลูกองุ่นพันธุ์บิวตี้ ซีดเลส และพันธุ์เฟลม ซีดเลส


นายสมัคร เปิดเผยอีกว่า ครั้งแรกที่เริ่มปลูกองุ่นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 ได้นำต้นกล้าองุ่นมาปลูก 14 ต้น ทำเป็นโรงเรือนไม้ไผ่มุงด้วยพลาสติดใส พอปลูกเข้าปีที่ 2 ก็สามารถเก็บผลองุ่นไปขาย ซึ่งใน 1 ปีผลองุ่นจะออกลูก 2 ครั้ง องุ่นปลูกครั้งแรกมีเพียง 14 ต้น สร้างรายได้ในปีนั้นกว่า 1 แสนบาท พยายามดูแลตัดแต่งกิ่งองุ่นให้ดี ใส่ปุ๋ยดูแลเอาใจใส่เป็นระยะๆ ใน 1 ปีออกผลองุ่น 2 ครั้งระยะแรกส่งขายให้กับมูลนิธิโครงการหลวง ส่วนองุ่นที่ตกเกรดก็มาวางขายหน้าบ้าน นักท่งอเที่ยวบางคนก็เดินทางมาซื้อ ขณะนั้นขายกิโลกรัมละ 200 บาท ก็อยากเชิญชวนให้มาปลูกองุ่นกัน ก่อนปลูกก็ไปศึกษาหาความรู้นิดหน่อยจากโครงการหลวงหรือสวนของตนเอง ซึ่งจะบอกขั้นตอนการปลูกให้ทั้งหมดโดยไม่คิดเงินแม้แต่บาทเดียว นำไปทำเพื่อเป็นอาชีพจะได้สร้างรายได้ให้ครอบครัว ซึ่งการทำองุ่นไม่ได้ทำกันทุกวัน อาจทำเช้าหรือเย็นหรือปล่อยไว้ 4-5 วัน ก็มาดูแลได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องดูแลตลอดทั้งวัน บางคนยังไม่เข้าใจไม่รู้จริงไม่รู้นิสัยขององุ่น คนจึงไม่ค่อยนิยมปลูก ซึ่งตนได้อยู่กับองุ่นก็มีความสุข นำไปขายก็ได้เงิน ส่วนผู้ที่สนใจสอบถามขั้นตอนวิธีการปลูกสามารถโทรศัพท์มาสอบถามข้อมูลได้ที่หมายเลข 083-3189920

(คลิป)เชียงใหม่ โครงการหลวงเตรียมรับมือภัยแล้ง ช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย

โครงการหลวงเตรียมรับมือภัยแล้ง ช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย

จากความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่ของโครงการหลวง ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ชุมชนขาดน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และทำการเกษตร รวมทั้งทำให้เกิดไฟไหม้ในพื้นที่มากขึ้น เนื่องจากความชื้นลดลง จากการสำรวจในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 พบว่ามีเกษตรกร จำนวน 176 ชุมชน ในเขต 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา และตาก ได้ลงทะเบียนเพื่อขอความช่วยเหลือแล้วจำนวน 2,390 ราย ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน หนึ่งในพื้นที่โครงการหลวง ที่ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี ทำให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอและคนเมือง จำนวนกว่า 160 ราย เกิดความเดือดร้อน

นายมนูญ รักษาชล หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม กล่าวว่า ภาพรวมของภัยแล้งในปีนี้ค่อนข้างรุนแรง เริ่มมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แผนการผลิตพืชผัก เช่น คะน้า มะระหยก ที่เป็นผลผลิตหลักของศูนย์ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เกษตรกรเคยปลูกได้ตามแผน แต่ปีนี้ต้องหยุดชะงักชั่วคราว พื้นที่เก็บน้ำที่เป็นบ่อดิน และบ่อซีเมนต์ของเกษตรกร ไม่มีน้ำพอให้นำออกมาใช้ในแปลง
-นอกจากพืชผักไม่ได้ปริมาณตามแผนแล้ว คุณภาพก็มีส่วนสำคัญ เพราะการขาดน้ำ อากาศที่แล้งจัด ทำพืชผักไม่ได้คุณภาพ ส่วนการเพาะกล้าผักที่ทางศูนย์ทำไว้ในโรงเรือนก็ไม่ได้ส่งมอบให้เกษตรกร เพราะนำไปปลูกไม่ได้ เสียหายไปเป็นจำนวนมาก แหล่งน้ำธรรมชาติของที่นี่ถือเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญมาก เกษตรกรต้องอาศัยสูบน้ำจากอ่างน้ำ โดยใช้เครื่องสูบน้ำขึ้นมาใช้ในแปลงผัก อ่างเก็บน้ำหลักที่นี่มีอยู่สามแห่ง ได้แก่ อ่างแม่ลอง อ่างแม่ปุ๊ และอ่างห้วยต้ม ซึ่งเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เริ่มมีฝนตกจากพายุฤดูร้อน เกษตรกรจึงเริ่มออกไถที่เพื่อเตรียมดินปลูกพืช คาดว่าหลังเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป สถานการณ์น้ำในพื้นที่จะดีขึ้นเกษตรกรจะกลับมาทำกิจกรรมในแปลงปลูกต่อไป

นางจีรภา กิติกุล เกษตรกรบ้านมะล้อ หมู่ 2 ต.แม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน หนึ่งในเกษตรกรดีเด่นของศูนย์ เล่าว่า ตนปลูกมะเขือม่วงส่งให้กับโครงการหลวงพระบาทห้วยต้มมาห้าปีแล้ว แต่พอมาปีนี้น้ำในบ่อแห้ง ปริมาณผลผลิตน้อย ตั้งแต่ต้นปีมาจึงไม่ได้ส่งให้โครงการหลวง เหลือไว้เพื่อขายในหมู่บ้าน มีรายได้เพียงเล็กน้อย น้ำในบ่อที่เคยสูบไว้ยังพอมีอยู่บ้าง จึงได้แค่ประคองต้นไม่ให้เน่าตาย ช่วงนี้ยังคงดูแลแปลงและสวนของตัวเองเพื่อรอให้ฝนตกจะได้มีน้ำใช้ และจะได้เริ่มปลูกผักส่งให้โครงการหลวง

ในการเตรียมแผนการช่วยเหลือแก่เกษตรกร ขณะนี้โครงการหลวงจึงร่วมกับ สวพส. จัดสรรงบประมาณเร่งด่วน ทยอยช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ การขุดลอกและสร้างฝายอ่างกักเก็บน้ำในชุมชน 45 ชุมชน 23 ศูนย์ แล้วเสร็จคิดเป็นร้อยละ 64.28 จัดหาวัสดุจากแหล่งธรรมชาติมาใช้ในชุมชนเพื่อการฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำลำธาร สนับสนุนท่อส่งน้ำเข้าสู่แปลงเพาะปลูกผัก ไม้ผล ดอกไม้ และเห็ด รวมทั้งสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ระบบน้ำแบบประหยัดเพื่อผลิตผักในฤดูแล้ง ซึ่งโครงการความช่วยเหลือนี้จะดำเนินให้แล้วเสร็จภายในกรกฎาคมนี้

(คลิป)เชียงใหม่ ชาวบ้านตำบลเชิงดอยทำซุ้มปันสุข ช่วยกันทำอาหารหลากหลายเมนูแจกจ่าย

ดูความร่วมือของชาวบ้านในตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จัดทำซุ้มปันสุข แตกต่างจากตู้ปันสุขที่มีแต่อาหารแห้ง โดยซุ้มปันสุขเป็นซุ้มไม้ไผ่มุงหญ้าคา มีทั้งอาหารแห้ง มีการปรุงอาหารสดๆ และมีซุ้มสำหรับทำส้มตำ สามารถปรุงรสชาดด้วยตนเอง โดยชาวบ้านนำวัตถุดิบจากที่ตนมีมาช่วยกัน และจะทำแบบนี้จนกว่าวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายลง

พากันมาดูความน่ารักและความร่วมมือไม่เห็นแก่ตัวของชาวบ้านในตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยยายผ่องซึ่งมีที่ดินติดกับหนองบัวพระเจ้าหลวง ใกล้กับเทศบาลตำบลเชิงดอย ซึ่งได้ปรับพื้นที่จัดทำเป็นสวนเด็กยายผ่อง ควักเงินของคนเองซื้อเครื่องเล่นหลากหลาชนิดให้กับเด็กๆ ได้เข้ามาเล่นสนุกสนานและออกกำลังกาย แต่เมื่อเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิส-19 สวนเด็กของยายผ่องก็ต้องปิดเพื่อให้ความร่วมมือกับทางราชการ ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส


ล่าสุดสวนเด็กเล่นยายผ่องได้มาคึกคักอีกครั้ง เมื่อการแพรระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มที่จะเบาบางลง แต่ประชาชนที่ไม่มีงานทำ ตกงานหรือว่างงาน ก็ไม่มีเงินที่จะไปซื้ออาหารมารับประทาน ผู้ที่ใจบุญมีจิตศรัทธาก็ได้ร่วมกันทำตู้ปันสุข ตู้บริจาคสิ่งของข้าวสารอาหารแห้งต่างๆ มีประชาชนมารับเพื่อนำไปบริโภคทำกันทั่วประเทศ แต่ที่สวนเด็กเล่นยายผ่อง ไม่ได้ทำเป็นตู้ปันสุขเหมือนที่อื่น กับเป็นซุ้มไม้ไผ่มุงด้วยหญ้าคา เหมือนกับซุ้มขายอาหารพื้นเมือง มีผู้ใจบุญนำอาหารเครื่องดื่มมาให้บริจาคให้กับผู้ที่ต้องการ นอกเหนือจากนั้นบางวันก็จะมีซุ้มส้มตำ ผู้ที่ชื่อนชอบส้มตำก็สามารถมาตำไปรับประทานได้เอง ชอบรสชาดไหนก็ปรุงกันเอาเอง ส่วนแม่บ้านบางคนก็นำเส้นหมี่เหลืองมาผัดสด เรียกว่าหมี่ซั่ว ผัดปรุงว่า หมี่ซั่ว เมื่อปรุงเสร็จก็ช่วยกันจัดใส่ถุง หากใครหิวก็หยิบนำกลับไปรับประทานที่บ้านได้

สำหรับซุ้มปันสุขแห่งนี้ เป็นการรวมตัวของชาวบ้านที่มีน้ำใจในตำบลเชิงดอย มีเหลือเพียงพอก็นำมาแบ่งปันให้กับเพื่อนชาวบ้านด้วยกัน บางคนก็นำเสื้อผ้ามือสองที่ทำควาสะอาดแล้ว ก็นำมาวางให้ผู้ที่ต้องการเสื้อผ้าได้เลือกนำไปสวมใส่ อาจสวมใส่เพื่อไปทำสวนไร่นาก็ได้ ซึ่งซุ้มปันสุขแห่งนี้ชาวบ้านยืนยันว่า จะช่วยกันนำอาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งที่สามารถหามาได้ นำมาวางในซุ้มเพื่อให้ผู้ที่ประสบปัญหาในช่วงเวลานี้ ได้มีการอิ่มท้อง เพื่อร่วมกันผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกัน