เชียงใหม่ ชาวบ้านร้องสื่อฯ เกิดน้ำท่วมขังกบที่เลี้ยงไว้ขายกว่าพันตัวหนีออกจากบ่อ วอนผู้เกี่ยวข้องช่วยเหลือ

ชาวบ้านร้องสื่อฯ หลังผู้รับเหมาซ่อมแซมคลองชลประทานปิดกั้นลำน้ำ เมื่อเกิดฝนตกหนักน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้าน จนกบที่เลี้ยงไว้ขายกว่า 1 พันตัว หนีจากบ่อเลี้ยงลอยไปตามกระแสน้ำ ฝากไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาช่วยเหลือค่าเสียหาย ด้าน ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงฯ จัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจความเสียหายช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว

ชาวบ้านกิ่วแล หมู่ 11 ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับความเสียหายหลังเกิดเหตุฝนตกหนักในช่วงกลางดึกคืนวันที่ 18 กรกฏาคม 2563 ที่ผ่านมาจนทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่บ้านของตนเอง สัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงไว้เพื่อจำหน่ายถูกน้ำท่วมจนหลุดจากบ่อเลี้ยง ซึ่งสาเหตุเกิดการผู้รับเหมาของกรมชลประทาน ทำการซ่อมแซมคลองส่งน้ำชลประทานบ้านกิ่วแล ทำการปิดกั้นเส้นทางน้ำ เมื่อเกิดฝนตกหนักน้ำไม่สามารถระบายได้ทันจึงเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง 3 หลังและสวนไร่นา ได้รับความเสียหาย เบื้องต้นเทศบาลตำบลเชิงดอยได้จัดเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยเข้าช่วยเหลือชาวบ้านจนสู่สภาวะที่ปกติ


ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้รับการประสานจากนางศรีวิไล ฤทัยกริ่ม ซึ่งเป็นบ้าน 1 ใน 3 หลังที่ได้รับความเสียหาย แจ้งว่าหลังเกิดเหตุน้ำท่วมเมื่อน้ำลดลง ตนเองก็ได้ไปตรวจดูกบที่เลี้ยงไว้ในบ่อเลี้ยงหลังบ้านจำนวน 3 บ่อ ซึ่งมีกบที่เลี้ยงไว้ในบ่อทั้งหมดเกือบ 1 พันตัวพบว่า ในบ่อเลี้ยงเหลือกบไม่ถึง50 ตัว ที่เหลือถูกน้ำท่วมบ่อ กบก็ได้หนีออกไปจากบ่อเกือบทั้งหมด โดยกบที่เลี้ยงไว้นั้นมีขนาด 3-4 ตัวหนัก 1 กิโลกรัม ราคาขายตามท้องตลาดตกกิโลกรัมละประมาณ 100 บาท เมื่อกบหายออกไปจากบ่อเลี้ยงสาเหตุมาจากการก่อสร้างของกรมชลประทานจนทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้น ก็อยากจะเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่กบเลี้ยงที่หายไปตามน้ำ ห้องส้วมก็ถูกน้ำท่วมจนต้องว่าจ้างรถดูดส้วมเข้ามาดำเนินการก็ต้องเสียใช้จ่ายเองด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดีผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงฯ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างซ่อมแซมเส้นทางชลประทานที่บ้านกิ่วลมแล้ว ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชลประทานเข้าไปสำรวจความเสียหายของชาวบ้านแล้ว เพื่อจะได้ทำการช่วยเหลือกันต่อไป

เชียงใหม่ ชวนเที่ยวสักการะพระเจ้าทันใจและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดสันมะเกี๋ยง

เชิญชวนสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดสันมะเกี๋ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดเล็กๆ ติดชายขอบอำเภอดอยสะเก็ดและอำเภอสันกำแพง กราบไหว้ขอพรพระเจ้าทันใจ 2 ปี และขอพรจากองค์ท้าวเทพสุวรรณหน้าเทพ องค์ท้าวเทพสุวรรณเหยีบยราหู และหลวงปู่สรวง เทวดาเดินดิน

พระครูปลัดทวีวัฒน์ อินฺทวณฺโณ ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดสันมะเกี๋ยง และในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวง เจริญพรว่า วัดสันมะเกี๋ยง ตำบลสำราษราษฏร์ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2538 จนถึงปัจจุบันมีอายุครบ 25 ปี แต่เดิมหมู่บ้านสันมะเกี๋ยงไม่มีวัดในหมู่บ้าน เมื่อมีงานบุญชาวบ้านสันมะเกี๋ยงก็จะไปทำบุญในวัดต่างหมู่บ้าน การเดินทางก็ลำบาก ชาวบ้านจึงอยากจะมีวัดในหมู่บ้านจะได้ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศานา วัดสันมะเกี๋ยงก่อตั้งขึ้นจากชาวบ้านร่วมใจกัน ระยะแรกวัดสันมะเกี๋ยงเป็นเพียงสำนักสงฆ์ จากนั้นมาชาวบ้านได้ร่วมกันทอดผ้าป่า ทอดกระทิน เพื่อซื้อที่ดินจำนวน 2 ไร่ สร้างเป็นสำนักสงฆ์ ซื่อว่าสำนักสงฆ์สันมะเกี๋ยง ต่อมาก็มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ จนมาถึงปี พ.ศ.2552 อาตมาภาพได้มาจำพรรษาที่วัดสันมะเกี๋ยงแห่งนี้ ก็จึงได้เริ่มพัฒนาสร้างเสนาสนะ บูรณะปรับปรุง สร้างเจดีย์ วัดสันมะเกี๋ยงใหม่เจริญรุ่งเรือง


วัดสันมะเกี๋ยงสมัยก่อนเป็นวัดร้าง ไม่ใช่ที่ตั้งวัดปัจจุบันนี้ วัดเดิมจะเป็นพื้นที่ถัดไปจากวัดแห่งนี้ 1 แปลง แต่ก็ไม่สามารถจะไปเอาวัดร้างคืนมาได้เพราะออกโฉนดโดยเอกชนทับพื้นที่ไปแล้ว ไม่สามารถจะไปยื่นฟ้องหรือเรียกร้องกลับคืนมาได้ จะเรียกร้องคืนก็ต้องใช้เวลา ชาวบ้านจึงได้ตัดสินใจที่จะซื้อที่ดินข้างเคียงก็คือวัดสันมะเกี๋ยงในปัจจุบันนี้ วัดสันมเกี๋ยงสร้างขึ้นมาแล้ว 25 ปี แต่ก่อนไม่เคยมีใครรู้จักวัดสันมะเกี๋ยง วัดสันมะเกี๋ยงเป็นวัดในชุมชนเล็กๆ เป็นวัดชายขอบติดกับอำเภอดอยสะเก็ดและอำเภอสันกำแพง ชาวบ้านมีอาชีพทำไร่ทำนา ไม่มีฐานะมากนัก แต่เมื่ออาตมาภาพได้เขามาพัฒนา เข้ามาอยู่วัดแห่งนี้ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักของศรัทธาชาวบ้านศรัทธาประชาชนทั่วทุกสารทิศเริ่มมารู้จัก เริ่มมาทำนุบำรุงสร้างวัดสันมะเกี๋ยงแห่งนี้ขึ้นมา


สำหรับเสนาสนะ ที่สำคัญของวัดสันมะเกี๋ยงที่เป็นจุดเด่นก็จะเห็นเป็น “พระเจ้าทันใจ” ที่ใช้เวลาสร้าง 2 ปี พระเจ้าทันใจตามหลักจะใช้เวลาสร้างไม่เกิน 24 ชั่วโมง ที่เรียกว่าสร้าง 2 ปี ไม่ใช่สร้างระยะเวลานาน 2 ปี แต่เป็นการสร้างขึ้นวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และเสร็จวันที่ 1 มกราคม 2561 เวลา 01.00 น. จึงเรียกกันว่า “พระเจ้าทันใจ 2 ปี” เป็นที่สักการะของชาวบ้าน มาขอพร ทำบุญ ที่วัดสันมะเก๋ยงแห่งนี้

นอกจากนั้นยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดสันมะเกี๋ยงที่สำคัญอีกไม่ว่าจะเป็น “องค์ท้าวเทพสุวรรณหน้าเทพ” หรือองค์ท้าวเทพสุวรรณหน้าพรหม ปางประทานพร ซึ่งเกิดนิมิตเกิดอัศจรรย์หลายๆ อย่าง บรรดาญาตโยมได้รู้เห็นด้วยตนเอง จึงมีการสร้างถวายเป็นพุทธบูชา พุทรานุสสติ หรือท้าวเทพสุวรรณปางเหยียบราหู สามารถแก้ดวง แก้สิ่งไม่ดีตามคติความเชื่อ และจะมีหลวงปู่สรวง เทวดาเดินดิน ที่สามารถมาขอพร ก็จะพระทานพรตามความเชื่อของพระพุทธศาสนา มีพญานาคราชที่ญาติโยมมาสร้างถวาย ตามหลักความเชื่อที่ได้ประสบพบเจอมาต่างๆ นาๆ ทั้งหมดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คร่าวๆ ที่มีอยู่ในวัดสันมะเกี๋ยงแห่งนี้ จึงอยากฝากเชิญชวนศรัทธาญาติโยมเดินทางมาเที่ยวและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดสันมะเกี๋ยงได้ทุกๆ วัน

เชียงใหม่ วันหยุดนักท่องเที่ยวคนไทย ขึ้นดอย ไปนั่งจิบกาแฟ ร้านกาแฟบนต้นไม้

วันหยุดนักท่องเที่ยวคนไทย ขึ้นดอย ไปนั่งจิบกาแฟ ร้านกาแฟบนต้นไม้ บ้านแม่ป๊อก ในอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ชมภูเขาเขียวขจี เดินไต่สะพานแขวน สุดประทับใจ บางคนไม่กล้าพอต้องเดินทางบันได ขณะที่หมู่บ้านแม่กำปอง หมู่บ้านโฮมสเตย์ ในหุบเขา เส้นทางเดียวกัน ก็คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว

ช่วงวันหยุดนักท่องเที่ยวคนไทย ที่มาจากต่างจังหวัด พากันขับรถยนต์ส่วนตัว ขึ้นไปท่องเที่ยวพักผ่อน และชมธรรมชาติ ที่บ้านแม่ป๊อก ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ จุดหมายเป็นร้านกาแฟ ชื่อร้านไจแอนท์ ที่แตกต่างจากร้านทั่วไป สร้างบนต้นไม้ใหญ่ เพื่อไปนั่งจิบกาแฟ หรือรับประทานอาหาร ชมธรรมชาติ ของภูเขาเขียวขจี ที่สวยงาม ในช่วงฤดูฝน และที่ไม่พลาด ต้องพากันเซลฟี่ ร้านกาแฟ ที่ตั้งอยู่บนต้นไม้ใหญ่ และหากจะดื่มกาแฟ ต้องเดินข้ามสะพานแขวน ที่สุดตื่นเต้น แต่เดินข้ามได้ ครั้งละไม่เกิน 2 คน แต่บางคนไม่กล้าพอ ขอเดินทางบันไดแทน ทำให้ช่วงวันหยุดคึกคัก เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว จากต่างจังหวัด ที่ทยอยมาจิบกาแฟ แต่เส้นทางขึ้นลง อาจจะคดเคี้ยว และลาดชันมาก หากไม่ชำนาญ นักท่องเที่ยวก็ใช้บริการ รถของพี่น้องชาวบ้าน ในท้องถิ่น คิดค่าบริการ คนละ 50 บาท ทั้งไปและกลับ โดยให้เวลาดื่มกาแฟ 1 ชั่วโมง ซึ่งทางร้านยังมีเจลล้างมือ ให้บริการ

นาย เกษแก้ว ศรีลาลาด นักท่องเที่ยว ที่มาจาก จังหวัดปทุมธานี พร้อมกับเพื่อนๆ บอกว่ามาร้านกาแฟเดอะไจแอนท์ บนต้นไม้ประทับใจมาก ที่มีบรรยากาศสวยงาม และอยากเชิญชวน นักท่องเที่ยวคนไทยมาสัมผัส แต่เส้นทางอาจลาดชันและคดเคี้ยว ใช้บริการรถของชาวบ้าน จะปลอดภัยกว่า

ขณะที่เส้นทางเดียวกัน แต่จะมีทางแยก ไปอีกเส้นทาง ห่างกันประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านแม่กำปอง เมืองในหุบเขา อากาศแสนบริสุทธิ์ ธรรมชาติที่งดงาม เป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ และเมืองแห่งกาแฟ ช่วงวันหยุด ก็มีนักท่องเที่ยว พากันไปพักผ่อน และถ่ายภาพ กับร้านค้า หรือร้านกาแฟ ที่มีมากมาย ทั้งอยู่ในหุบเขา บนยอดเขา นักท่องเที่ยวคึกคักไม่แพ้กัน บางรายนอนพักค้างแรม ทำให้ชาวบ้าน ในท้องถิ่นมีรายได้ และในช่วงหยุดยาวหลายวัน ปลายเดือนนี้ เชิญชวนนักท่องเที่ยว จากต่างจังหวัด ไปสัมผัสธรรมชาติได้ที่หมู่บ้านแม่กำปอง และบ้านแม่ป๊อก อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

เชียงใหม่ ชาวบ้านร่วมทำบุญบุคคลตัวอย่างสละที่ดินและทรัพย์สินเงินทองกว่า 40 ล้านบาทสร้างสถานปฎิบัติธรรมนานาชาติ

ชาวบ้านร่วมทำบุญ ให้กับแม่ครูบัวชุม กันทะปา บุคคลตัวอย่าง ที่สละที่ดินและทรัพย์สินเงินทอง กว่า 40 ล้านบาท สร้างสถานปฎิบัติธรรมนานาชาติ ที่บ้านศรีวังธาร อำเภอสันทราย เชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์รวมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโลก

ครอบครัว กันทะปา ลูกหลาน และประชาชน ร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้กับแม่ครูบัวชุม กันทะปา ที่ล่วงลับไปแล้ว ผู้ก่อตั้งสถานปฎิบัติธรรมนานาชาติ บ้านศรีวังธาร ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ แห่งนี้ โดยแม่ครูบัวชุม ได้สละที่ดินกว่า 10 ไร่ พร้อมทรัพย์สินเงินทอง ในการสร้างอาคาร สถานปฎิบัติธรรมนานาชาติ เพื่อเป็นการสืบทอด และเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งแต่ละปี มีทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ ตลอดถึงเยาวชน มานั่งสมาธิปฎิบัติธรรม เจริญสมาธิ กลายเป็นศูนย์รวม ของชาวพุทธไปทั่วโลก และเพื่อเป็นการรำลึก ถึงคุณงามความดี ของแม่ครูบัวชุม ทางลูกหลานญาติพี่น้อง ตลอดจนชาวบ้าน ในพื้นที่ ได้มาร่วมทำบุญ อุทิศส่วนกุศล ไปให้กับแม่ครูบัวชุม ในโอกาสครบรอบการเสียชีวิต 10 ปี ในเสียสละเพื่อส่วนรวม โดย นิมนต์ พระเถระ 7 รูป สวดมาติกา ถวายบังสุกุล สวดเจริญพุทธมนต์ ระลึกถึงคุณงามความดีของแม่ครู ซึ่งมีการสร้างกู่เก็บอัฐิ เก็บไว้ที่สถานปฎิบัติธรรมแห่งนี้ เพื่อให้คนรุ่นหลัง ได้ทราบประวัติความเป็นมา

เชียงใหม่ ชาวบ้านสันมะเกี๋ยงได้เฮ รัฐจัดงบฯ3.3ล้านสร้างประปาระบบ ป๊อกแทงค์

ชาวบ้านสันมะเกี๋ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ได้เฮ รัฐบาลจัดงบประมาณ 3.3 ล้านบาท ดำเนินโครงการจัดหาระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) หรือแบบ ป๊อกแทงค์ ชาวบ้านกว่า 120 หลังคาเรือนจะได้มีน้ำอุปโภค-บริโภคที่สะอาด


นายจิรชาติ ซื่อตระกูล นายอำเภอดอยสะเก็ด เดินทางมายังวัดสัมมะเกี๋ยง ตำบลสำราษราษฏร์ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบการดำเนินโครงการจัดหาระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) บ้านสันมะเกี๋ยง ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ. ศ. 2563 งบกลาง (งวดที่ 1)รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นในอำนาจของนายกรัฐมนตรี ผ่านรองนายกรัฐมนตรีนายอนุทิน ชาญวีรกูล คืบหน้ากว่าร้อยละ 70 ยืนยันเสร็จทันตามกรอบระยะเวลาอย่างแน่นอน ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการบนพื้นที่ของวัดสันมะเกี๋ยง โดยได้รับความเห็นชอบจากประชาชนและคณะทำงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มหาเถรสมาคมทำหนังสือยืนยันการอนุญาตให้ใช้พื้นที่วัดในการติดตั้งระบบผลิตน้ำประปา ซึ่งมีชาวบ้านสัมมะเกี๋ยงเดินทางมาดูการดำเนินงาน และรับมอบถุงยังชีพกับพระครูปลัดทวีวัฒน์ อินฺทวณฺโณ ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดสันมะเกี๋ยง และในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวง


ด้านนายเกษม ปารมีศิลป์ขจร นายกเทศมนตรีตำบลสำราษราษฏร์ เปิดเผยว่า สิ่งที่เทศบาลตำบลสำราษราษฏร์ และพี่น้องชาวบ้านสันมะเกี๋ยงได้รับการอนุเคราะห์ในครั้งนี้ ถือว่าทางรัฐบาลโดยเฉพาะท่านอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นปรากฏการณ์ในการเข้าถึงประชาชนในการดูและเรื่องสุขภาพอนามัยของพี่น้องชาวบ้าน เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านบริโภคน้ำสนิม ในหมู่บ้านชนบทประปาหมู่บ้านมาไม่ถึง ประปาหมู่บ้านที่ผ่านมาใช้ตามมีตามเกิดตามสภาพ การบำรุงรักษาการทำได้ยากเพราะระบบท่ออยู่ใต้ดิน ถังเก็บน้ำรั่วซึมหรือมีเชื้อโรคเจือปนก็ไม่ทราบ ระบบป๊อกแทงค์รุ่นใหม่ของรัฐบาลก็มั่นใจในคุณภาพ หากเกิดการรั่วซึมมีปัญหาเกิดขึ้นก็สามารถสองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอันดับแรก อันดับที่สองคุณภาพก็ได้รับการยอมรับในสากลก็ถือว่าคงจะมาช่วยพี่น้องชาวบ้านสันมะเกี๋ยงและชาวตำบลสำราษราษฏร์ได้อย่างใหญ่หลวง ตนเองก็ดีใจกับพี่น้องชาวบบ้านที่ได้รับป๊อกแทงค์ของรัฐบาลในครั้งนี้ ที่จะได้อุปโภคและบริโภคน้ำสะอาด เพื่อวถีชีวิตลากหญ้าแบบเราจะได้ดีขึ้น

พระครูปลัดทวีวัฒน์ อินฺทวณฺโณ ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดสันมะเกี๋ยง และในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวง เจริญพรว่า แทงค์น้ำผลิตน้ำประปาแบบ ป๊อกแทงค์ เป็นระบบใหม่ เป็นนวัตกรรมล่าสุดของประเทศไทย ซึ่งบ้านสันมะเกี๋ยง ชาวบ้านมีปัญหาในการใช้น้ำเพราะว่าน้ำเป็นสนิมตกตะกอน ทำให้สกปรกไม่สามารถจะบริโภคได้ ได้แต่อุปโภคคือใช้อาบล้างสิ่งของไม่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ สาเหตุเพราะว่าประปาหมู่บ้านสันมะเกี๋ยงสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 โดยกรมอนามัย มีคณะกรรมการหมู่บ้านดูแล ระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา ก็ทำให้เกิดการชำรุดทรุดโทรมตามสภาพกาลเวลา ทางวัดกับผู้ใหญ่บ้านสันมะเกี๋ยงได้พูดคุยกัน เรื่องงบประมาณในส่วนของนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อน จึงได้เสนอยื่นเรื่องการทำระบบ ป๊อกแทงค์ เป็นระบบประปาที่สามารถอุปโภคและบริโภคได้ และได้รับการอนุมัติงบฯ จำนวน 3,300,000 บาท เพื่อจะมาสร้างประปาหมู่บ้านแทนของเดิม ซึ่งระบบป๊อกแทงค์ จะเป็นการกรองน้ำจากด้านล่างขึ้นแทงค์ด้านบนปล่อยน้ำดีลงไปสู่บ้านเรือนชาวบ้าน ขณะที่ระบบเก่าจะเป็นการดูดน้ำจากด้านล่างขึ้นไปกรองด้านบนแทงค์เมื่อเกิดปัญหาก็จะซ่อมแซมได้ยาก

พระครูปลัดทวีวัฒน์ เจริญพรอีกว่า ระบบป๊อกแทงค์ ที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล วัดสันมะเกี๋ยงถือได้ว่า ได้รับงบประมาณเป็นแห่งแรกของทางภาคเหนือ การก่อสร้างก็ได้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง เหลือเวลาการก่อสร้างอีกประมาณ 30 กว่าวัน ที่ชาวบ้านจะได้ใช้น้ำจากป๊อกแทงค์ น้ำประปาที่สะอาด และหลายคนก็สอบถามว่า ทำไมต้องสร้างป๊อกแทงค์ภายในวัดสันมะเกี๋ยง ซึ่งบ้านสันมะเกี๋ยงไม่มีพื้นที่สาธารณะและมีข้อจำกัดว่า ต้องสร้างใกล้กับที่ประปาหรือแหล่งน้ำดิบเดิมจะสูบน้ำขึ้นมาได้ง่าย จึงอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในวัด บางคนสอบถามมาว่า ไม่กลัวแทงค์น้ำจะมาบังทัศนียภาพภายในวัดหรือ บังก็บังแต่ความเดือดร้อนของพี่น้องชาวบ้านสำคัญกว่าความงดงาม แต่ถ้าพี่น้องชาวบ้านได้อยู่ดีกินดี ก็จะมีกำลังใจกำลังในการพัฒนาวัดกลับคืนมา

ที่ผ่านมา พระของวัดสันมะเกี๋ยง ต้องเป็นผู้ทำความสะอาดเครื่องกรองน้ำแบบเก่าทุกวัน

เชียงใหม่ อำเภอดอยสะเก็ดจัดอบรมชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติระดับตำบล

อำเภอดอยสะเก็ดจัดอบรมโครงการฝึกอบรมชุดปฏิบัติการจิตอาสาอาสาภัยพิบัติ ประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รุ่นที่ 2 นำความรู้ที่ได้รับไปช่วยเหลือสังคม

ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอดอยสะเก็ด อำเภอดอยสะเก็ด จัดโครงการฝึกอบรมชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติ ประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รุ่นที่ 2 เทศบาลตำบลตลาดใหญ่ เทศบาลตำบลแม่ฮ้อยเงิน และเทศบาลตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 13-15 กรกฏาคม 2563 มีจิตอาสาทั้ง 3 ตำบลเข้าร่วมในการฝึกอบรมจำนวนทั้งสิ้น 150 คน โดยใช้สถานที่ที่หอประชุมอำเภอดอยสะเก็ดและสนามกีฬาเทศบาลตำบลดอยสะเก็ด เป็นสถานที่ฝึกอบรมตลอดทั้ง 3 วัน


นายอุดม อินคำ นายกเทศมนตรีตำบลแม่คือ กล่าวว่า เทศบาลตำบลแม่คือได้รับเป็นเจ้าภาพในการจัดโครงการฝึกอบรมชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติ ของอำเภอดอยสะเก็ด ประกอบไปด้วยตำบลตลาดใหญ่ ,ตำบลแม่ฮ้อยเงิน และตำบลแม่คือ ถือว่าเป็นรุ่นที่ 2 ซึ่งหลังจบการอบรมก็จะได้รับมอบประกาศนียบัตรจากท่านนายอำเภอดอยสะเก็ด การอบรมเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 กรกฏาคม เป็นการอบรมทฤษฏี วันที่ 14 กรกฏาคม ก็เป็นการอบรมในภาคปฏิบัติ เกี่ยวกับการลุยดับไฟ โรยตัวลงที่สูง ส่วนในวันที่ 15 กรกฏาคม วันสุดท้ายก็จะเป็นการอบรมกู้ชีพกู้ภัย เพื่อให้อาสาสมัครจิตอาสาได้มีประสบการณ์ นำความรู้ที่ได้รับไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยตำบลแม่คือเป็นแกนหลักในการอบรม มีผู้เข้าร่วมอบรมตำบลละ 50 คน รวม 150 คน ซึ่งอาสาสมัครจิตอาสาภัยพิบัติ


นายกเทศมนตรีตำบลแม่คือกล่าวอีกว่า ผู้ฝึกอบรมฯ เมื่อจบหลักสูตรออกมา ก็จะออกมาช่วยเหลือสังคม ช่วยพัฒนาคูคลองที่เป็นการช่วยเหลือสังคม บางส่วนจิตอาสาเหล่านี้ก็จะไปร่วม สร้างบ้านให้ผู้ยากไร้ โดยเทศบาลตำบลแม่คือ ได้รับงบประมาณจะเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่ โดยการประสานงานของนายอำเภอนายสะเก็ดและรองกิ่งกาชาดอำเภอดอยสะเก็ด ได้รับงบประมาณมา 1 แสนบาท ก็ได้อาศัยความช่วยเหลือจากจิตอาสาบริการ ไปช่วยรื้อบ้านสร้างบ้าน ซึ่งในวันนี้บ้านหลังดังกล่าวสร้างเสร็จแล้ว ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งงบประมาณที่ได้รับมา 1 แสนบาทเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ แต่การสร้างก็มีผู้มาร่วมไม่ว่าจะเป็นชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลแม่คือ ภาคประชาชน เอกชน และที่สำคัญได้รับความช่วยเหลือจากทหาร ป.พัน 7 ทหารกองพันพัฒนา อำเภอแม่ริม กองกำลังผาลาด นำกำลังพลมาช่วยในการก่อสร้างและร่วมบริจาค หิน-ดิน-ทราย กระเบื้องมุงหลังคา รวมมูลค่าการสร้างบ้านทั้งสิ้นเกือบ 2 แสนบาท แต่ใช้งบการสร้างบ้านเพียง 1 แสนบาทเท่านั้น นอกจากนั้นก็ต้องขอขอบคุณกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ ได้อนุมัติเงินให้กับผู้ยากไร้ซ่อมแซมบ้านนายเสรี ช่างการ เป็นเงิน 40,000 บาท และได้รับงบประมาณซ่อมแซมบ้านหลังละ 20,000 บาท อีกจำนวน 5 หลังในตำบลแม่คือ ดังนั้นการที่ดำเนินการซ่อมสร้างทั้งหมดนี้ ก็จะอาศัยจิตอาสาที่จะทำการอบรมครั้งนี้ เข้าไปสู่ตำบลและมาช่วยกันดำเนินงานเพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพี่น้องประชาชนมีความั่นคงในชีวิต ในความเป็นอยู่ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าจิตอาสาที่มาอบรมจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างยิ่ง

ด้านจิรชาติ ซื่อตระกูล อำเภอดอยสะเก็ด เปิดเผยว่า การอบรมจิตอาสาภัยพิบัติระดับตำบลอำเภอดอยสะเก็ดนั้น เป็นการฝึกอบรมจิตอาสาพระราชทานจิตอาสาภัยบัติ ซึ่งเป็นข้อสั่งการตามแนวทางของรัฐบาล และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกันว่า การร่วมกันแก้ไขปัญหาสสาธารณภัยซึ่งมีหลายระดับ หากมีความรุนแรงนายกรัฐมนตรีก็จะเป็นผู้สังการณ์ รองลงมาก็เป็นผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ส่วนในระดับท้องที่บทบาทสำคัญก็จะมาอยู่ที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกเทศบาล เป็นผู้อำนวยการป้องกันสาธารณภัยระดับพื้นที่ นอกจากจะเตรียมอุปรณ์ งบประมาณแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือให้พี่น้องประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขป้องกันสาธารณภัยก็คือ การที่จะมีการฝึกอบรมบุคคลในระดับพื้นที่เช่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน อสม. อฟปร.หรือพนักงานของท้องถิ่น มาฝึกอบรมเทศบาลหรือ อบต.ละ 50 คน ซึ่งจริงแล้วจะมีการฝึกอบรมมาตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ติดสถานการ์โควิส-19 จึงเลื่อนการอบรมมาในวันที่ 13-15 กค.นี้


สำหรับเป้าหมายเดิมของการฝึกอบรมก็เพื่อที่จะนำผู้ผ่านการฝึกอบรมก็จะเป็นกำลังหลักที่จะไปช่วยเหลือแก้ไขเรื่องไฟป่าหมอกควัน ซึ่งในช่วงมีนาคม-เมษายน จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบนประสบปัญหาหมอกควันไฟป่า ทั้งนี้คำว่าสาธารณภัยก็ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องหมอกควันไฟป่าแต่อย่างเดียว ภัยแบ่งออกเป็นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ เช่นภัยที่ 1 ดิน ๆ โคลนถล่มหรือแผ่นดินไหว เป็นสาธารณภัยอย่างหนึ่งที่จิตอาสาภัยพิบัติต้องเข้าไปช่วยเหลือ ภัยที่ 2 คือน้ำ น้ำมากก็เกิดน้ำท่วม น้ำน้อยก็เกิดภัยแล้ง ถ้าน้ำคลำก็เป็นน้ำเสีย ภัยที่ 3 คือ ลม ๆ คือลมพายุ ภัยต่อมาไฟ คือไฟไหม้ และสุดท้ายคือภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น สาธารณภัยทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการระเบิดพลีชีพ รถแก๊สระเบิด รถไฟชนกันผู้โดยสารเสียชีวิตจำนวนมาก เฉพาะฉะนั้นก็เป็นบทบาทหน้าที่ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมโดยเฉพาะอาสาสมัครจิตอาสาภัยพิบัติ ซึ่งเป็นจิตอาสาพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการแก้ไขปัญหาสารธารณภัยทั้งหลาย ซึ่งกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ มีการแบ่งหน้าที่กันทำไม่วาจะเป็นด้านการเตรียมการ ด้านการสนับสนุน ด้านอาหาร ด้านเผชิญเหตุ และด้านการช่วยเหลือ เยียวยา หลังภัยเกิดขึ้นแล้ว เป็นเรื่องที่พวกเรามีการเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วน

เชียงใหม่ เยี่ยมศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการเทศบาลเมืองแม่เหียะ

ศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการเทศบาลเมืองแม่เหียะ ให้บริการผู้สูงอายุและผู้พิการในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองแม่เหียะและพื้นที่ใกล้เคียง ตามโครงการศูนย์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการเทศบาลเมืองแม่เหียะ ให้บริการกายภาพบำบัดฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุและผู้ป่วย เพื่อให้เข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ลดความยากลำบากในการเดินทางไปโรงพยาบาล

นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ เปิดเผยว่า ศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการเทศบาลเมืองแม่เหียะ เปิดบริการมาแล้วตั้งแต่ ปี 2559 รวมระยะเวลา 4 ปี เปิดบริการทุกวัน จันทร์- ศุกร์ ให้บริการผู้สูงอายุและผู้พิการในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองแม่เหียะและพื้นที่ใกล้เคียง ตามโครงการศูนย์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการเทศบาลเมืองแม่เหียะ ให้บริการกายภาพบำบัดฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุและผู้ป่วย เพื่อให้เข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ลดความยากลำบากในการเดินทางไปโรงพยาบาล ลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ส่งเสริมผู้ด้อยโอกาสในชุมชนได้รับการรักษาและฟื้นฟูที่ถูกต้อง เหมาะสม และทำให้กลับมาช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด ลดความพิการและลดภาวะพึ่งพิงในครอบครัว

ปัจจุบันมีผู้รับบริการเป็นผู้ป่วยทั้งในพื้นที่ตำบลแม่เหียะ และพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยเทศบาลเมืองแม่เหียะมีเจ้าหน้าที่กายภาพบำบัด และอาสาสมัคร CG เข้ามาประจำทุกวัน นอกจากนี้ยังบูรณาการการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลเชียงใหม่ใกล้หมอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านท่าข้าม นำเจ้าหน้าที่กายภาพบำบัดเข้ามาช่วยบริการทุกอาทิตย์ และออกเยี่ยมผู้ป่วยถึงบ้าน รวมถึงร่วมกับภาคเอกชนในการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อจัดตั้งกองทุนรวมใจ นำงบประมาณดำเนินการภายในศูนย์และช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วย ในเขตพื้นที่อีกด้วย


ล่าสุด ศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการเทศบาลเมืองแม่เหียะ ได้รับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากห้องอาหารแสนคำเทอร์เรส นำโดย Mr. Hagen Dirksen อดีตกงสุลกิตติมศักดิ์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันประจำจังหวัดเชียงใหม่ คุณวันเพ็ญ ศักดาทร เจ้าของห้องอาหารแสนคำเทอร์เรส นำเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็น ได้แก่ เครื่องดึงหลังพร้อมเตียงระบบไฟฟ้า จำนวน 1 เครื่อง เครื่องฝึกยืนอัตโนมัติ จำนวน 1 เครื่อง และรถเข็นผู้ป่วยจำนวน 6 ตัว เพื่อใช้ในการกายภาพบำบัดผู้สูงอายุ และผู้ป่วยในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองแม่เหียะ พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ฯ และให้กำลังใจผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ และจิตอาสา (CG) ในการปฏิบัติงาน

เชียงใหม่ กองกำลังผาเมืองจัดชุดปฏิบัติการสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองแนวชายแดน ชร.ชม.

กองกำลังผาเมืองจัดชุดปฏิบัติการสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ในพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเขตแนวชายแดน จว.เชียงใหม่ และ จว.เชียงราย

พล.ต.ถนัดพล โกศัยเสวี ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง มอบให้หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 2 และหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 4 กองกำลังผาเมือง จัดกำลังพลลาดตระเวนเพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันการลับลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง อ.เชียงดาว, อ.ฝาง จว.เชียงใหม่ และ อ.แม่สาย จว.เชียงราย

การเพิ่มมาตรการครั้งนี้กองกำลังผาเมืองได้ใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) บินลาดตระเวนในช่องทาง/ท่าข้ามธรรมชาติที่ล่อแหลม, การตรวจการด้วยระบบกล้องวงจรปิด (CCTV), การจัดกำลังลาดตระเวนเฝ้าตรวจ และการตั้งจุดตรวจ/จุดสกัดกั้น ร่วมกับ จนท.ตำรวจ, ฝ่ายปกครอง และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน พร้อมทั้งวางสิ่งกีดขวางปิดกั้นช่องทางตามธรรมชาติ บริเวณตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา เพื่อป้องกันการลักลอบเข้ามาของแรงงานต่างด้าว ในพื้นที่รับผิดชอบโดยต่อเนื่อง

ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นขบวนการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฏหมายสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยทหารในพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อร่วมกันในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิต 19 ตามแนวชายแดน

เชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะเอาจริง ควบคุมไข้เลือดออกทุกหลังคาเรือน

เทศบาลเมืองแม่เหียะ ร่วมกับชมรมกำนัน-ผญบ. รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านท่าข้าม ชมรมอสม. ร่วมปฏิบัติการกำจัดยุงลาย และควบคุมโรคไข้เลือดออกทุกหลังคาเรือน ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันไข้เลือดออก ตำบลแม่เหียะ หลังจังหวัดเชียงใหม่พบผู้ป่วยไข้เลือดออกหลายพื้นที่ และเป็นช่วงฤดูการแพร่พันธุ์ของยุงลาย โดยเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจคณะทำงาน ประชาชน และลงพื้นที่รณรงค์ปฏิบัติการเชิงรุกทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลุงลายให้ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน

นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศบาลเมืองแม่เหียะ เปิดเผยว่ารัฐบาลและจังหวัดเชียงใหม่มีความห่วงใย ในปัญหาโรคไข้เลือดออก ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย และเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกนั้น ได้กำชับให้ทุกพื้นที่ ดำเนินการ ควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือประชาชน หน่วยงานราชการ ท้องถิ่น ชุมชนทั่วประเทศ ดำเนินกิจกรรม “กำจัดลูกน้ำยุงลาย ทุกอาทิตย์” ด้วยการสำรวจแหล่งลูกน้ำยุงลาย เพื่อควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก

นางอำพร ธนากูล กำนันตำบลแม่เหียะ กล่าวว่า ทุกภาคส่วนเล็งเห็นความสำคัญต่อปัญหานี้เป็นอย่างมาก จึงได้ร่วมมือดำเนินการอบรมคณะทำงานทุกภาคส่วน เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังไข้เลือดออกในพื้นที่ รวมถึงมีการจัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ตัดหญ้า เก็บขยะ พาชนะและยางรถยนต์ที่มีน้ำขัง ฉีดพ่นสารกำจัดยุง อย่างเร่งด่วนครอบคลุมทุกหมู่บ้าน เคาะประตูทุกหลังคาเรือน สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ในหมู่บ้านโดย อสม.หมู่บ้าน อีกด้วย

นางรจนา สิมะวงศ์ ผอ.รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านท่าข้าม แนะมาตรการป้องกันการกำจัดลูกน้ำลุงลายว่าทางรพ.สต.ได้ร่วมมือกับเทศบาล ชมรมกำนัน-ผญบ. พร้อมทั้ง อสม.ตำบล ลงพื้นที่แนะมาตรการ “3 เก็บ ป้องกันไข้เลือดออก” ได้แก่ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และเก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ป้องกันโรคจากยุงลาย สำหรับประชาชนท่านใดมีไข้สูงลอย 39-40 องศา มีหน้าแดง โดยมากไม่ค่อยมีอาการน้ำมูกไหลหรือไอ เด็กโตอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว และปวดศีรษะ หรือมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน โดยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ มีจุดเลือดออกตามตัว อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบมาพบแพทย์โดยด่วน

นางอัจฉราวรรณ จันทร์เจนจบ ประธาน อสม.ตำบลแม่เหียะ กล่าวเพิ่มเติม ทางชมรม อสม.ตำบลแม่เหียะ ทุกหมู่บ้าน ไม่ได้นิ่งนอนใจ ด้วยหน้าที่ แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ให้ประชาชน ดำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดี แม้เราเป็นชาวบ้าน เราก็สามารถดูแลสุขภาพด้วยตนเองได้ ตามคำขวัญของอสม. ดังนั้น อสม. กว่า 150 คน ใน ต.แม่เหียะ จึงร่วมแรงร่วมใจควบคุมโรคไข้เลือดออกโดยคาดหวังว่า จะไม่พบผู้ป่วยใน ต.แม่เหียะ หรือถ้าพบให้พบน้อยที่สุด จากสถิติเมื่อเทียบกับปี ก่อนๆ ปีนี้เราดำเนินการอย่างจริงจัง หากทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ป้องกัน รวมถึงประชาชนทุกหลังคาเรือน หันมาดูแลตนเองและบ้านเรือน เชื่อแน่ว่า เราจะควบคุมไข้เลือดออกใน ตำบลแม่เหียะ ได้อย่างแน่นอน

ขอบคุณ งานบริการและเผยแพร่วิชาการ เทศบาลเมืองแม่เหียะ

เชียงใหม่ เปิดศูนย์การเรียนตามรอยพ่อแห่งแรกในเขต อ.เมืองเชียงใหม่

เปิดศูนย์การเรียนตามรอยพ่อแห่งแรกในเขต อ.เมืองเชียงใหม่ ดำเนินการโครงการฟาร์มตัวอย่างโคกหนองนาโมเดล ได้ออกมาดำเนินการช่วยเหลือประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจาก โควิด-19จะดำเนินการ พร้อมสร้างแลนด์มาร์คท่าเรือล่องเรือชม 2 ฝั่งริมแม่น้ำปิง จากใต้ขึ้นไปทางเหนือของเมืองเชียงใหม่

นายสราวุฒิ วรพงษ์ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ พร้อมนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.เขื่อนแม่กวงตัวแทนสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ เทศบาลตำบลป่าแดด ทหารมทบ. 33 ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ จิตอาสา นายวีระชัย ไชยมงคล กำนันตำบลป่าแดด ผู้ใหญ่บ้านตำยบลป่าแดด อสม. และนักเรียน นายสุทธิศักดิ์ วิลาสเดชานันท์ อาชีพสถาปนิก เจ้าของที่ดินจำนวน 4 ไร่เศษ หมู่ 12 ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ติดแม่น้ำปิง เปิดศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฏีใหม่ (ตามรอยเท้าพ่อ) บริบทชุมชนเมือง ดำเนินการโครงการฟาร์มตัวอย่างโคกหนองนาโมเดล ได้ออกมาดำเนินการช่วยเหลือประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจาก โควิด-19จะดำเนินการ ซึ่งเป็นแห่งแรกในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ จะได้เป็นศูนย์การเรียนของนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้เข้านำความรู้ในด้านต่างๆ ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ลดภาระค่าใช้จ่าย ใช้พื้นที่บ้านของตนให้เกิดประโยชน์สามารถทำการเกษตรแบบเรียบง่าย โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จะได้มีสร้างงนสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน ซึ่งจะมีหน่วยงานต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่เข้ามาร่วมกันถ่ายทอดควมรู้ ซึ่งชลประทานที่ 1 เชียงใหม่เตรียมประสานศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริเข้ามาให้ความรู้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้การประชุมยังมองเห็นความเป็นไปได้ของการสร้างท่าเรือชมวิถีชีวิต 2 ฝั่งแม่น้ำปิง ซึ่งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกจุดของเมืองเชียงใหม่ จะล่องเรือจากทางทิศใต้ขึ้นไปยังทางทิศเหนือผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการท่องเที่ยวของตำบลป่าแดด ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสการล่องเรือชมเมืองชมสองฝั่งแม่น้ำปิง ซึ่งปกติจะนั่งเรือจากทางทิศเหนือ ลงมาถึงบริเวณหน้าวัดชัยมงคลแล้วกลับ แต่จากนี้จะจากตำบลป่าแดดย้อนขึ้นไป เป็นอีกหนึ่งการท่องเที่ยวใหม่ที่กำลังจะดำเนินการร่วมกันของเทศบาลตำบลป่าแดด กำนันผู้ใหญ่บ้านและชุมชนตำบลป่าแดด